สติกับกุศล

 
ลูกเม่า
วันที่  24 ก.พ. 2561
หมายเลข  29513
อ่าน  1,283

ขอเรียนถามผู้รู้ คำว่าสติเป็นธรรมฝ่ายกุศล กรณีที่เราโกรธ หรือเจ็บปวดทางกาย ถ้าเรามีสติกำหนดรู้ความโกรธหรือความเจ็บปวด แต่เหมือนว่าเราก็ยังมีความรู้สึกโกรธ หรือยังรู้สึกทุกข์กับความเจ็บปวดทางกายอยู่ ยังไม่หายไปเสียทีเดียว แบบนี้เรียกได้หรือไม่ว่าจิตเป็นกุศลแล้ว จำเป็นหรือไม่ว่าถ้าจิตเป็นกุศลแล้วจิตจะต้องรู้สึกสงบ หรือมีปิติสุขเท่านั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะ เมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี 4 ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ดังนั้น การที่กล่าวว่ากำหนดสติรู้ตอนเจ็บปวด เช่น รู้ว่าเจ็บปวดอยู่ อย่างนี้ไม่ใช่สติ เพราะ ไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ถามเด็ก เด็กก็รู้ว่าเจ็บ เด็กก็รู้ว่าโกรธอยู่ แต่นั่นไม่ใช่สติในพระพุทธศาสนา ครับ เพราะฉะนั้นพระธรรมมีความละเอียดลึกซึ้ง สมควรที่จะฟังด้วยความละเอียดรอบคอบและฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกเป็นสำคัญ แม้แต่คำว่า สติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาคืออะไรครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น เป็นความจริงที่ว่า ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความโกรธ ก็ยังมี เมื่อมีเหตุที่จะทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา ถ้าเป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ แล้ว ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะลดน้อยลง ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นจริงๆ จึงไม่ควรโกรธใครเลยทั้งสิ้น ไม่ควรเห็นว่าโกรธ เป็นเรื่องดี เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ทำให้ทุกคนมีที่พึ่ง นั่นก็คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูก) ของแต่ละบุคคล นั่นเอง ปัญญา สามารถรู้ความโกรธตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และขณะนั้นก็ไม่ปราศจากสติด้วย เพราะทุกขณะที่เป็นกุศล สติเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ครับ.

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 ก.พ. 2561

ขออนุโมทนา ขอบพระคุณในกุศลจิต ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ