เป็นคนดีได้โดยไม่ต้องบวช
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การบวช เป็นการเว้นจากอกุศล เว้นจากเครื่องติดข้องทั้งหมดที่เคยมีเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ สละชีวิตของคฤหัสถ์ทุกประการ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต (ผู้เว้นจากอกุศลโดยประการทั้งปวง) เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การบวช จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ที่สะสมมาที่จะเห็นโทษของกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน และมุ่งที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ จะมามีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้อีกต่อไป ข้อความในอรรถกถาทั้งหลาย แสดงถึงความยากของการบวช ไว้ดังนี้ คือ
"บทว่า ทุปฺปพฺพชฺชํ ความว่า ชื่อว่า การละกองแห่งโภคะน้อยก็ตาม มากก็ตาม และละเครือญาติ แล้วบวชมอบอุระ (ถวายชีวิต) ในศาสนานี้ เป็นการยาก
บทว่า ทุรภิรมํ ความว่า การที่กุลบุตรแม้บวชแล้วอย่างนั้น สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิต ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา (เที่ยวบิณฑบาต) ยินดียิ่ง ด้วยสามารถแห่งการคุ้มครองคุณคือศีลอันไม่มีประมาณ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมให้บริบูรณ์ เป็นการยาก"
(ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
บทว่า ทุปฺปพฺพฺชฺชํ ความว่า การเว้นทั่ว ชื่อว่า ทำได้ยาก เพราะการสละกองโภคสมบัติ และความห้อมล้อมของหมู่ญาติ น้อยก็ตาม มากก็ตาม แล้วบวชถวายชีวิตในพระศาสนานี้ ชื่อว่า ยาก เพราะกระทำได้โดยยาก คือการบรรพชาทำได้โดยยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า " ทุปฺปพฺพชฺชํ " (การบวชทำได้ยาก) .
(ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เชนตเถรคาถา)
บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ และที่ขาดไม่ได้จริงๆ คือ จะต้องเป็นผู้มีความเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่อยากบวชก็บวช ไม่ใช่เพราะใครๆ ชักชวนให้บวช โดยที่ไม่รู้ว่า บวชคืออะไร ภิกษุคือใคร
ที่สำคัญความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศ หรือ เครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ความเป็นบรรพชิต รักษายาก ถ้าหากว่ารักษาไม่ดี มีการประพฤติปฏิบัติตนไม่สมควรแก่ความเป็นบรรพชิต ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ มีแต่จะเป็นโทษแก่ตนเองเพียงอย่างเดียว จะฉุดคร่าผู้นั้นไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้ พระภิกษุและสามเณร ก็ตกนรกได้
ประการที่สำคัญ คือ จะอยู่ในเพศไหน วัยไหน ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้งนั้น ที่สำคัญ คือ จะเห็นประโยชน์ จะเห็นคุณค่าของพระธรรมหรือไม่? เป็นคฤหัสถ์ที่ดี โดยที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง โดยไม่จำเป็นต้องออกบวชเป็นบรรพชิต การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังไม่จบสิ้น ก็จะต้องสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญาเป็นที่พึ่งต่อไป ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อต่อไปนี้ครับ
อย่าหลงบวช
ชาวบ้านไม่รู้จักพระ พระก็ไม่รู้จักพระ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ
เพราะเหตุใดจึงตรัสเรียกว่าเป็นมหาโจร
พระภิกษุก็ตกนรกได้
... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...