กระผมสงสัยอย่างมาก เรื่อง อานาปานสติ

 
thaneschu
วันที่  23 ม.ค. 2561
หมายเลข  29439
อ่าน  1,357

กระผมสงสัยอย่างมาก ผมติดตามฟังธรรมจาก youtube รายการบ้านธรรมะ จากที่ได้ฟังอาจารย์สุจินต์มาได้เกือบๆ 1 เดือน ในเรื่องที่ท่านอธิบายธรรม ดูเหมือนท่านจะเน้นการฟังธรรม ใช้สติ (ฟังอย่างตั้งใจ) จนจิตตั้งมั่น และปัญญาก็เกิดขึ้น ก็ใช้พิจารณาธรรมอย่างนึงๆ ซึ่งธรรม แต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา ท่านพยายามพูดอธิบายเรื่องการปฏิบัติแบบมิจฉาทิฏฐิ ของสำนักต่างๆ ที่มีการปฏิบัติ ซึ่งไม่ตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้า ท่านเน้นให้มาฟังธรรม เพื่อเกิดปัญญา ถึงจะเป็นการปฏิบัติที่แท้จริง แต่ผมขอถามคำถามว่าว่า ทำไมพระสูตร อาณาปาณสติ ตรัสว่า "ภิกษุไปแล้วสู่ป่า สูโคนไม้ หรือเรือนว่าง นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า-ออก ... " พระสูตรนี้เป็นการพิจารณากาย เห็นกายในกาย อานาปานบรรพ และหมวกกายทั้งหมด เช่น สัมปชัญญบรรพ ทำความรู้สึกตัว ในอริยาบทต่างๆ ในหมวดกายานุปัสสนา ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติไม่ใช่หรือ เพื่อผลใหญ่ อานิสงส์ใหญ่ คือบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน กรุณาช่วยอธิบายให้ผมกระจ่างด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า สุญญาคาร หมายถึง เรือนว่าง ซึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้ ภิกษุ ไปสู่โคนไม้เรือนว่าง (สุญญาคาร) ด้วยเหตุที่ เป็นสถานที่สงบ เหมาะกับ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา และ มีอัธยาศัยที่จะอยู่ป่าได้ แต่ พระองค์ ไม่ได้ให้ภิกษุทุกรูป คฤหัสถ์ทุกคนจะต้องทำตามอย่างนั้น เพราะ ต้องเป็นอัธยาศัยที่อยู่ป่า เรือนว่างได้ ที่สำคัญ ต้องเป็นผู้เข้าใจธรรม และ มีอัธยาศัย ในการเจริญสมถภาวนาได้ ไม่เช่นนั้น ไปอยู่เรือนว่าง สุญญาคารที่เงียบสงัด แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม ก็ไม่สามารถอบรมปัญญาได้ มีแต่ ฟุ้งซ่าน หรือ นิ่ง โดยที่ปัญญาไม่เกิดรู้อะไร ครับ

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 517

คำว่า สุญญาคาร (เรือนร้าง) นี้ ทรงแสดงถึงสถานที่ๆ สงัดจากคน อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำทั้ง ๒ นี้ ทรงบอกเสนาสนะที่เหมาะสมกับความเพียร คือทรงมอบความเป็นทายาทให้. คำว่า เธอทั้งหลายจงเพ่ง หมายความว่า จงเข้าไปเพ่งอารมณ์ ๓๘ ประการ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์) และเพ่งขันธ์และอายตนะเป็นต้นโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น ด้วยลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ) มีคำอธิบายว่า เจริญสมถะและวิปัสสนา.

หากขาดความเข้าใจเบื้องต้นในขั้นการฟังแล้ว ว่าธรรมคืออะไรอยู่ในขณะไหน ธรรมเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น (ปริยัติ) แล้ว ปฏิบัติหรือสติและปัญญาจะเกิดได้ไหม ไม่ว่าสถานที่ใดก็ตาม หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น แต่เมื่อมองมุมกลับ คนที่เริ่มมีความเข้าใจธรรมเบื้องต้น ขั้นการฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม อยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปหาธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมและเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไมได้ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ว่าอยู่สถานที่ใด ถ้าสติและปัญญาเกิด ก็ธรรมปฏิบัติหน้าที่ สถานที่ที่สติและปัญญาเกิด (สติปัฏฐาน) ที่ๆ นั้นเองก็เป็นสัปปายะของบุคคลนั้นเพราะกุศลเกิด (กุศลขั้นสติปัฏฐาน) แต่ถ้าขาดความเข้าใจเบื้องต้นแล้ว ที่ไหนจะเป็นสัปปายะได้เพราะไม่มีปัญญาที่จะเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดครับ

จากข้อความในพระไตรปิฎก กล่าวว่า ไปแล้วสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง (สุญญาคาร) คือเมื่อไปแล้วสติและปัญญาก็เกิดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปสู่ป่าทุกรูป แต่เป็นคำกล่าวที่ว่า "ไปแล้วสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง (สุญญาคาร) " เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าไปที่ไหน ที่สำคัญไปแล้ว คงห้ามไมได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ต้องไป แต่ไปแล้วมีสภาพธรรมไหม ไม่พ้นจากสภาพธรรมเลย หากไม่มีความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐาน แม้ไปสู่ป่า เรือนว่าง (สุญยาคาร) ที่เงียบสงัด สติจะเกิดได้ไหม เป็นไปไม่ได้ และแม้ไปในสถานที่ชุมชน ถ้าความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานยังไม่มั่นคง สติจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ ดังนั้น ประการที่สำคัญที่สุดคือปัญญาที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ครับ

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด ประณีต จึงเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าใครทำ เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่มีปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นอานาปานสติเลย ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

[เล่มที่ 2] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 364

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติ มีความรู้ตัวเท่านั้น แม้ก็จริง ถึงกระนั้น กรรมฐานอย่างอื่น นอกจากอานาปานสติกรรมฐานนี้ ย่อมปรากฏได้แก่ผู้ที่มนสิการอยู่ แต่อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นภาระหนัก เจริญสำเร็จได้ยาก ทั้งเป็นภูมิแห่งมนสิการ ของมหาบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรรมฐานต่ำต้อย ทั้งมิได้เป็นกรรมฐานที่สัตว์ผู้ต่ำต้อยซ่องเสพ เป็นกรรมฐานสงบและละเอียด โดยประการที่มหาบุรุษทั้งหลายย่อมทำไว้ในใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อานาปานสติ เป็นสติที่ระลึกรู้ลมหายใจซึ่งเป็นปรมัตถ์ ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏคือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรา

ที่สำคัญ ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปทำอะไร ไปกำหนดอะไร เพราะนั่นเป็นเรื่องของความไม่รู้ การทำอะไรด้วยความไม่รู้ ผลก็คือ ไม่รู้ เพราะพระธรรมทั้งหมดเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญาโดยตลอด จึงควรตั้งต้นด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากการฟังในเรื่องของรูปธรรมและนามธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็จะเป็นเหตุให้มีการระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของลมหายใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถเข้าใจได้ จึงสำคัญอยู่ที่การตั้งต้นจริงๆ ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติแต่เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วยสติและปัญญา เป็นต้น และเป็นชีวิตปกติ ไม่ได้ไปทำอะไรที่ผิดปกติ ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thaneschu
วันที่ 24 ม.ค. 2561

อนุโมทนา สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 25 ม.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
s_sophon
วันที่ 29 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แต้ม
วันที่ 1 ก.พ. 2561

ผมเคยไปสนทนากับผู้ที่ นั่งสมาธิ อานาปานสติ ตามที่เขาเคยไปสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ทุกท่านก็มีความเห็นว่า ต้องนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ผมก็สนทนาความหมายของ สมาธิ วิปัสสนา เขาก็ยังอ้างว่า สมัยพุทธกาล ผู้ที่จะบรรลุธรรม ก็ต้องนั่งสมาธิมาก่อน นี่คือความคิดของท่านเหล่านั้น ที่ไปสำนักปฏิบัติธรรม

ผมก็เคยทำมาก่อนเช่นกัน ไม่ว่าจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ บริกรรมคาถาต่างๆ ที่พระสงฆ์แนะนำมา เช่น ยุบหนอพองหนอ พุทโธ เป็นต้น แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไร เวลาโลภ โกรธ ก็ปล่อยให้อารมณ์นั้นเข้าครอบงำแล้วก็ทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด แต่ที่ได้คือ จิตสงบขึ้นแค่นั้นเอง แต่พอมาเจอสถานการณ์ที่ทำให้กิเลสเกิด ก็ปล่อยให้กิเลสกำเริบ

เมื่อมาพบ มศพ. ก็ค่อยๆ ศึกษาพระธรรม รู้สึกว่า เราเข้าใจธรรมขึ้นเรื่อยๆ รู้จักจัดการความโลภ ความโกรธ ได้ในขอบเขต สติปัญญาได้พิจารณาอยู่เสมอว่า เราใช้ชีวิตให้เป็นปกติ โดยนำธรรมของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่พึงปรารถนา ก็พิจารณาโดยใช้หลักไตรลักษณ์เข้ามาช่วย คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดขึ้นตั้งอยู่และก็ดับไป ทำให้ความทุกข์น้อยลง โดยที่ไม่ต้องไปเข้าสำนักปฏิบัติธรรมเพื่อสงบจิตใจอีกต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ