ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๔๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๔๓
~ การเป็นบุคคลหนึ่งๆ ในชั่วชีวิตหนึ่งๆ ขอให้ทราบตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นจริงๆ แล้วการเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ แต่ละขณะที่ผ่านไป ก็จะทำให้ถึงความสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ แล้วก็จะไปสู่ความเป็นบุคคลอื่นในชาติต่อไป
~ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลก แต่ถ้าไม่รู้จักพระองค์ ไม่เข้าใจธรรมแล้วจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ทั้งหมดต้องเป็นความเข้าใจนั่นแหละที่จะเป็นที่พึ่งได้ เพราะเข้าใจถูกต้อง ถ้าเข้าใจผิด ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้
~ ความไม่รู้ ไม่มีทางที่ทางที่จะรู้ได้ ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จากการไม่รู้สู่ความรู้ ว่า อะไรที่เป็นภัย เป็นคลื่นใหญ่ ก็คือ อวิชชา (ความไม่รู้)
~ ความตาย ก็ขัดขวาง สิ่งที่กำลังจะเป็นประโยชน์ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะแทนที่จะได้ฟังธรรม ก็ไม่ได้ฟังธรรม เพราะมัจจุมาร (ความตาย) ทำลายประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการที่จะมีชีวิตต่อไป
~ ส่วนใหญ่ คนที่มีกิเลส ก็ชอบกิเลส ไม่เห็นว่ากิเลสเป็นมาร แต่ผู้มีปัญญาเห็นว่ากิเลส เป็นมาร (ขัดขวางคุณความดี ไม่ให้ความดีเกิดขึ้น)
~ มารตัวร้ายที่ทำลายความสงบ ทำลายความดีทุกอย่าง คือ กิเลสมาร
~ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจทีละน้อย ไปเรื่อยๆ โดยการเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า แม้น้ำหยดเดียว (ทีละหยดๆ ) ก็สามารถที่จะถึงความเป็นมหาสมุทรได้ เพราะฉะนั้น หยดน้ำของปัญญา ก็สามารถที่จะดับอกุศลทั้งหมดได้ ไม่เหลือเลย
~ ปัญญาเจริญช้ามาก เหมือนการจับด้ามมีด เพราะอะไร เพราะกำลังฟังก็เข้าใจคำที่กำลังฟัง พอฟังจบแล้ว ก็กิเลสเลย ยับยั้งไม่ได้ หยุดไม่ได้ มีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น ปัจจัยของความเข้าใจ (คือ การได้ฟังพระธรรม) ถ้าหยุด ก็ไม่เติม ไม่เจริญ แค่ไหนก็แค่นั้น นับวันก็จะถูกปกปิดด้วยความไม่รู้ ความยินดีเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นกิเลสต่อไป
~ การฟังธรรม ต้องรู้ว่า เป็นการฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อความไม่รู้จะได้ลดน้อยลง นั่นคือ ความหมายของคำว่า ขัดเกลา กว่าจะหมด เพราะมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ทุกคำที่เข้าใจ กำลังทำงานละความไม่รู้
~ โลกไม่สงบ เดือดร้อนวุ่นวายทั้งหมด เพราะกิเลส ไม่มีทางที่จะหมดได้เลย ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง คือ ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะระงับความไม่สงบสุขทั้งหลายได้ ก็ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ได้ฟังอย่างนี้แล้วยังจะเฉยเมยไหม ทั้งๆ รู้ว่า นี้แหละเป็นสิ่งเดียวที่สามารถที่จะนำความสงบสุขมาให้ จากการที่เริ่มเข้าใจถูกต้อง คือ ปัญญา ปัญญา เห็นถูกเข้าใจถูก ต้องนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้องที่เป็นคุณความดีทั้งหมดได้
~ คฤหัสถ์เองก็กำลังทำลายพระพุทธศาสนา โดยการที่ไม่เข้าใจธรรมและส่งเสริมความประพฤติที่ผิด
~ กล้า อาจหาญ ร่าเริงที่จะเป็นมิตรที่ดี ให้ความเข้าใจถูกต้องตามพระธรรมวินัย
~ ถ้าเป็นความหวังดีจริงๆ ลองคิดดู กล้าที่จะเป็นมิตรที่ดีไหม นั่นต้องเป็นกุศลที่มีกำลังจริงๆ ที่ไม่หวั่นไหวต่อการที่ใครจะคิดอย่างไร ใครจะว่า ใครจะติ ใครจะเข้าใจอย่างไร แต่ความหวังดีก็ยังคงเป็นความหวังดี
~ พุทธศาสนิกชน เข้าใจพระธรรมวินัย พระภิกษุก็เข้าใจพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส ตามเพศของตน พระพุทธศาสนา จักงามรุ่งเรืองสักแค่ไหน แต่ความจริง ในยุคนี้ตรงกันข้ามกัน ก็เป็นยุคที่เสื่อม
~ ไม่หวั่นไหวเลยที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง
~ กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม เมื่อทำสิ่งที่ดีแล้ว ผลที่ดีก็ต้องมีในภพชาติต่อไป แต่ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ภพชาติต่อไปจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่คิดถึง
~ ถ้าเข้าใจธรรม มากขึ้น ไม่มีอะไรที่ชีวิตควรจะเป็นไป นอกจากเข้าใจพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น รับใช้พระพุทธศาสนา ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการทะนุบำรุงที่ยิ่ง เหนือกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น
~ คนที่ไม่กล้าที่จะทำความดี ไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็ตามการสะสม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ตัวเองกล้าไหม (ที่จะทำความดี ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง) ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น
~ ชีวิตจะอยู่อีกกี่วินาที แล้วไม่ทำสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต แล้วจะเป็นประโยชน์ไหมต่อการได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องและมีความหวังดี กล่าวคำที่พระสัมมาสัมพระเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว กลัวอะไร ไม่มีอะไรที่จะน่ากลัว เพราะกุศลทั้งหลาย นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์
~ ถ้าไม่เข้าใจธรรม นี่ก็ประมาทแน่ แม้แต่เข้าใจธรรม ก็ยังประมาทอยู่ ใครไม่ประมาทบ้าง ขณะใดที่เป็นอกุศล ก็ประมาทแล้ว
~ คนที่มีเงินทองมาก มีสิ่งของมาก แต่ไม่ให้ใครเลย พอตายแล้วให้ได้ไหม? เพราะฉะนั้น ก่อนตายประมาทไหมเวลาที่ไม่ให้สิ่งที่ควรจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นที่ตนเองสามารถที่จะสละให้ได้
~ ความไม่ประมาทต้องลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรได้ แต่สิ่งที่ควรอย่างยิ่ง ก็คือ เข้าใจธรรมแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจ ก็จะสับสน
~ ความเข้าใจเท่านั้นแหละ ที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายความไม่รู้
~ ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ ถ้าไม่มีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะรู้ได้ แม้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเผชิญเฉพาะหน้า ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าเมื่อมีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนั้นต้องต่างจากคำอื่น เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ได้ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะไม่ว่าจะโดยความดีประการใดก็ตามแต่ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ อกุศลทั้งหมด มาจากความไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง
~ ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็ยังประมาทอยู่
~ ขณะนี้ ถ้ากำลังเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยไม่เลือก โดยความเป็นอนัตตา โดยมีปัจจัยเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญาปฏิบัติหน้าที่ของปัญญา ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย
~ คนที่ไม่ได้สละเพศคฤหัสถ์ แต่เข้าใจธรรม ก็ขัดเกลากิเลสโดยการเข้าใจธรรม (โดยไม่ต้องบวช)
~ ผู้ฟังทุกท่านเข้าใจหรือยังว่า พระภิกษุคือใคร ถ้าสนับสนุน (ภิกษุทุศีล) ก็เท่ากับว่าให้เขาเป็นบาปยิ่งขึ้น เพราะจากโลกนี้ไปแล้ว (ภิกษุทุศีล) ไม่ได้ไปที่อื่น นอกจากอบายภูมิ
~ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจธรรม แล้วก็บวช แล้วก็ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็เหมือนโจรที่อาศัยการบวชเป็นที่กำบังกระทำทุจริต แม้เพียงการรับอาหารบิณฑบาต ก็ไม่ใช่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าใจธรรมวินัยและไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วย ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย รับบาตร เหมือนโจรไหม เพราะ (บุคคลผู้ให้) เขาไม่ได้ให้แก่บุคคลประเภทนี้ แต่เขาให้กับภิกษุผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัย รู้อัธยาศัยของตนเองที่สามารถจะขัดเกลากิเลสด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เป็นโจรทั้งหมด ถ้า (ภิกษุ) ไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่อบรมเจริญปัญญา ไม่ได้ขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัย
~ คนที่บวชเป็นภิกษุ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจธรรมเลย แล้วไม่ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตตามพระธรรมวินัย ก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย
~ ความเป็นภิกษุ ไม่ใช่อยู่ที่ผ้าที่ครองเท่านั้นที่แสดงว่าเป็นภิกษุ แต่ต้องเป็นความประพฤติ ความเป็นอยู่ และความเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส
~ ผู้ที่บวชเป็นภิกษุ แต่งกายเหมือนภิกษุตามพระธรรมวินัย มีความเข้าใจธรรมหรือเปล่า? ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมแล้วเป็นภิกษุได้อย่างไร มีแต่ความพอใจ ความต้องการหรืออยากที่จะเป็น
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๔๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...