วิกฤตการบวช และ วิกฤตภิกษุรับเงินรับทอง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประมวลสาระสำคัญ
จากการสนทนาพิเศษ
เรื่อง วิกฤตพระพุทธศาสนา กับ ประเทศชาติ (ครั้งที่ ๑)
[ตอน วิกฤตการบวช และ วิกฤตภิกษุรับเงินรับทอง]
ที่บ้านคุณทักษพล - คุณจริยา เจียมวิจิตร
วันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑
(ภาพขณะสนทนา)
(ทีมงานอาสาสมัครบันทึกวีดีโอการสนทนาพิเศษในครั้งนี้)
~ ไม่มีใครบังคับใครให้บวช ผู้นั้นต้องรู้ว่าบวชคืออะไร (บวช คือ การสละ การเว้นจากอกุศล เว้นจากชีวิตคฤหัสถ์ทุกประการ) ไม่เช่นนั้นก็ทำสิ่งที่ไม่รู้ คิดว่าพอเห็นคนครองผ้ากาสาวพัสตร์ก็อยากบวช แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของผู้ที่จะบวชที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าอยากบวชและไม่รู้จักพระธรรมวินัย ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบวชจะมีประโยชน์อะไร ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น วิกฤตของพระพุทธศาสนาที่คนมองไม่เห็นเลย ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น คือ วิกฤตที่ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้จักคุณของพระรัตนตรัย และเมื่อไม่รู้จักแล้วก็ทำสิ่งที่ตนเองเพียงอยากทำ เช่น การบวช เป็นต้น แต่ว่า ไม่ว่าจะเป็นการบวชพระภิกษุหรือบวชเป็นสามเณรก็ตาม โดยที่ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่รู้จักพระธรรมวินัย เป็นการย่ำยีพระพุทธศาสนา
~ การบวช เพื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ และมีความมั่นคงว่าตนเองสามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ไหม ไม่ใช่บวชลองดู หรือบวชเพราะอยากจะบวช แต่ต้องมีความเคารพจริงๆ ว่า การบวชตาม พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วจากการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี นั้น สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะดำรงชีวิตขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต
~ ถ้าบวชแล้วไม่เข้าใจธรรมเลย บวชทำไม เพื่ออะไร มีคำตอบไหม? ไม่เข้าใจธรรม ไม่ศึกษาให้ถูกต้องแล้วคิดธรรมเอง นั่นคือวิกฤตอย่างยิ่งที่ใครจะคิดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองได้ และทำให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดตามไปด้วย เพราะฉะนั้น วิกฤตที่มองไม่เห็น ก็คือ ไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคารพในพระรัตนตรัยแล้วคิดว่าตนเองสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ได้เข้าใจธรรมเลยแล้วก็ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดคิดว่านี่คือภิกษุในพระธรรมวินัย
~ จะตอบแทนคุณโดยวิธีอื่น ก็มีมาก ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจธรรมแล้วไปบวช อย่างนั้นไม่ได้ตอบแทนคุณเลย เพราะเหตุว่า ไม่ได้เข้าใจธรรม จะเป็นกุศลที่จะแทนคุณอะไรได้ เพราะเหตุว่าการทดแทนพระคุณ ก็คือ เป็นคนดี ทำสิ่งที่ดี ความดีต่างหากที่ตอบแทนคุณความดีได้ แต่ถ้าบวชแล้วไม่ได้เข้าใจธรรม จะตอบแทนคุณความดีได้อย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า การตอบแทนคุณบิดามารดา เป็นมงคล ในมงคลสูตร โดยการเป็นผู้ที่ทำคุณความดี แต่ไม่มีเลยที่จะบอกว่าบวชเพื่อที่จะให้มารดาบิดาได้กุศล เพราะเหตุว่าการบวช พระองค์ตรัสว่า ไม่ใช่สำหรับทุกคน ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่สำหรับทุกคน ต้องเป็นคนที่ตรงและเข้าใจธรรม และสละเพศคฤหัสถ์อุทิศตนเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส โดยศึกษาพระธรรมให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส ถ้าไม่เข้าใจพระธรรม ไม่มีทางที่จะขัดเกลากิเลสได้ เพราะฉะนั้น จะบวชกี่ครั้งก็ตามแต่ ก็ไม่ได้ขัดเกลากิเลส เมื่อไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไร
~ ตอบแทนพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการเป็นคนดี ทำความดี ก็จะมีคนดีมากเพิ่มขึ้น
~ บุญคือความดี ขัดเกลากิเลสด้วยความดี
~ ถ้ามารดาบิดาเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ได้ให้ลูกบวช แต่ให้ลูกศึกษาให้เข้าใจธรรม แล้วจะบวชหรือไม่บวชก็แล้วแต่อัธยาศัย ไม่ใช่ว่าต้องการให้บวช บวชแล้วได้อะไร เพราะเหตุว่า การบวชต้องเป็นความจริงใจ ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไปสามารถให้ใครดี เพราะการบวช ถ้าเขาไม่ได้เข้าใจธรรม ก็ดีไม่ได้
~ อยู่เฉยๆ ดีกว่าไปบวช (เพราะไม่รู้ หรือ บวชตามๆ กันด้วยความอยาก) เพราะเหตุว่า การอยู่เฉยๆ ไม่ได้ไปทำลายพระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจผิด
~ ถ้าไม่ได้อ่านพระวินัย มีใครจะเห็นความละเอียดยิ่งของกิเลส ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงบัญญัติโดยพระองค์เอง เพราะทรงรู้ว่าแม้กิเลสเพียงเล็กน้อยก็จะนำมาซึ่งโทษมหาศาลโดยความประมาท เพราะฉะนั้น เวลาที่คฤหัสถ์อ่านพระวินัย เห็นกิเลสและเห็นความต่างกันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ว่า ผู้ใดสามารถที่จะมีความมั่นคงที่จะสละเพศคฤหัสถ์ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท
~ ไม่จำกัดว่าเฉพาะภิกษุเท่านั้นที่จะประพฤติตามพระวินัยได้ แม้คฤหัสถ์ที่เห็นประโยชน์ก็ประพฤติตามได้
~ สมาทาน ไม่ต้องบอกใคร แต่สมาทานเป็นการถือเอาเป็นข้อปฏิบัติ อย่างเราจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ต้องบอกใครเลย คิดที่จะไม่ฆ่า นั่นคือ สมาทานถือเอาเป็นข้อปฏิบัติว่า เราจะทำอย่างนี้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แหละ
~ ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
~ ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ว่า จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ด้วยการชักชวนกันให้มาบวชเยอะๆ
~ เป็นคนดีโดยไม่ต้องบวช นี่เป็นเหตุผลที่เราได้สนทนากันถึงเรื่องนี้ เพราะเหตุว่า (บวช เพราะไม่รู้ บวชตามๆ กัน เป็นต้น) เป็นโทษมหันต์ซึ่งคนบวชกันมาก แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้รับโทษมากมายแค่ไหนในปัจจุบันและในชาติหน้าต่อไปด้วย
~ ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาเข้าใจพระธรรม ก็จะรู้ว่า พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปลี่ยนไม่ได้เลยทุกกาลสมัย ทั้งพระธรรมและพระวินัยด้วย ถ้าเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยจริงๆ ไม่มีทางที่จะเป็นโทษภัยใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการกระทำผิด ก็แสดงว่า ภิกษุนั้น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย
~ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) สนับสนุนการบวชตาม พระธรรมวินัย แต่ถ้าไม่ใช่การบวชตามพระธรรมวินัย ไม่สนับสนุน ไม่มีประโยชน์ เพราะทำลายพระธรรมวินัย
~ ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมวินัย เป็นภิกษุหรือเปล่า? จะสนับสนุนให้มีภิกษุที่ไม่เข้าใจธรรมวินัยไม่ขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัยหรือ? ใครต้องการให้มีภิกษุอย่างนั้นบ้าง ถ้าต้องการอย่างนั้น ก็คือ ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จะกล่าวว่า ภิกษุอย่างนั้น (คือ ไม่เข้าใจธรรม ไม่ขัดเกลากิเลส) เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่ได้
~ เคารพภิกษุทุกรูปที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
~ ถ้าครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ก็แสดงว่า เปิดเผยที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มิฉะนั้น ก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย
~ พระธรรมวินัย บริสุทธิ์ทุกประการ เพราะว่า สามารถที่ขัดเกลากิเลสจนถึงการดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ ไม่มีการกระทำอะไรๆ ที่ผิดสักข้อเดียวถ้าเป็นไปตามพระธรรมวินัย
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเงินทองหรือเปล่า? ไม่รับ แล้วบุคคลผู้นั้น บวชอุทิศใคร เพราะฉะนั้น คนที่บวช บวชตามใคร เพื่ออะไร แล้วจะรับเงินรับทองได้หรือ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นโทษ ว่า คฤหัสถ์ต่างหากที่จำเป็นต้องใช้เงินและทอง แต่พระภิกษุไม่จำเป็นต้องใช้เงินและทองเลย เพราะสละแล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ถ้ารับเงินและทอง ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
~ พระภิกษุต่างจากคฤหัสถ์ แค่นี้ก็ตอบทุกข้อได้ เพราะว่า คฤหัสถ์ยินดีในเงินและทอง แต่ว่าผู้ที่จะบวช สละเงินและทอง สละหมายความว่า ไม่ยินดีเพราะฉะนั้น ถ้ายังคงยินดีเงินและทองอยู่ ก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย
~ ภิกษุในธรรมวินัย อยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค พอไหมที่จะมีชีวิตอยู่ เพื่อขัดเกลากิเลส? แต่ถ้ายินดีในเงินและทอง ก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย
~ ที่มีการกล่าวให้คนได้เข้าใจพระธรรมวินัย ซึ่งยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง นั้น ก็ได้กระทำกิจของพุทธบริษัท เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีใครกล่าวถึงพระธรรมวินัย ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้จักพระพุทธศาสนา ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ดับกิเลสและทรงแสดงหนทางเพื่อการดับกิเลส ไม่ได้บังคับให้ใครบวช เพราะเรื่องของการบวชเฉพาะผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ และเห็นโทษของกิเลส มีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะได้ปฏิญาณตนโดยการบวชว่าจะเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ก็ต้องตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ ไม่มีใครพูดถึง ก็ไม่เป็นที่รู้ได้ แต่ถ้ามีพุทธบริษัทที่เข้าใจความถูกต้องของพระธรรมวินัย แล้วช่วยกันให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้อง ก็เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา เท่ากับได้ทำหน้าที่ของพุทธบริษัท ถ้าเราจะพูดตามพระธรรมวินัยทั้งหมด ผิดหรือ? หรือว่าเป็นประโยชน์? ก็จะต้องไตร่ตรอง เพราะว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุผู้รับเงินรับทองหรือ? ไม่ได้ตรัสให้รับ แล้วทำไมถึงให้เงินทองแก่พระภิกษุ?
~ พระธรรมวินัย ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทที่ศึกษาพระธรรม ควรที่จะกล่าวด้วยความเมตตาเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ไม่ทำตามพระธรรมวินัยหรือไม่ เพราะว่า การที่พระภิกษุไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย โทษมาก จากโลกนี้ไป ถ้าไม่ปลงอาบัติ ก็ไปสู่อบายภูมิ
~ ใครมากกว่ากันระหว่างจำนวนของภิกษุกับคฤหัสถ์? คฤหัสถ์ มากกว่า, เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ ก็ทำหน้าที่ของคฤหัสถ์ แล้วทำไมถึงจะมีภิกษุไปทำหน้าที่ของคฤหัสถ์ในเมื่อหน้าที่ของพระภิกษุยิ่งใหญ่กว่า หน้าที่นั้น ก็คือ เข้าใจพระธรรมวินัย ไม่กระทำกิจของคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะเห็นว่า สมควรอย่างยิ่งที่จะมีชีวิตอย่างบรรพชิต เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำของพุทธบริษัท เพราะนำให้เขาเข้าใจธรรม ไม่ใช่ไปนำอย่างอื่น เพราะการนำอย่างอื่น เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์อยู่แล้ว.
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...