ขอคำชี้แนะวิธีกรวดน้ำและการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับแบบถูกวิธีค่ะ

 
Myjoom
วันที่  6 เม.ย. 2561
หมายเลข  29627
อ่าน  3,268

สวัสดีค่ะ

หนูขอรบกวนสอบถามวิธีการกรวดน้ำและการอุทิศผลบุญให้พ่อแบบถูกวิธีค่ะ

จากข้อความครั้งก่อนที่หนูเคยเขียนมาขอคำชี้แนะเรื่องพ่อเสียชีวิตเข้าบ้านได้ไหมครั้งก่อน

ทุกวันนี้ก่อนไปทำงานทุกเช้าหนูจะแวะตลาดเพื่อตักบาตรพระให้พ่อก่อนไปทำงานค่ะ

แต่สิ่งที่หนูมีความสงสัยอยากเรียนสอบถาม เวลาตักบาตรพระสงฆ์ที่ตลาดสด เขาจะมีต้นไม้ประมาณแค่ข้อศอกเราไม่สูงมากนักใส่ในกระถางเล็กๆ มีกะละมังรองกระถางเพื่อให้กรวดน้ำซึ่งคนส่วนมากเทน้ำที่กรวดน้ำลงในกระถางต้นไม้ล้นแล้วล้นอีกจนบางทีน้ำนองลงพื้น

หนูเลยมีความรู้สึกว่าการกรวดน้ำแบบนี้ถูกหรือไม่ถูกค่ะ เพราะเคยรู้มาว่าต้องกรวดน้ำลงพื้นดินหรือต้นไม้ใหญ่เพื่อฝากผลบุญฝากพระแม่ธรณีให้กับบุคคลนั้นๆ

และการกรวดน้ำแบบนี้ บุคคลที่เราตั้งใจอุทิศผลบุญให้เขาจะได้รับไหมค่ะ

หรือการตั้งจิตอุทิศแล้วเอ่ยชื่อนามสกุลพ่อ ก่อนใส่บาตรพระแบบนี้พ่อจะได้รับไหมค่ะ (ถ้าไม่กรวดน้ำด้วยวิธีนั้น)

หนูรบกวนสอบถามในข้อสงสัยและขอคำชี้แนะที่ถูกต้องอีกครั้งค่ะ

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 เม.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การกรวดน้ำในปัจจุบัน เป็นการแสดงถึงการอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้และแสดงไว้ว่า เมื่อจะอุทิศส่วนกุศลจะต้องกรวดน้ำ พระพุทธเจ้าไมไ่ด้แสดงไว้อย่างนั้น ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่มีเพียงการเทน้ำ หลั่งน้ำ แสดงถึงการสละ บริจาคให้ มีพระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวันโดยการหลั่งน้ำ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร อุทิศส่วนบุญที่ท่านทำ ท่านก็ไม่ได้ใช้น้ำ ท่านก็เปล่งวาจากล่าวอุทิศส่วนกุศลให้ญาติครับ ดังนั้นการใช้น้ำในการอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ คลาดเคลื่อนจากความเข้าใจในสมัยพุทธกาล กลายเป็นประเพณีนิยมไปครับ

ในความเป็นจริงแล้ว การอุทิศส่วนบุญให้ สำคัญที่เจตนาของผู้ที่อุทิศ ไมได้อยู่ที่การเทน้ำ หากไม่มีเจตนา ตั้งใจจะอุทิศให้ญาติเลย แต่ก็มีการเทน้ำ บุญก็ไม่เกิดขึ้นที่เป็นการอุทิศส่วนกุศล เพราะการอุทิศส่วนกุศลอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่อาการเทน้ำบุญจึงอยู่ที่ใจเป็นสำคัญครับ และก็ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวคำบาลีต่างๆ ที่ว่า..ยถาวาริวหา ปูรา ปริ ปูเรนฺติ ... เพราะการอุทิศส่วนกุศลสำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาอุทิศให้ กล่าวภาษาอะไร แต่มีเจตนาอุทิศแล้ว บุญเกิดขึ้น คือ การอุทิศส่วนกุศลเมื่อผู้เป็นญาติล่วงรู้และอนุโมทนา ญาติก็ได้รับบุญคือ บุญเกิดกับญาติเองที่เกิดกุศลจิตที่อนุโมทนาครับ

ส่วนการอุทิศส่วนกุศลให้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวคำแผ่เมตตา เพราะ สำคัญที่เจตนาของผู้อุทิศ หากมีเจตนาอุทิศให้ญาติทั้งหลาย แม้กล่าว หรือ คิดในใจ ที่เป็นการอุทิศให้ หากญาติรับรู้และ อนุโมทนา ก็สามารถได้ส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้ จึงกล่าวสรุปได้ว่า ไม่จำเป็นจะต้องกรวดน้ำ และ แผ่เมตตาให้ญาติ สำคัญที่ เมื่อทำบุญแล้ว ก็มีเจตนาอุทิศกล่าว หรือ คิดในใจว่า ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย เป็นต้น ครับ ไม่ต้องกล่าวถึงการต้องไปเทน้ำให้ต้นไม้ใหญ่ ก็ไม่เป็นเหตุ เป็นผล ตามพระพุทธศาสนาเลย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 เม.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๒๙

"เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญ จงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ"

---------------------------------

ประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่การทำตามๆ กันไป โดยปราศจากเหตุผล แท้ที่จริงแล้ว กุศล ที่ได้ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล หรือแม้แต่การฟังพระธรรม ก็สามารถอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ การอุทิศส่วนกุศลให้ใคร จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้นั้นได้รู้ เพื่อผู้นั้นจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตน มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Myjoom
วันที่ 7 เม.ย. 2561

ขออนุโมทนา..สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 7 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เฉลิมพร
วันที่ 15 เม.ย. 2563

กราบขอบพระคุณ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ