ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๑
~ ไม่รู้อะไร แล้วไปทำ จะถูกได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ตรง
~ ขณะใดที่รู้สึกรังเกียจและละอายในการที่จะเป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของหิริเจตสิก (ความละอายต่ออกุศล)
~ เมื่อทราบว่าบุคคลอื่นทำกุศล ควรที่จะอนุโมทนา (ชื่นชมยินดีในความดีของคนอื่น)
~ ถ้าได้พูดถึงอกุศลของตัวเองบ้างหรือบ่อยๆ และรับความจริงว่าเป็นอกุศลที่จะต้องขัดเกลา ก็ย่อมจะทำให้ขัดเกลาได้ง่ายขึ้น
~ ความไม่รู้มีมาก จึงทำให้มีอกุศลมาก
~ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะ คือ ไม่เห็นว่าอกุศลจิตในขณะนั้นน่ารังเกียจ
~ กิเลสมากมาย เหนียวแน่น หนาแน่น และติดแน่นอยู่ในจิต ที่จะเอาออกไปได้ไม่ใช่วิสัยของอกุศล แต่ต้องเป็นปัญญาที่มีความเข้าใจถูกต้อง และอบรมคุณความดีทุกอย่าง
~ ความดีง่ายๆ ทำไม่ยาก ก็คือฟังพระธรรม ยากไหม? ฟังดนตรีก็เคยฟัง ฟังอย่างอื่นก็เคยฟัง แต่ความดีที่ไม่ต้องเสียเวลาไปทำให้เหนื่อยยากเลย แค่ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์หรือไม่ได้สะสมมา ก็เป็นการยาก เพราะฉะนั้น จากคนที่ไม่มีศรัทธาแล้วก็ไม่ฟัง ก็ควรที่จะสะสมศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของการฟัง เพื่อที่จะได้ไม่ขาดการฟัง ความดีทำง่ายมาก แค่ฟังแล้วก็สะสม แล้วเป็นความดีที่ประกอบด้วยปัญญาด้วย
~ ปัญญาอยู่ในจิต ไม่ออกไปไหนเลย ฟ้าผ่าไม่ได้ ลมพัดไม่ได้ หรือว่าแสงแดดจะทำให้มัวหมองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิต เป็นที่เก็บที่ปลอดภัยที่สุด และปัญญาจะเจริญได้ สามารถติดตามไปได้ ในเมื่ออย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติเงินทองหรือแม้ร่างกายที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา ก็ติดตามไปไม่ได้
~ ปัญญาก็สามารถทำให้เข้าใจถูกต้องว่า อกุศลเป็นโทษแน่นอน ในขณะที่อกุศลเกิดทำร้ายใคร? ทำร้ายจิตที่กำลังเป็นอกุศลในขณะนั้น แล้วยังทำร้ายต่อไปถึงคนอื่นอีกมากมายตามกำลังของอกุศลนั้นๆ
~ ที่พึ่งจริงๆ ก็คือความดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่ได้รับในชีวิต ต้องมาจากกุศล กุศลกรรมเป็นปัจจัยที่ดี ที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์
~ การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรมก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
~ พิจารณาอย่างแยบคาย ก็ย่อมจะเห็นคุณของกุศลธรรม และเห็นโทษของอกุศลธรรม ที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น
~ เวลาที่จะไปสู่ปรโลก (โลกหน้า) เป็นเวลาที่ไม่มีใครสามารถที่จะต้านทานกรรมได้ ว่า อย่าให้กรรมนั้นให้ผล อย่าให้อกุศลกรรมให้ผล ขอให้กุศลกรรมให้ผล เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
~ ยังจะต้องเกิดในคติทั้งที่เป็นสุคติและทุคติ ถ้ายังเป็นปุถุชน (ผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส) อยู่ อีกมากมายในสังสารวัฏฏ์ ย้อนถอยหลังไปก็มากมาย และเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ยังต้องมีคติที่จะต้องไปอีกมากในอนาคต
~ ไม่ประมาท คือ ฟังธรรม เพื่อจะสะสมความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง
~ ทุกคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เป็นไปเพื่อละความติดข้อง
~ ถ้าโลภะเกิด โลภะก็เจริญ ถ้าปัญญาเกิด ปัญญาก็เจริญ
~ เกิดมามีชีวิตที่สั้นมาก ไม่มีใครที่จะรู้ได้ว่าจะหมดสิ้นความเป็นบุคคลนี้เมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น โอกาสสำคัญที่จะพูด ควรรอไหมที่จะพูดความจริง เพราะว่าความจริงที่มีประโยชน์ คนที่พูด พูดด้วยความหวังดี ให้คนอื่นได้รู้ความจริงด้วย ได้เข้าใจความจริงด้วย เป็นประโยชน์ไหม? แต่ถ้าเขาไม่อยากฟัง ก็ไม่ต้องพูด
~ โลภะ (ความต้องข้อง) เกิดบ่อยๆ โลภะก็มาก โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) เกิดบ่อยๆ โทสะก็มาก ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เกิดบ่อยๆ ปัญญาก็มาก
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงทุกคำ แต่ยากที่จะเห็นจริงตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง
~ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและทรงแสดงโทษของสิ่งที่เราติดข้องในสังสารวัฏฏ์ มาแสนนาน มีทางไหมที่จะเห็นโทษของสิ่งที่เราเคยติดข้องว่า ไม่มีประโยชน์ มีแต่นำความทุกข์มาให้
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละคำ ต้องไตร่ตรองและพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า เป็นความจริงอย่างนั้น
~ ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก ซึ่งขณะที่มีความเห็นถูกความเข้าใจถูก เป็นสภาพธรรมที่สามารถที่จะค่อยๆ ละความไม่รู้ และสามารถที่จะละความติดข้องและกิเลสทั้งหมด โดยไม่ใช่เรา
~ เวลาที่มีค่าที่สุดในชีวิต คือ ขณะที่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ทั้งวันเสาร์วันอาทิตย์หรือวันอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรม เป็นโอกาสที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตทั้งชีวิต เพราะต่อจากนี้ไปใครจะรู้ ชีวิตสั้นมากและไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยว่าจะสิ้นสุดการที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไหร่
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะทำให้มีความเข้าใจถูกต้อง ซึ่งสามารถละความไม่รู้ และความเห็นผิด แล้วลองคิดดู มีกิเลสกับไม่มีกิเลส อะไรเป็นทุกข์? (มีกิเลสเป็นทุกข์) จะหมดทุกข์ได้ ก็ต่อเมื่อไม่มีกิเลส, ไม่มีใครที่จะหมดทุกข์ ได้ตราบใดที่ยังมีกิเลส
~ งานเพิ่มกิเลส เห็นอยู่ชัดๆ ไม่มีใครที่ไม่ได้ทำงานนี้ ทำกันทุกคน แต่งานละกิเลส จะเอาอะไรมาเป็นงานที่จะละกิเลส ถ้าไม่มีการพบ ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่มีทางที่จะละความไม่รู้ได้
~ แต่ละคำที่ได้ฟัง เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น และลึกซึ้งที่สุด ก็คือ เป็นสิ่งที่มีจริงชั่วขณะที่มีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย
~ แสวงหาอะไร เราแสวงหามาแล้วในสังสารวัฏฏ์ แสวงหารูป แสวงหาเสียง แสวงหากลิ่น แสวงหารส แสวงหาโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) แสวงหาบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่พอใจ แต่ว่ายังไม่ได้แสวงหาสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้นอีก คือ ปัญญา ปัญญาไม่มีทางที่จะไปแสวงหาที่ไหนได้เลยทั้งสิ้น นอกจากฟังแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการไตร่ตรองและเคารพ
~ ถ้าความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เกิดขึ้น อวิชชา (ความไม่รู้) และความยึดถือความติดข้องพอใจ ก็นำไปสู่หนทางที่ผิดได้ตลอดเวลา
~ ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษาโดยประการทั้งปวง ค่อยๆ ขัดเกลากิเลส คำของพระองค์ทุกคำจะเหมือนยารักษาโรค (คือกิเลส) ซึ่งมากมายมหาศาล
~ แค่คำว่า "ไม่มีอะไร" เคยมีอยู่ในใจบ้างไหม เคยมีคนนั้น คนนี้ มีสิ่งต่างๆ แต่ความจริง ไม่มีอะไรจริงหรือเปล่า? เพราะจากไม่มี แล้วก็เกิด เพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ไม่เหลืออะไรเลย ทุกขณะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น แต่ละหนึ่งขณะที่ดับไป ก็ไม่มีอะไร เพียงแค่เกิดมาปรากฏแล้วก็หมดไป
~ "ติดข้อง ในสิ่งที่ไม่มี" ประโยคนี้ จำไว้ได้เลยทุกชาติไป จะได้ค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย ถ้าไม่มีประโยคนี้ ก็ติด คิดว่ามีอยู่ตลอด
~ ฟังธรรมเพื่อละความไม่รู้แล้วก็เบิกบานที่มีโอกาสได้เข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ดีกว่าไม่รู้เสียเลย และถ้าฟังบ่อยขึ้น มีหรือที่จะไม่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเป็นเรื่องละความไม่รู้
~ บวช ด้วยความไม่รู้ จะเป็นสาวก (ผู้ฟังพระธรรม) หรือ เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน เพื่อเข้าใจธรรม ไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แล้วก็กลับไปทำสิ่งที่ไม่ได้ละคลายความไม่รู้เลย เพิ่มพูนความไม่รู้และความต้องการยิ่งขึ้น
~ ไม่ว่าใครจะทำอะไรทั้งสิ้น ทำไป โดยไม่รู้ ถูกต้องไหม? ยังไม่รู้เลย ก็ทำ ถูกได้อย่างไร
~ กำลังเข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ สุจริต (ประพฤติดี) หรือเปล่า กายก็ไม่ได้ทำทุจริตอะไร วาจาก็ไม่ได้ทำทุจริตอะไร และใจ ก็กำลังเข้าใจธรรม
~ ถ้าอยู่ด้วยกัน ดีด้วยกันทั้งหมด ก็เคารพกัน
~ ถ้านับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นภิกษุได้อย่างไร?
~ ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่เข้าใจธรรม ก็จะไม่รู้ว่าภิกษุคือใคร แค่ห่มผ้าเหลือง แต่ไม่เข้าใจธรรมเลย แล้วอะไรๆ ก็จะบวช อย่างนั้นหรือคือภิกษุ? ภิกษุ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม และรู้จักตนเอง รู้จักอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ เพราะว่าไม่ต้องบวช ก็ขัดเกลากิเลสได้ เพราะฉะนั้น การบวช ไม่ใช่ง่ายเลย
~ ขณะใดก็ตาม ที่ไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ขณะนั้นไม่ใช่เพศบรรพชิต เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ ทำกิจการงานของคฤหัสถ์ได้ทุกอย่าง แล้วศึกษาธรรมและรู้ว่าจะขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ ขัดเกลาได้ด้วยความเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ภิกษุจะขัดเกลากิเลส ก็ต้องด้วยความเข้าใจธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม แล้วจะเป็นภิกษุเพื่ออะไร?
~ พระภิกษุที่เรี่ยไรเงินสร้างวัด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้หรือว่าให้กระทำอย่างนั้นได้? เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าภิกษุในธรรมวินัย คือ ผู้ที่สามารถจะขัดเกลากิเลสตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบัญญัติไว้ว่าภิกษุต้องประพฤติอย่างไร ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย แล้วจะไปทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ในเมื่อบุคคลนั้นไม่ได้เข้าใจธรรม และไม่ได้ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตด้วย
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๐
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...