ศีลข้อที่ 3: การผิดประเวณีกับลูกหลานที่บิดามารดาไม่ยินยอม
ศีลข้อที่สาม ผู้เขียนเข้าใจว่า คือ การห้ามผิดประเวณีกับผู้อื่นที่มิใช่สามี-ภรรยาของตน รวมถึงลูกหลานของคนอื่นโดยที่บิดา มารดาของเขาไม่ยินยอม/รับรู้ ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า เช่นนั้นการอยู่กินกันก่อนแต่งงานของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยที่ในบางกรณีบิดามารดาของหนุ่มสาวนั้นก็มิได้ยินยอม หรือ รับรู้ ก็ถือเป็นการผิดศีลข้อที่สามด้วยหรือไม่ อย่างไร
เพราะโดยพื้นฐาน ผู้เขียนเชื่อว่า การที่บุคคลมีใจพิสวาทต่อผู้ที่มิใช่สามี-ภรรยาของตนนั้น แม้ขั้นคิดก็เป็นอกุศลแล้ว แต่ในกรณีที่บุคคลมีใจพิสวาทต่อคู่ของตนจนอาจถึงขั้นการร่วมประเวณี โดยที่ิบิดามารดาไม่ยินยอมนั้น เช่นนี้จะถือว่าผิด/เป็นอกุศลได้ด้วยเหตุใด? ในเมื่อแม้ตัวบิดา-มารดาเองก็มิอาจถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่างกายของบุตรอย่างแท้จริง แต่ที่ยังเศร้าหมองก็เนื่องด้วยยังมี "ความเป็นตัวตน" มากนั่นเอง
ทั้งนี้การตอบคำถามดังกล่าวอาจทำได้โดยยึดเรื่อง 'จิตใจ-ความรู้สึก' เป็นพื้นฐาน โดยไม่สำคัญว่าจะเป็นเราหรือใครเช่นนี้จะถูกต้องไหม?
เช่น หากหนุ่มสาวนั้นรู้ว่า บิดามารดาของตนไม่ยอมรับค่านิยมการ "อยู่ก่อนแต่ง" เมื่อได้ล่วงรู้ว่า หนุ่ม/สาวนั้นละเลยที่จะประพฤติตามที่บิดามารดาของตนต้องการ จนอาจเป็นเหตุให้บิดามารดาเสียใจ ก็เท่ากับว่าหนุ่มสาวนั้นล่วงอกุศลกรรมแล้วด้วย คือ อกุศลกรรมของตนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเกิดความทุกข์ร้อน ก็เท่ากับบาปแล้วใช่หรือไม่
ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละบุคคลมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมจริงๆ และเป็นชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสอะไรๆ ได้ กิเลสก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ติดข้องบ้าง โกรธบ้าง ตระหนี่บ้าง ริษยาบ้าง เป็นต้น ซึ่งหลากหลายมาก แต่ถ้ามีการล่วงละเมิดประพฤติเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ แล้ว นั่นแสดงถึงกิเลสที่มีกำลังมาก สำหรับการล่วงศีลข้อการประพฤติผิดในกามนั้น มีโอกาสผิดได้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ถ้าเป็นผู้ประมาท หญิงที่มีสามีอยู่แล้ว ไปอยู่ร่วมกับชายอื่น (เสพเมถุน) ผิดศีลข้อนี้ แต่ถ้าเป็นหญิงที่ไม่มีสามี แม้จะอยู่ร่วมกับชายอื่น ตนเองก็ไม่ผิดศีลเพราะเป็นเจ้าของผัสสะ ยังไม่มีใครมาเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นเหตุให้ฝ่ายชายผิดศีลข้อนี้ สำหรับฝ่ายชายแล้ว จะมีภรรยาอยู่แล้วหรือไม่มีภรรยาก็ตาม ถ้าไปล่วงในหญิงที่ไม่ควรล่วงละเมิดก็ผิดศีลข้อนี้เป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ สามารถนำเกิดในอบายภูมิได้เลย จึงไม่ควรเห็นแก่ความสุขเพียงชั่วคราว แต่จะเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์อย่างใหญ่หลวงในอบาย ซึ่งไม่คุ้มอย่างแน่นอน
ความติดข้องต้องการมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังขึ้น ก็สามารถล่วงศีลข้อต่างๆ ได้ เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ที่ดีที่สุดแล้ว คือ เป็นคนดี ฟังพระธรรมให้เข้าใจ น้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเท่านั้น ควรที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง คือ อกุศลกรรม ครับ
จากประเด็นคำถามในความคิดเห็นที่ ๓ นั้น น่าพิจารณาว่า แม้จะไม่ใช่เป็นการผิดศีล แต่ก็เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล อกุศลไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่บริุสุทธิ์ทั้งนั้น ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ศีลข้อ ๓ คือ การประพฤติผิดในกาม มีส่วนที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ชายจะผิดศีลข้อนี้ ก็ต่อเมื่ออยู่ร่วมกับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาของตน ส่วนฝ่ายหญิงจะผิดศีลข้อนี้ ก็ต่อเมื่อตนเองมีสามีแล้ว แต่นอกใจไปอยู่ร่วมกับชายอื่น (ในกรณีหลังนี้ ผิดทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย) การล่วงศีล ไม่ว่าจะเป็นข้อใด มีโทษทั้งนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่ควรที่จะประพฤติ ที่ดีที่สุด คือไม่ล่วงศีล ไม่ประพฤติทุจริตกรรม พึงหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง แม้แต่การประพฤติผิดในกาม ก็เช่นเดียวกัน เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง ดังข้อความตอนหนึ่งใน ชนสันธชาดก ที่พระโพธิสัตว์ได้แสดงไว้ ว่า
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ ๑๕๙
ผู้ใด คบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อน ในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหน มีอยู่เป็นอันมาก ไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย.
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....
การผิดศีลก็คือ การเกิดขึ้นของสภาพธรรมเท่านั้นที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น การผิดศีล ไม่ว่าข้อใด ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นจิตที่เป็นอกุศลจิต ประกอบด้วยเจตสิกที่ไม่ดี แต่ การผิดศีล แสดงถึงกำลังของกิเลสที่มีมาก เป็นอกุศลที่มีกำลัง ย่อมทำให้นำเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น
จาก ...