ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  28 พ.ค. 2561
หมายเลข  29771
อ่าน  3,996

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากรของมูลนิธิฯ ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจากอาจารย์ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล พร้อมทั้ง สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ และชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้สนใจศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อไปสนทนาธรรมที่อาคารสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน บางเขน กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๓.๓๐ น. - ๑๖.๐๐ น.

ก่อนการสนทนาธรรม ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นวิทยากรของมูลนิธิฯ ได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะฯ ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ณ ห้องอาหารนนทรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังอาคารของสมาคมฯ ซึ่งมีการจัดสถานที่ไว้อย่างเรียบร้อย สวยงาม มีชา กาแฟ และของว่าง จัดเตรียมไว้ให้บริการแก่ผู้เข้าร่วมฟังการสนทนาธรรมซึ่งมีทั้งนิสิตเก่า และนักศึกษาปัจจุบัน รวมถึงบุคคลภายนอกที่สนใจ เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเวลา พิธีกรได้กล่าวเชิญ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ ขึ้นกล่าวต้อนรับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ วิทยากร และผู้เข้าร่วมฟังการสนทนา

ตามด้วยคุณทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้จัดรายการ ผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์ และคอลัมนิสต์ เขียนบทความลงใน คอลัมน์ "ว่ายทวนน้ำ" หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ ในนามของผู้ดำเนินการจัดให้มีการสนทนาธรรมขึ้นในครั้งนี้ ได้กล่าวขอบคุณท่านอาจารย์และวิทยากร ที่เดินทางมาสนทนาธรรมที่นี่ ในวันนี้

คุณอุทุมพร คำถามจากพระสุตตันตปิฎก ในกาลามสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่าอย่าเชื่อใน ๑๐ ประการ "การฟัง" ก็เป็นประการหนึ่งที่อย่าเชื่อ เพราะฉะนั้น การฟังที่ถูกต้อง ควรฟังอย่างไร?

ผศ.อรรณพ ก็เป็นลำดับที่ดีมากสำหรับประเด็นที่สนทนานะครับ ในเมื่อเห็นประโยชน์ว่า อยู่ด้วยความไม่รู้ และรู้ว่าไม่รู้อะไร ก็คือ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี ไม่ว่าจะ คิดนึก เห็น ได้ยิน แล้วก็ มีสี มีเสียง ก็ดูเป็นเรื่องราว เป็นอะไรไปหมด แต่ไม่ได้เป็นธรรมะเลย!! พอเริ่มเห็นประโยชน์ ก็เห็นประโยชน์ของการที่จะฟังธรรมะในโอกาสที่จะเป็นไปได้ เช่น เดี๋ยวนี้ เราก็มีเวลาไม่มาก สี่โมงเย็นก็หมดแล้ว ที่จะได้ฟังคำจริง ความจริงกัน

ทีนี้ บอกว่าฟังพระธรรมกัน แล้วปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาได้จากการฟัง "สุตมยปัญญา" ที่อาจารย์คำปั่นแปล "ปัญญาที่ได้จากการฟัง" ปัญญาคืออะไร? คือความเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจวิชาการทางโลก แต่ "เข้าใจความจริง เรื่องของความจริง และ ถึงตัวความจริง" ตอนแรกก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องของความจริงก็คือเรื่องของธรรมะ ที่ท่านใช้คำว่า "พระธรรม" ก็คือ เรื่องของธรรมะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเข้าใจสภาพหรือตัวธรรมะ

แต่ถ้ายังเผินอีก ก็คิดว่าฟังธรรมแล้วก็ได้ปัญญาเกิดจากการฟัง แต่ฟังอะไร? ก็ต้องฟังสิ่งที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ฟังคำสอนของแต่ละคนหลากหลาย เป็นคำสอนที่เป็นลัทธิครูอาจารย์ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็แสดงไว้มากว่า ลัทธิครูอาจารย์ แล้วอ้างพระพุทธศาสนา การกระทำสังคายนา ก็ได้เอาลัทธิครูอาจารย์ออกไปจากพระศาสนาหมด พระพุทธศาสนาที่แท้จริงจึงใช้คำว่า "พระพุทธศาสนาเถรวาท" เถระแปลว่ามั่นคง วาทะคือคำกล่าว เป็นการกล่าวแสดงที่มั่นคงด้วยปัญญาตามความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

แต่ถ้าเป็นสอนกันเอง คิดกันเอง ให้มีการทำอย่างนี้ อย่างโน้น มีกรรมวิธีต่างๆ ที่จะทำให้รู้ธรรมะขึ้นมา น่าใคร่ครวญว่า นั่นเป็นพระธรรมคำสอนหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น ที่ว่า "ฟังธรรมตามกาล" และ "ปัญญาเกิดจากการฟัง" ถ้าฟังสิ่งที่ไม่ใช่พระธรรมคำสอน จะเกิดปัญญาได้ไหม? ได้ไหม? ไม่ได้เลย!!

เพราะฉะนั้น ต้องฟังคำจริง ความจริง เป็นพระธรรมจริงที่แสดงถึงความจริง แล้วอย่างไร? ที่จะเป็นพระธรรมคำสอน? ก็ต้องกราบเรียนท่านอาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมครับว่า จะทราบได้อย่างไรว่า สิ่งที่ได้ศึกษา ได้ฟัง เป็นพระธรรมคำสอนจริงๆ หรือเป็นความคิดของส่วนบุคคลครับ ท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ฟังอย่างไร? ฟังธรรมะ ไม่เหมือนฟังอย่างอื่น ใช่ไหม? ฟังอย่างอื่นก็เป็นเรื่องราวสนุกสนาน แต่ "ฟังธรรมะ" จะฟังอย่างไร? "ฟังเพื่อเข้าใจ" แต่ว่า ต้องรู้ว่า ได้ยินคำไหน "อย่าเผิน" ต้องไตร่ตรอง!! ต้องคิด!! ว่าจริงหรือเปล่า? เช่น คำว่า "ธรรมะ" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมะ นี่แน่นอนที่สุด!! ถ้าไม่มีธรรมะจะตรัสรู้อะไร?

เพราะฉะนั้น เพียงแค่คำว่า "ธรรมะ" คำเดียว ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้น "สิ่งที่มีจริง" เห็นด้วยไหม? และ "สิ่งที่มีจริง" มีแน่นอน จะเรียกว่าอะไรก็ได้ ภาษาบาลีจะใช้คำว่า "ธรรมะ" ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่าอะไร ภาษาอื่นจะใช้คำว่าอะไร ก็เป็น "สิ่งที่มีจริง" เช่น "เห็น" ภาษาไหนก็ได้ เปลี่ยน "เห็น" ให้เป็น "ได้ยิน" ได้ไหม? ไม่ได้!! เห็นต้องเป็นเห็น เมื่อ "เห็น" มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้อะไร?

โดยมากเราคิดถึง "อริยสัจจธรรม ๔" ทุกขอริยสัจจะ "ชื่อ" มาแล้ว!! ทรงตรัสรู้ ความจริงซึ่งเป็นทุกข์ แต่ว่า อะไรเป็นทุกข์? เห็นไหม? แค่ฟังเผินก็หยิบมา แล้วก็จำไว้ แล้วก็พูด ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม ๔ แต่ถ้ารู้ว่า อริยสัจจธรรม ๔ คือ เดี๋ยวนี้!! สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมะ "ทุกข์" ก็คือ สภาพธรรมะนั้นไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้นาน เพียงจากไม่มีเลย ก็เกิดมีขึ้น แล้วดับไป ไม่กลับมาอีก อย่างนี้!! เป็นมานานแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความจริงนี้ได้เลย

ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ว่า ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้อะไร? ก็ทรงตรัสรู้ความจริงซึ่งคนอื่นคิดไม่ถึง คือ ปิดปังไว้ด้วยการเกิดดับอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครรู้ว่า "ธาตุรู้" ซึ่งเราใช้คำว่า "จิต" เป็นใหญ่เป็นประธาน (ในการรู้) เกิดดับเร็ว สุดที่จะประมาณได้ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างยิ่ง จึงจะเห็นพระปัญญาคุณของพระองค์ว่า แม้สิ่งที่มี คนอื่นไม่รู้ด้วย แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ละเอียดอย่างยิ่ง โดยประการทั้งปวง ถึงที่สุด!!

เพราะฉะนั้น เริ่มตั้งแต่คำว่า "ธรรมะ" ฟังธรรมะ หมายความว่า ฟังให้เข้าใจความจริง ของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ พราะว่าสิ่งอื่นในขณะนี้ไม่มี นอกจากสิ่งเดียว "ทีละหนึ่ง" ที่ปรากฏ อย่างขณะที่เห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีคิด เพราะฉะนั้น ความจริงของ "เห็น" ต้องเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงของ"คิด" ต้องเป็นอย่างหนึ่ง คือ "คิด" ไม่ใช่ "เห็น" เพราะแม้ไม่เห็นก็คิด!!

เพราะฉะนั้น แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ชีวิตประจำวันทั้งหมด ซึ่งเข้าใจว่า "เป็นเรา" แต่ความจริงก็คือว่า เป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ที่ทรงตรัสรู้ความจริง เท่านี้ เริ่มรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ปัญญาของพระองค์มากแค่ไหน ในสิ่งซึ่งคนอื่นไม่เคยคิดเลย!! ว่า "เห็น" กำลังเกิดดับ!!! แล้วก็ไม่ใช่ "ได้ยิน" ได้ยินเกิด ไม่ใช่เห็น ได้ยินก็ดับด้วย ในขณะที่เสียงเมื่อกี้นี้ หายไปไหน? ถ้าไม่มี "เสียง" ก็ไม่มี "ได้ยิน" พอเสียงหมด จะให้ได้ยินต่อไปก็ไม่ได้!!

นี่คือชีวิต ซึ่งหลากหลายมาก ทรงแสดงความจริงโดยละเอียดยิ่งทุกประเภท ความโกรธมีจริง ความเสียใจมีจริง ความริษยามีจริง ความสำคัญตนมีจริง ทั้งหมดเป็นธรรมะ!! มีจริงๆ แต่เคยเป็นเรา เพราะไม่รู้!!

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมะอย่างไร? ก็คือ ฟังแล้วพิจารณาให้เข้าใจว่า ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้อะไร? ลองหามาสิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้อะไร? ถ้าไม่รู้ความจริงเดี๋ยวนี้!! ซึ่งกำลังปรากฏ!!

เพราะฉะนั้น เพียงคำว่า "ธรรมะ" สำหรับวันนี้ ถ้าสามารถที่จะมีความเข้าใจอย่างมั่นคง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นธรรมะ!! สงสัย ฟังต่อไป อ่านข้อความในพระไตรปิฎก มีแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช่ไหม? ๖ ทาง พระองค์ทรงประจักษ์แจ้งโลก ๖ โลก โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย โลกทางใจ ใครคิดว่ามีโลกอื่น? นอกจาก ๖

เพราะฉะนั้น ไตร่ตรอง คำที่ได้ฟัง เพื่อเข้าใจ แล้วก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ยิ่งฟัง ยิ่งเข้าใจขึ้น ยิ่งละเอียดขึ้น ยิ่งเข้าใจคำที่ตรัสไว้ตั้งแต่เบื้องต้นตลอดไปจนถึงที่สุดว่า ธรรมะทั้งหลาย คือสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ค่อยๆ ละคลาย "ความไม่รู้" ที่หลงยึดถือสภาพธรรมะ จนเป็นสุขและเป็นทุกข์อย่างมากมายในชีวิต เพราะไม่รู้!!

จนกว่าสามารถที่จะเข้าใจว่า ที่จริงแล้ว ไม่มีใครเลย เป็นธรรมะ และธรรมะเสมอกันหมด ไม่ว่าจะเขาหรือเรา ธรรมะก็เป็นธรรมะ เห็นก็เป็นเห็น นกเห็นไหม? งูเห็นไหม? ปลาเห็นไหม? เห็นเป็นนกหรือเป็นคน หรือเป็นปลา? เห็นต้องเป็น "เห็น" เท่านั้น ไม่ใช่นก แต่ถ้ามีรูปร่างมาประกอบ เราก็บอกว่า มดเห็น ช้างเห็น แต่จริงๆ แล้ว "เห็น" ไม่ใช่มด ไม่ใช่ช้าง เห็นเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบตา ปรากฏให้เห็นว่า สีสันวรรณะหลากหลาย และรูปร่างสัณฐานต่างกัน สภาพที่จำก็จำไว้เลยว่า นั่นเป็นใคร

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้มีความเข้าใจมั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรมะไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นเรา เป็นทุกข์ไหม? ไม่ได้สิ่งที่พอใจ ขวนขวายหาทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่พอใจ แต่เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ แต่ถ้ารู้ว่า ได้หรือไม่ได้ ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แม้แต่ทุกข์หรือสุขก็บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว แสนสั้น ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย จะเดือดร้อนไหม?

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมะ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ทำให้พ้นจากความทุกข์เพราะความไม่รู้ ทีละเล็ก ทีละน้อย จนกว่าจะประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริง ก็สามารถที่จะดับความไม่รู้ ซึ่งยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเราในสังสารวัฏฏ์นานแสนนาน ไม่เกิดอีกเลย ประโยชน์ไหมที่จะรู้ความจริง? หรือจะหลงว่าเป็น "เราเกิด" แล้ว "เราก็ตาย" และก่อนตายเราก็มีอะไรตั้งเยอะแยะ ถึงเวลาตาย ไหนล่ะของเรา? เพราะไม่มีเรา ก็มีของเราไม่ได้

ร่างกายนี้เป็นของเราหรือเปล่า? ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นของเราหรือเปล่า? หลงเข้าใจว่าเป็นเราและของเรามานาน แต่ความจริงก็คือตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า กระทบสัมผัสก็อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกทำลายเมื่อไหร่ก็ได้ แขนขาด ขาขาด ฟันหัก ทุกสิ่งทุกอย่าง ไหนล่ะ "เรา" ไหนล่ะ "ของเรา" เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วก็จะทำให้ค่อยๆ ละคลายความติดข้อง ซึ่งนำความทุกข์มาให้

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล และสมาชิกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ และสมาชิกชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้สนใจศึกษาพระธรรมวินัย
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
panasda
วันที่ 28 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จิตโอภาส
วันที่ 28 พ.ค. 2561

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพยิ่ง และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 30 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 30 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 3 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่วันชัย ภู่งาม กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chvj
วันที่ 28 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ