อยากศึกษาปริยัติและวิปัสสนา
อยากศึกษาปริยัติและวิปัสสนา อยากมีอาจารย์ที่เก่งจริงคอยแนะนำอย่างใกล้ชิด เคยทำสติปัฏฐาน 4 แบบยุบหนอพองหนอแต่ก็ยังสับสน และไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ เท่าที่อ่านประวัติพระบางรูปที่ท่านได้เจออาจารย์ที่ดี ทำให้ท่านได้ปฏิบัติได้บรรลุเร็ว เปรียบเสมือนดอกเตอร์สอนปริญญาตรี กับ ป.6 สอน ป.1 ไม่ทราบว่าพอจะมีคำแนะนำหรือไม่ครับ
หากเป็นการไม่สมควรก็ขอโปรดให้อภัยและอโหสิกรรมให้ด้วยครับ
การศึกษาปริยัติธรรมและการอบรมเจริญวิปัสสนาเป็นเรื่องละเอียด ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา รวมทั้งข้อความในอรรถกถาที่ขยายความด้วยจึงจะตรงและถูกต้องตามพระธรรมคำสอน อีกอย่างหนึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าจะต้องมีอาจารย์คอยควบคุมอย่างใกล้ชิดอย่างที่กล่าว แต่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจของผู้ที่ปฏิบัติ ถ้าหากผู้ปฏิบัติไม่มีปัญญาคือความเข้าใจธรรมะเลย แม้มีพระอรหันต์อยู่ใกล้ๆ ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ดังนั้นควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้องก่อนที่จะไปทำอะไร เพราะถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วจะปฏิบัติอะไรสติปัฏฐานคืออะไร สติปัฏฐานรู้อะไร ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานคืออย่างไร
ก่อนอื่นต้องทราบว่า ธัมมะคืออะไร อยู่ที่ไหน และคำทุกคำที่กล่าวถึงก็ต้องรู้ก่อนว่าหมายถึงอะไร ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการคิดไปเองต่างๆ นานา เช่น ปริยัติธรรม ก็ต้องรู้ว่าคืออะไร หรือ วิปัสสนาคืออะไร ก่อนเสมอ จึงจะสามารถศึกษาและทำความเข้าใจได้ ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธัมมะ เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง จึงควรศึกษาและพิจารณาคำสอนด้วยความรอบคอบ ค่อยๆ เข้าใจพระธรรมทีละน้อย ไม่ควรรีบร้อนที่จะรู้เร็วๆ ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นเหมือนการจับด้ามมีด ที่เราไม่สามารถมองเห็นการสึกได้อย่างชัดเจน จึงต้องฟังเพื่อให้เข้าใจพระธรรมจริงๆ
ใจเย็นๆ ครับ คุณวิทชรา ความรีบร้อนอยากได้ผลเร็ว จะโน้มนำให้ผู้นั้นปฏิบัติผิด ใครจะบรรลุขั้นไหนไม่ต้องสนใจ ใส่ใจ สำคัญที่ความรู้ความเข้าใจของเราดีกว่า ศึกษาธรรมจากกระดานสนทนานี้ก็ได้ ให้ดูที่หัวข้อ หรือ กระทู้ที่ผ่านมา คำตอบของคำถาม มีอยู่แล้ว
ปริยัติ คือ การศึกษาเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป นิพพาน คือ ศึกษาพระไตรปิฏกโดย ละเอียดพร้อมกับการศึกษาตัวจริงของธรรมะ ที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปริยัติต้องเพื่อปฏิบัติและปฏิเวธ ปริยัติต้องเริ่มด้วยการฟัง อ่านศึกษา สนทนาพระธรรม ตามคำสอนจนเป็นปัญญาความรู้ของตัวเอง และปฏิบัติจะเกิดเองตามความรู้ความเข้าใจนั้น มิใช่ต้องทำตามๆ กัน ทำเหมือนๆ กัน หรือมีวิธีพิธีทำตามผู้อื่นบอกให้ทำ