ร่างทรงองค์เจ้า มอมเมาประชาชน
"ร่างทรง" คืออะไร ร่างทรงในความหมายของคนทั่วไป ก็คือ บุคคลที่สามารถจะรับจิต วิญญาณของผู้อื่นที่จากไปแล้ว หรือ จากจิตวิญญาณของผู้อื่นที่เป็นเทพ เทวดา มาสิงสถิตอยู่ในร่างกายของตนเองได้ จากคำถามที่ว่า แล้วในความเป็นจริงแล้ว ร่างทรงเป็นอย่างไร มีได้ไหม ได้เพราะเหตุใด ไม่ได้เพราะเหตุใด
ซึ่งในความเป็นจริงที่เป็นสัจจะตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น จิตของแต่ละคนก็ของแต่ละคน ไม่มีใคร หรือ ไม่มีจิตของคนใดมาสิงสถิตอยู่ที่ร่างกายของคนอื่นได้เพราะ ความจริง คือ จิตเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยงเลย จิตเกิดที่ไหน ดับที่นั่น จึงไม่มีจิตที่เที่ยง ยั่งยืน จะมาอยู่สิงในร่างกายของคนอื่นได้ แต่จิตคนนั้นย่อมไหวไปได้ เพราะ การกระทำบางอย่างของอมนุษย์นั้น
ร่างทรงมีอำนาจวิเศษรู้ว่าใครเกิดเป็นใคร และ ตัวเองมีใครมาประทับในร่างทรง? พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้อบรมฌาน ได้อภิญญา ได้ฤทธิ์ จึงจะรู้จิตผู้อื่น รู้การเกิดของบุคคลใด และ การจะได้ฌาน ผู้นั้นจะต้องเริ่มจาก มีปัญญาเห็นโทษของกาม รูป เสียง กลิ่น รส ความติดข้องในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ร่างทรงที่อ้างว่ารู้สิ่งต่างๆ ได้ฌาน แต่ ตัวเอง ยังยินดีในของที่เขาให้ ยินดีในสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ได้เห็นโทษของความติดข้องในชีวิตประจำวัน เหตุไม่สมควรกับผล ไม่ต้องกล่าวถึงฌาน หรือ เหตุให้ได้ฌาน ที่ต้องเป็นเหตุที่ดี แม้ความมีศีลก็ไม่มี เพราะโกหก หลอกลวง ผิดศีลข้อที่ 4 เป็นต้น
ร่างทรงองค์เจ้า มีอำนาจ รักษาโรค เป็นต้น..พระพุทธเจ้า ผู้เลิศที่สุด ยังไม่สามารถรักษาโรคคนอื่นๆ ได้ เพราะ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน และ แม้ตัวร่างทรงเอง ก็ไม่พ้นจากกรรม ไม่พ้นจากโรค จึงไม่มีใครที่มีอำนาจเหนือกรรม แก้กรรม
คนที่ยักษ์เข้าสิงตามพระไตรปิฎกแสดงไว้ คือ คนที่ไม่มีศีล คนไม่ดี คนดี ยักษ์ อมนุษย์ไม่เข้าสิง
ข้อความในพระไตรปิฎก
สานุสามเณร ถูกยักษ์เข้าสิง เพราะ ไม่มีศีล เพราะฉะนั้น ถ้าร่างทรงอ้างว่ามีอะไรมาเข้าสิงได้ ก็ชื่อว่า เป็นคนไม่ดี ไม่มีศีล
[๘๑๕] ครั้งนั้นแล อุบาสิกานั้นได้ปริเวทนาการกล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า ฉันได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดี ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น บัดนี้ฉันเห็นในวันนี้ ยักษ์เล่นกับสามเณรสานุ.
พระพุทธเจ้าทรงห้าม และ ติเตียนอาชีพที่ผิด หลอกลวงชาวบ้าน คือ การทรงเจ้า เป็นต้น
ข้อความบางตอนจาก
พรหมชาลสูตร
(๒๔) ๖. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ... เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหมร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ. ฯลฯ
การเข้าทรง จึงเป็นเรื่องของความไม่รู้ และเป็นการเพิ่มความไม่รู้กับผู้เสพคุ้นและเพิ่มความสงสัยให้กับผู้พบเห็น พระพุทธองค์ทรงติเตียนการกระทำเหล่านั้นคือการเป็นหมอทรงเจ้า เพราะไม่ใช่ปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส กลับเป็นการเพิ่มกิเลส เพิ่มความไม่รู้กับผู้ทำเองและผู้เสพคุ้นด้วย อันเป็นติรัจฉานวิชา คือ วิชาที่ทำให้กั้นสวรรค์ คือไม่สามารถไปสุคติภูมิได้ และกั้นมรรค ผล คือไม่สามารถบรรลุได้เลยเพราะเป็นความไม่รู้
การกล่าวความจริงที่เป็นสัจจะจึงไม่ใช่การลบหลู่ แต่ประโยชน์คือความเข้าใจพระธรรมที่เป็นความเห็นถูกอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของตนและผู้อื่น
อำนาจที่วิเศษจึงไม่ใช่การเดาใจหรือรักษาคนหาย แต่อำนาจวิเศษที่สูงสุง คือ พระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าที่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ อันมีปาฏิหาริย์สามารถทำให้ผู้ป่วยทางใจที่ไม่รู้ มีปัญญาขึ้น จนสามารถดับกิเลสหมดอันเป็นสิ่งที่ยากแสนยากกว่าโรคทางกายนั่นคือรักษาโรคใจ