ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากรของมูลนิธิฯ อาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ ได้รับเชิญจากทันตแพทย์หญิง วิภากร พงศ์วรานนท์ เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพัก ในซอยหมู่บ้านสายลม ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๕.๐๐ น.
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ที่ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางมาร่วมฟังการสนทนาธรรมที่บ้านของคุณหมอที่ถนนแจ้งวัฒนะแห่งนี้ ซึ่งได้บันทึกเป็นกระทู้ไว้แล้ว และได้กล่าวถึงความเป็นมาของการที่คุณหมอได้มาพบกับพระธรรมคำสอนที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายไว้เล็กน้อย ท่านที่สนใจสามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ครับ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙
และเช่นเคยกับทุกครั้งที่จะขออนุญาตนำความบางตอนของการสนทนาธรรมในครั้งนี้มาบันทึกไว้ เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ของการเดินทางมาสนทนาธรรมที่บ้านคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์ แห่งนี้ เป็นข้อความที่คุณกฤษณา สิทธิรักษ์ กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์และวิทยากร เรื่อง ขันติ-ความอดทน ซึ่งมีข้อความที่น่าพิจารณาดังต่อไปนี้ครับ
คุณกฤษณา กราบท่านอาจารย์ที่เคารพและท่านผู้ร่วมสนทนาธรรมทุกท่านนะคะ ดิฉันใคร่ขอสนทนาถึงสิ่งที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวย้ำเตือนบ่อยๆ เรื่องการพูดคำที่ไม่รู้จัก เพราะพูดกันหลายคำเหลือเกินที่ไม่รู้จักจริงๆ ซึ่งเมื่อฟังหลายๆ ครั้งแล้วก็พอจับความได้ว่า ท่านอาจารย์คงหมายถึงที่จะรู้จักคงต้องรู้จักถึงความเป็นธรรมะของสภาพธรรมที่มีชื่อนั้นๆ แต่เท่าที่ผ่านมาตลอดยังไม่รู้จักสภาพธรรมจริงๆ ของชื่อนั้น อย่างเช่น ขอสนทนาธรรมสักคำหนึ่ง "ขันติ" ก็พูดกันมานาน อาจจะบอกว่า คนนั้นดูเขามีขันติ โดยที่เอาสภาพรวมๆ กันของอากัปกิริยาภายนอกที่เขาดูสงบนิ่งไม่ตอบโต้เมื่อเขาโดนใครกล่าวผรุสวาทเขา ก็บอกว่าดูเขามีขันติ โดยดูจากอากัปกิริยาภายนอกโดยรวมๆ แต่ที่พูดว่าเขามีขันติ ก็ไม่ทราบ ไม่รู้จักความเป็นธรรมะจริงๆ ของขันติ ถ้าถามว่าขันติคืออะไร? ก็บอกว่าคือความอดทน ถามต่อว่าอดทนเป็นอย่างไร? ก็จะไปนึกถึงอโทสเจตสิก แล้วอโทสเจตสิกเป็นอย่างไร? ไม่ทราบ ไม่รู้จักค่ะ ก็กราบขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้อนุเคราะห์ให้ได้รู้จักสภาพจริงๆ ของ "ขันติ" ค่ะ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วดูเหมือนเราสนใจใน "ชื่อ" อยากเข้าใจ "ชื่อ" แต่ว่าตามความเป็นจริง สิ่งที่ถูกปิดบังไว้ก็คือ ความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ "คำ" ก็ไม่สำคัญอะไร "ชื่อ" ก็ไม่สำคัญอะไร ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมี!! เพราะฉะนั้น คำหรือชื่อ ก็เพื่อให้ "เข้าถึง" สิ่งที่มี ซึ่งเราไม่รู้และไม่เข้าใจตามความเป็นจริง จึงต้องมีชื่อต่างๆ มากมาย
ถ้าเราจะไม่คิดถึงชื่อ "ขันติ" แต่เราจะเริ่มต้นด้วยว่า "ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมะทั้งหมด" เดี๋ยวนี้เอง!! ทรงแสดงโดยประการทั้งปวง จะเป็นจิต เจตสิก มากมาย เป็นรูป เป็นปัจจัย อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็คือ "เดี๋ยวนี้" แล้วก็ถูกปิดบังนานมาแล้วด้วย พอมีชื่อ ชื่อก็ปิดบังไว้!! โดยที่ว่า เราไม่ได้รู้ "จุดประสงค์ของการฟัง" ว่า เพื่อให้เข้าใจ "ความไม่มี"
แต่ละคำ แต่ละคำ จะนำไปสู่การที่เราได้ยินได้ฟังมาทั้งหมด ถึงที่สุดก็คือ ความไม่มี!!!
เพราะเหตุว่า ไม่มีแน่ๆ !! ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก ไม่เหลือเลย คิดดู!! ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ เดี๋ยวนี้!! ในสังสารวัฏฏ์ทั้งหมด ไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่!! และทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดได้ เพราะมีธรรมะซึ่งมี ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น อย่าง "แข็ง" เดี๋ยวนี้ ใครบอกว่าไม่ให้มีแข็งสิ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครไปทำแข็งเลย ไม่มีใครไปทำ!! มีใครทำแข็งได้ไหม? สักคนหนึ่ง? แต่มี "แข็ง" เพราะฉะนั้น มีใครทำ "ธาตุรู้" ให้เกิดได้ไหม? หรือว่า ห้ามไม่ให้ธาตุรู้ซึ่งกำลังเกิดดับสืบต่อ ไม่ให้เกิดได้ไหม? ไม่มีทางเลย!!
นี่คือการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจ"คำ" ที่เราใช้คำว่า "ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง" ซึ่งไม่ใช่เรา!! เมื่อไม่ใช่เรา ก็ต้องไม่ใช่ของเราด้วย!! เพราะ "ไม่มีเรา" เพราะฉะนั้น ฟังธรรมะ ก็เพื่อที่จะเปิดเผย สิ่งที่ถูกปิดบังมานานแสนนาน แสนโกฏิกัปป์ แล้วจะอยู่ต่อไปอีกแสนโกฏิกัปป์ ไม่มีวันจบสิ้น ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ!! ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะว่า ถ้าไม่มีปัจจัย อะไรก็เกิดขึ้นไม่ได้!!
เพราะฉะนั้น เวลานี้ทุกอย่างที่มี "ขันติ" เป็นชื่อ ถ้าเราจะคิดว่าเราอยากจะเข้าใจคำว่าขันติ แต่ความจริง ขันติก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เกิดแล้วด้วย ในชีวิตประจำวัน ไม่บอกชื่อ ไม่เรียกชื่อ ก็ไม่มีใครรู้จัก แต่ทุกคนเชื่อว่ามีขันติ แม้แต่การอดทนที่จะฟังธรรมะ ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ก็รู้ว่ายากมาก ไม่ง่ายเลย ทั้งๆ ที่มีแต่ถูกปิดบังไว้ด้วยความไม่รู้มานาน อย่างนี้ อดทนไหม?
คุณกฤษณา อดทนค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะไปนึกถึงชื่อนี้ มีความหมายแค่ไหน กว้างแคบอะไรอย่างไร ก็เป็นธรรมะซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจธรรมะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ แทนที่ "อยากหรือขวนขวาย" ที่จะไปเข้าใจแต่ละคำ แต่ละชื่อ ซึ่งประโยชน์ก็คือว่า ได้แค่ "คำแปล" ได้แค่คำชี้แจงจากท่านผู้ที่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมะนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มี แต่เราไม่ต้องเรียกก็ได้!!! ใช่ไหม? แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า ต้องเรียกว่าอะไร เกิดแล้ว ดับแล้ว!!
อ.วิชัย ขอสนทนาด้วยนะครับ กราบท่านอาจารย์ครับ ถ้ากล่าวถึงขันติก็รู้ว่า พระองค์แสดงถึงการที่จะอดทนที่จะเป็นไปในการที่จะไม่เป็นอกุศล แต่ว่าโดยสภาพของขันติ พระองค์ก็ไม่ได้แสดงโดยชัดเจนว่าเป็นเจตสิกประเภทอะไร แต่ว่าถ้าจะกล่าวถึงการเป็นไปในการที่จะไม่ท้อถอยในการเจริญกุศล ก็เหมือนกับเป็นลักษณะของวิริยะ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เกิดพร้อมกับธรรมะฝ่ายดีงามอื่นๆ ดังนั้น การที่จะเข้าใจความเป็นขันติที่จะให้รู้โดยความเป็นธรรมะ จะเข้าใจในลักษณะอย่างไรครับ?
ท่านอาจารย์ คุณวิชัยเคยง่วงไหม?
อ.วิชัย ก็เคยครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แต่ว่ามีหน้าที่หรือว่ามีสิ่งที่อยากจะทำ ทำไหม?
อ.วิชัย ก็ทำครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ อดทนไหม?
อ.วิชัย ก็ต้องอดทนในการที่จะทำ
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปแสวงหาว่า เจตสิกอะไร? ใช่ไหม?
อ.วิชัย ก็ไม่ต้องแสวงหาครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ
คุณกฤษณา ท่านอาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้น อย่างที่อาจารย์วิชัยได้กล่าวถึง "วิริยะ" คือ หมายถึงว่าเป็นสภาพธรรมที่เราใช้ชื่อว่าขันติ แต่จริงๆ แล้ว ขันติเกิดมีสภาพธรรมที่ดีงามตั้งหลายอย่าง ตอนแรกที่พูดถึงอโทสะ จริงๆ ก็ไม่ใช่มีแต่อโทสะอย่างเดียว ก็ต้องมีสภาพธรรมที่ดีงามอย่างอื่นด้วย รวมทั้งวิริยะด้วย อะไรต่างๆ อีกหลายอย่างที่เป็นฝ่ายดีงาม ทีนี้ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กรุณากล่าวถึงว่า จะต้องรู้ถึงความไม่มี อย่างเช่นพูดถึง ...
ท่านอาจารย์ คือ ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าเราจะเกิดชาติไหน แม้ในชาตินี้ ฟังธรรมะกี่ครั้ง? เพื่ออะไร? ถึงที่สุดนี่ เพื่ออะไร? ไม่อย่างนั้นเราก็เปะๆ ปะๆ อยู่ ตามโน่นตามนี่ ใช่ไหม? ไม่รู้ "จุดประสงค์" ที่มั่นคง เพราะยังไม่เห็นและยังไม่ถึงและยังไม่คิดด้วย เพียงแค่จะฟังธรรมะให้เข้าใจ นี่คือ ณ บัดนี้ ใช่ไหม? จะฟังธรรมะให้เข้าใจ!! แต่คิดให้ยาวไกลออกไป (ฟังธรรมะ) เพื่ออะไร?
คุณกฤษณา เพื่อเข้าถึงสภาพธรรมนั้นๆ ค่ะ
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เพื่ออะไร?
คุณกฤษณา เข้าถึงแล้วก็คือถึงที่สุดแล้วหรือเปล่าคะ?
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพื่ออะไร?
คุณกฤษณา เพื่อความหลุดพ้นออกจากสังสารวัฏฏ์
ท่านอาจารย์ เพื่อดับกิเลส!! ธรรมดา เพื่อดับกิเลส เห็นกิเลสวันนี้ไหม?
คุณกฤษณา ยังไม่เห็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ตัวที่จะดับก็ยังไม่เห็นเลย แต่จะดับ แล้วจะไปดับได้อย่างไร? ใช่ไหม?
คุณกฤษณา ท่านอาจารย์ถามว่าเพื่ออะไร? ก็คือ กราบเรียนตอบท่านอาจารย์ถึงจุดประสงค์ว่า ศึกษาธรรมะเพื่ออะไร
ท่านอาจารย์ ณ วันนี้ เพื่อเข้าใจ แต่ถ้ายาวไกลออกไป เข้าใจเพื่ออะไร?
คุณกฤษณา เข้าใจเพื่อที่สุดแล้วก็คือดับกิเลส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรายังไม่เห็นโทษของกิเลสเลย เพราะยังไม่รู้จักกิเลส ใช่ไหม? เราจึงต้องอาศัยผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมะให้เข้าใจ "สิ่งที่มีจริง"
ในครั้งพุทธกาล ก็มีคนจำนวนไม่มาก ที่ศึกษาเรื่องของจิตเจตสิก ใช่ไหม? แต่เขาได้ฟังพระสูตร แล้วเขาศึกษาพระวินัย เป็นพระภิกษุ ขัดเกลากิเลส ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมก็มี พระสูตรก็มี พระวินัยก็มี แม้แต่เวลาที่ท่านเดินจงกรม จังกัมมะ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ตามอัธยาศัย ท่านจะได้คุยกันเรื่องนั้น ถ้าท่านสนใจเรื่องอภิธรรมท่านก็คุยกันเรื่องนั้น แต่ว่า "อภิธรรมะ" คือ ธรรมะที่ลึกซึ้ง เราพูดถึง "ตัวธรรมะ" เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังหลงคิดว่า เราจะศึกษา "คำต่างๆ " ละเลยการ "เข้าใจธรรมะ" ก็ไร้ประโยชน์!!
เพราะว่า ทุกอย่าง เพื่อให้ "ถึงความเป็นธรรมะ" เพื่อที่จะขัดเกลาการที่ยึดถือสภาพธรรมะเพราะไม่รู้จริงๆ ถูกปิดบังไว้หมด กี่ชาติมาแล้ว ไม่รู้ความเป็นไปของธรรมะ ซึ่งไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ ธรรมะก็ต้องเป็นไปตามความเป็นธรรมะนั้นๆ
เพราะฉะนั้น อย่างเวลาที่เราศึกษาเรื่องอภิธรรม วิริยเจตสิกเกิดกับจิตแล้ว ใช่ไหม? ขันติมาเกิดกับเจตสิกหรือเปล่า? ก็ไม่มี!! เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า เราจะต้องมานั่งคิดว่า ขันติกับวิริยะนี้ ตอนไหน? อย่างไร? แต่ให้รู้ว่า ธรรมะก็คือธรรมะ เดี๋ยวนี้มีไหม? วิริยะ!! ถ้าบอกว่ามี จักขุวิญญาณมีวิริยเจตสิกไหม? ก็ไม่มี!! เห็นไหม? สิ่งต่างๆ เหล่านี้ละเอียดมาก!! ไม่ใช่ให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนี้เจตสิกนี้ เป็นปัจจัยแก่เจตสิกนี้ โดยฐานะใด ปัจจัยใด ไม่ใช่อย่างนั้น!!!
แต่ ฟังและรู้ว่า มีธรรมะจริงๆ !! แม้แต่คำว่า "ธรรมะ" คำเดียว รวมความว่า "ไม่ใช่เรา" เมื่อไม่ใช่เรา จะมีของเราได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ไม่มี แต่ไม่รู้ เพราะว่าเกิดแล้วดับ ใครจะไปรู้สิ่งที่เกิดแล้วดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้ และดับแล้วก็ไม่มีเหลือเลย ให้เข้าใจในความจริงว่า นี่คือ ผู้ที่เราเคารพนับถือสูงสุด ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อให้เราได้ฟัง "คำ" ที่จะทำให้เรา "เริ่มละคลายความไม่รู้" ซึ่งปกปิดไว้นานมาก!!
แต่ไม่ใช่ให้มีความตั้งใจ สนใจอยากรู้ว่า คำนี้คืออะไร? ต่างกับคำนั้นคืออะไร เพราะว่า ถ้ากล่าวจริงๆ วิริยเจตสิกเกิดแล้ว ขันติเจตสิกมีไหม?
คุณกฤษณา ไม่มีค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่มี ใช่ไหม? แต่มีชื่อขันติ เพราะเหตุว่า ธรรมะหลากหลายสุดที่จะประมาณได้ แค่เมื่อกี้นี้ที่ดับแล้ว วิจิตรมาก ไม่มีใครรู้เลย!! เพราะว่า จากแสนโกฏิกัปป์มากว่าจะถึงวันนี้ ขณะนี้ธรรมะนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ได้ แล้วก็ดับไป!!
เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้สิ่งที่เกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ ถ้าไม่ได้ฟังและมี "ความเข้าใจในความหมายของคำแต่ละคำ" ซึ่ง "ส่องถึงความจริงแต่ละอย่างที่กำลังมีในขณะนี้" เพื่อละความไม่รู้ แต่ "โลภะกับอวิชชา" จะตามไป ไม่ห่างเหินไปเลย อยากรู้นั่น อยากรู้นี่ อยากรู้โน่น แต่ "สิ่งที่กำลังมี" ฟังอย่างไรถึงจะค่อยๆ น้อมไปสู่การที่จะไม่ใช่เรา!!
เพราะว่า อย่าง (คำพูดที่ว่า) ปลงเสีย,ละเสีย ได้อย่างไร? ยังไม่รู้เลยว่า ปลงอะไร? ละอะไร? ไหนใครลองบอกมาสิ จะปลงอะไร? ปลงสังขารหรือ? หรือปลงอะไร? (หัวเราะ) ใช่ไหม? ก็เป็นแค่ "คำพูด" แต่ "วางเสีย" วางอะไร? "ไม่ยึดถือเสีย" ยึดถืออะไร? เห็นไหม? ต้องละเอียดมากกกก (ลากเสียง) มากจนกระทั่ง ฟังเพื่อเข้าใจ แล้วเบิกบาน ที่ได้ "แม้เพียงเข้าใจแค่นี้" ก็ยังมีประโยชน์กว่าที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย!!!
เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เข้าใจตัวหนังสือ!! แต่เข้าใจตัวที่มี!!! และไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยว่า เป็นธรรมะคือ สิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง เกิดดับพร้อมกัน รวมกันมากมายหลายอย่าง รวมกันจนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดดับ ก็มีการพอใจ ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น คงจะไม่ต้องไปถึงว่า บารมี ๑๐ มีทั้ง วิริยะบารมี มีทั้ง ขันติบารมี แล้วอะไรเป็นอะไร? คงจะไม่ต้องไปนั่งคิด ไตร่ตรอง มากมาย แต่เวลาที่มีความอดทนเกิดขึ้น ตัวเองรู้ไหม?
ตากแดด แต่ว่าจำเป็น อดทนไหม? ฝนตก แต่ก็ต้องไป และร่มก็ไม่มี อดทนไหม? ก็เป็นชีวิตประจำวันทั้งนั้น แต่ว่าเจตสิกอะไร? ทรงแสดงไว้เป็นประเภท ต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่จะปรากฏให้รู้ได้
เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกก็มี ใช่ไหม? ทุกอย่างเรียบร้อยราบรื่น แต่ว่า กว่าจะได้เข้าใจคำแต่ละคำ เห็นไหม? ต้องฟังแล้ว ฟังอีก!!
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านธัมมะลำพูน อ.เมือง จ.ลำพูน ๑๖-๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๑๓-๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้าน ดร.มล.ญาศินี จักรพันธ์ุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป คุณพรทิพย์ ถูกจิตร ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๐