ทำอย่างไรจึงจะไม่เสื่อมประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม

 
Pm_wattana
วันที่  2 มี.ค. 2550
หมายเลข  2948
อ่าน  1,122

มีวิธีการอย่างไรจึงจะไม่เสื่อมจากประโยชน์ทั้งสองทาง ดังกล่าว สำหรับผู้บวชและผู้ครองเรือน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 2 มี.ค. 2550

ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรม เพื่อประโยชน์สุขทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ตลอด ๔๕ พรรษา กล่าวโดยย่อ คือ ความไม่ประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลายคือ เป็นผู้เจริญอบรมเจริญกุศลธรรมทุกประการ ตามสมควรแก่ฐานะของตนเป็นบรรพชิตควรเคารพต่อพระธรรมวินัย เป็นบรรพชิตที่ดีมีศีลบริสุทธิ์ ศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามสมควร เป็นคฤหัสถ์ควรเป็นคฤหัสถ์ที่ดี มีศีลศึกษาพระธรรมคำสอน เลี้ยงดูมารดาบิดา เคารพพระรัตนตรัยเป็นสิ่งสูงสุด ฯลฯ ถ้าประพฤติตามคำสอนย่อมไม่เสื่อมจากประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 2 มี.ค. 2550

ถ้าเป็นบรรพชิต ก็ศึกษาพระธรรมวินัยและอบรมเจริญสติปัฎฐาน หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึง การเว้นข้าศึกที่เป็นอกุศลทั้งปวง มีสติเป็นเครื่องกั้นนิวรณ์ ไม่เกียจคร้านในการศึกษาพระธรรม มีความเพียรที่จะอบรมสติปัฎฐาน คนที่เจริญสติปัฎฐานมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ยังประเสริฐกว่าคนที่ไม่เจริญสติปัฎฐาน แต่มีชีวิตอยู่ร้อยปี ส่วนคฤหัสถ์ได้คบบัณฑิต ฟังธรรมของบัณฑิต มีความเพียรที่จะละอกุศล เจริญกุศลปฎิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมไม่เสื่อมจากประโยชน์ทางโลกและทางธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
devout
วันที่ 5 มี.ค. 2550

อกุศลทั้งหลายเป็นเหตุแห่งความเสื่อม เมื่อไม่ปรารถนาความเสื่อม ควรเจริญกุศลทุกประการ ตามควรแก่เพศและอัธยาศัยของตน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
praisin
วันที่ 11 มี.ค. 2550

ความเข้าใจธรรมคือ การเอาชนะตนเองหรือมองเห็นความหลงผิด แท้จริงแนวทางแห่งธรรมคือ แนวทางแห่งความเป็นเหตุผลนั่นเอง เราจะเข้าถึงธรรมได้เราต้องใช้เหตุผลประกอบ เช่น การเห็นความเป็นสาระของชีวิตว่ามีอยู่อย่างไรเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจธรรม เป็นต้น เมื่อเราเป็นคฤหัสถ์ เราต้องใช้ความเป็นเหตุผลในการครองเรือนคือ ความเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำนั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Guest
วันที่ 11 มี.ค. 2550

ผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ย่อมไม่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน จึงยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางอบรมเจริญปัญญาอย่างละเอียด ทรงแสดงเหตุและปัจจัยที่ทำให้การอบรมปัญญาเจริญขึ้น ซึ่งโดยย่อ ก็คือ การฟังธรรมและเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม เมื่อปัจจัยทั้งสองนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาก็ย่อมอบรมเจริญขึ้นได้

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 4 พ.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ