รู้เท่าทันจิตของตนเอง
เราจะสังเกตหรือทำอย่างไรบ้างคะที่จะเข้าใจและรู้เท่าทันระดับความรู้ในธรรมะของตัวเราเอง เพราะเราอาจจะหลงเข้าใจว่าเรารู้ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้มีคำสอนไว้อย่างมากมาย แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นการใช้ความรู้สึกนึกคิด หรือใช้ทัศนคติที่เข้าข้างตัวเอง และนำมาเป็นพื้นฐานเสียมากกว่า ที่จะเข้าใจความหมายในสื่อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้อย่างละเอียดและแฝงด้วยกุศโลบายที่สูงส่ง
จึงอาจทำให้การถ่ายทอดพระธรรมคำสอนไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรืออาจทำให้การศึกษาและปฏิบัติยากขึ้นไปอีก (เพราะเน้นในจุดที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริง) และเป็นการมองข้ามในจุดนี้หรือเปล่าคะ 😇
ขอบคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปัญญาของตนเองเท่านั้นที่เกิดจากการฟังคำของพระพุทธเจ้า และจากผู้รู้ ก็จะเข้าใจถูกเมื่อปัญญาเกิด ซึ่งคำใดก็ตามที่สอนให้รู้ความจริงในขณะนี้ ให้เข้าใจถูกตามคำของพระพุทธเจ้าที่ให้เข้าใจถูกว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคล มีแต่เพียงธรรม นั่นคือ คำสอนที่ถูกต้อง เมื่อเข้าใจถูกเช่นนี้ ซึ่งเมื่อได้ฟังคำจากใคร คนใด ก็พิจารณาว่าตรงตามนี้ ตามคำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าตรงกันหรือไม่ พระธรรมที่ถูกต้องจะเป็นเครื่องตัดสินความถูกผิด อันเกิดจากความเข้าใจของตนเอง ที่เข้าใจตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งต้นที่ค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง เพราะแม้แต่ จิต ก็มีทุกขณะ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่รู้เลยว่า จิต คืออะไร การที่ปัญญาจะเข้าใจในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ต้องมีเหตุที่สำคัญยิ่ง คือ ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง จากพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ปัญญา ย่อมทำกิจของปัญญา ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ต้องไม่ลืมว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีวิธีอื่นนอกจากฟังให้เข้าใจจนกว่าจะเข้าถึงคำว่าทุกอย่างเป็นธรรมะไม่ใช่เรา และรู้ได้เฉพาะตนค่ะ
ผมได้สนใจเปิดรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับธรรมหลายสถานี มีทั้งพระและฆราวาสที่ออกมาเผยแพร่พระธรรมของศาสนาพุทธ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเน้นไปในทางทำสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกรม ผมเคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะ ก็ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อคล้อยตามหนังสือธรรมะที่ได้อ่าน แต่พอปี 2554 ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจ ให้อยากอ่านพระไตรปิฎก จึงซื้อหนังสือพระไตรปิฎกฉบับชาวพุทธทั่วไป เป็นฉบับย่อประมาณ 1000 หน้า อ่านจนจบ ก็ได้รู้อีกว่า สิ่งที่เราได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะนั้น บางเรื่องก็ไม่ตรงตามหลักธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกเลย แถมตรงกันข้ามอีก แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอะไรมาก ก็ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้ จากเว็บไซต์เกี่ยวกับศาสนาพุทธก็มาก ก็คิดว่าตัวเองมีความรู้ มีความเข้าใจหลักธรรม จนกระทั่งได้มาเจอ เว็บไซต์ มศพ. กลับมีความสงสัยเพิ่มเติมเข้าไปอีกในหลักธรรม จึงศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกเพิ่มเติมเข้าไปอีก สงสัยตรงไหน ก็ตั้งกระทู้ถาม แล้วก็กลับไปเปิดพระไตรปิฎกประกอบด้วย ก็เริ่มมีความเข้าใจหลักธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งทุกวันนี้ สติปัญญาเริ่มทำหน้าที่รู้ว่าสิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ ไม่สงสัยในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และสิ่งที่จะต้องรู้เท่าทัน คือ จิตของเรานี่เอง ต้องขอขอบพระคุณท่านวิทยากรทุกท่านของ มศพ. ที่มีจิตอนุเคราะห์เผยแพร่พระธรรมของศาสนาพุทธให้กับผู้สนใจ