ไวยาวัจกร
เรียนถามค่ะว่า ไวยาวัจกร มีหน้าที่ทำอะไรคะ เท่าที่ทราบคือ จัดการเรื่องการเงิน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ทำอะไรบ้าง และใครเป็นผู้แต่งตั้งไวยาวัจกร และในสมัยพุทธกาล มีไวยาวัจกรหรือไม่ ถ้าไม่ถวายเงินแก่ภิกษุ สามารถให้เงินแก่ไวยาวัจกรได้หรือไม่คะ ภิกษุสามารถบอกไวยาวัจกร ในสิ่งที่ขาดเหลือและจำเป็นจริงๆ ได้หรือไม่คะ
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ ๘๖๒
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส, มนุษย์เหล่านั้น ย่อมมอบหมายเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้กระทำในสิ่งที่เหมาะควร) ทั้งหลาย สั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควรถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเงินและทองนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะ (สมควร) จากเงินและทองนั้น, ดูกร ภิกษุทั้งหลาย! แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ "
ไวยาวัจกร คือ ผู้ขวนขวายทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุทั้งหลาย หรือ เรียกว่า กัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้กระทำในสิ่งที่เหมาะควร) ก็ได้ ไวยาวัจกรเป็นคฤหัสถ์ ผู้เห็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกเกื้อกูลต่อพระภิกษุ เป็นผู้เสียสละที่จะทำประโยชน์จริงๆ และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรมวินัยด้วย ไวยาวัจกร อาจจะเป็นบุคคลผู้ที่ผู้อื่นมอบหมายให้ทำหน้าที่ หรือ อาจจะเป็นผู้ที่เคยเป็นเพื่อนของพระภิกษุมาก่อน ที่จะมุ่งทำประโยชน์ต่อพระภิกษุและเป็นไปตามพระธรรมวินัย เป็นต้น หากอยู่ตรงนั้น พระภิกษุก็สามารถแสดงต่อคฤหัสถ์ได้ว่าผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของพระภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าไวยาวัจกร ไม่ได้อยู่ตรงนั้น หากคฤหัสถ์ถามหาไวยาวัจกร พระภิกษุก็สามารถบอกได้ว่าไวยาวัจกรอยู่ ณ ที่ใด ไวยาวัจกร มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นเรื่องของสภาพจิตที่ดีงามที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลต่อพระภิกษุทั้งหลาย
เงินทองไม่ควรแก่พระภิกษุโดยประการทั้งปวง จะรับเองก็ไม่ได้ ให้ผู้อื่นรับแทนก็ไม่ได้ ยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ก็ไม่ได้ รับเพื่อผู้อื่นก็ไม่ได้ รับเพื่อส่วนรวมก็ไม่ได้ หากมีคฤัสถ์ถวายเงิน ภิกษุต้องปฏิเสธโดยประการทั้งปวง ว่า ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง แต่ไม่ใช่ว่าบอกให้เอาไปฝากไว้กับไวยาวัจกร เพราะจะบอกให้คนอื่นรับไว้ให้ ก็ไม่ได้ หรือ แม้แต่ รับแล้วบอกว่าตนเองไม่ยินดีแล้วให้ผู้อื่นไป ก็ย่อมผิดพระวินัยตั้งแต่แรกที่รับแล้ว
คฤหัสถ์ผูฉลาดในพระธรรมวินัยจะไม่ถวายเงินทองแก่พระภิกษุ แต่จะถวายสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เท่านั้น หรือ ถ้าประสงค์ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยที่ไม่ได้ทำให้พระภิกษุผิดพระวินัย ก็สามารถถามหาไวยาวัจกรแล้วมอบเงินไว้กับไวยาวัจกร แล้วค่อยไปกราบเรียนพระภิกษุว่าหากพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งที่เหมาะควรแก่สมณะ ก็ขอให้เรียกเอาจากไวยาวัจกร ไวยาวัจกรจะเป็นผู้จัดหาสิ่งที่เหมาะควรถวาย เช่น จีวร เป็นต้น อย่างนี้ก็ย่อมจะกระทำได้ หรือ มอบหมายให้ไวยาวัจกรจัดหาสิ่งที่เหมาะควรถวายแก่พระภิกษุได้เลย พระภิกษุยินดีในสิ่งที่เหมาะควรจากเงินนั้นได้ ไม่ผิดพระวินัย แต่ถ้าที่ใดไม่มีไวยาวัจกร ก็คือ ไม่มี, คฤหัสถ์ก็สามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่ไม่ถวายเงินแก่พระภิกษุ
เงินทอง ไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง เพราะผู้มีอัธยาศัยที่จะบวชเป็นพระภิกษุจะต้องสละทรัพย์สมบัติก่อนแล้วจึงบวช เมื่อบวชเข้าไปแล้ว จึงไม่สามารถรับเงินและทองได้ ซึ่งจะต้องมีกิจที่สำคัญคือ ประพฤติตามพระวินัย และจะต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจด้วย เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง
ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้ภิกษุรับและยินดีในเงินและทอง ถ้าภิกษุรูปใดรับเองก็ดี ให้คนอื่นรับแทนก็ดี ซึ่งเงินและทอง และยินดีในเงินและทองที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ต้องสละเงินนั้นก่อน จึงจะปลงอาบัติและพ้นจากอาบัติดังกล่าวได้ ถ้าประมาท ไม่สละแล้วปลงอาบัติ เป็นผู้มีอาบัติติดตัวอยู่ ถ้าหากมรณภาพไป ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไม่ว่าจะบวชนานหรือไม่นาน ก็ตาม
ความเข้าใจพระวินัยก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลมากทั้งผู้ที่เป็นคฤหัสถ์และพระภิกษุ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...