ขอนำเสนอหัวข้อโครงการสำหรับกิจกรรมในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของนักเรียนและเยาวชนแทนการบวชภาคฤดูร้อน
จากที่ได้ดูและฟังการสนทนาพิเศษเรื่องสามเณร ที่บ้านคุณจักรกฤษณ์ เจนเจษฎา อาจารย์อรรณพ ได้เสนอหัวข้อกิจกรรมแก่เด็กนักเรียนและเยาวชนแทนการบวชภาคฤดูร้อนว่าจะจัดตั้ง "ค่ายใจดีทำดี" แทนการส่งเสริมให้เด็กไปบวชสามเณรภาคฤดูร้อน เพราะเป็นสิ่งที่มีหลายอย่างผิดพระธรรมวินัย อยากทราบว่าตอนนี้ได้ดำเนินโครงการอะไรไปบ้างแล้วครับ พอดีผมอยากจะนำเสนอหัวข้อให้ดูสมบูรณ์ขึ้นหน่อยเป็น "ค่ายใจดีทำ (ธรรม) ดี" ทางมูลนิธิจะคิดเห็นอย่างไรครับ ในความคิดส่วนตัวของผมอยากให้มีคำว่า ธรรม/ธัมมะ อยู่ในชื่อโครงการด้วยน่ะครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
"ถ้าใครคิดถึงเยาวชน ก็ให้เยาวชนมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาสิ่งที่ผิดๆ ไปให้ลูกหลาน เรามีโรงเรียนสอนหลักสูตรวิชาการต่างๆ พอโรงเรียนปิดแล้วลูกหลานจะทำอะไร พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็แล้วแต่ความพอใจของลูกหลาน เขาอาจจะพอใจตามแบบของเขา ไปเล่นดนตรี ไปว่ายน้ำ ไปเรียนพิเศษอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าห่วงถึงความเป็นคนดีข้างหน้าของเยาวชน แทนที่จะไปบวช ก็แนะนำให้ทำสิ่งที่ดีได้ไหม แทนการบวช
ในสมัยก่อนเรามีลูกเสือ ยุวนารี ทำอะไรกันบ้าง แต่ละยุคสมัยก็เปลี่ยนไป กาลสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ สมัยนี้มี “ค่ายใจดีทำดี” ดีไหม? เพราะว่าชัดเจนกว่า “ค่ายคุณธรรม” ซึ่งก็ต้องมานั่งอธิบายกันอีกว่า ธรรมคืออะไร คุณธรรมคืออะไร สำหรับคนไทยเข้าใจภาษาไทยชัดเจนกว่า ภาษาอื่น ถ้ามี “ค่ายใจดีทำดี” เด็กก็จะได้เรียนรู้ว่าใจดีเป็นอย่างไร ใจไม่ดี เป็นอย่างไร สอนให้เขาเข้าใจถูกต้องว่าอะไรดี อะไรไม่ดี และให้เขาทำดีทุกอย่าง ช่วยทำอะไรก็ได้ ช่วยชาวนาปลูกข้าว ช่วยขุดบ่อ ช่วยถมถนน เป็นการได้แรงงานที่ดี และเป็นการฝึกหัดที่ดีด้วย ทั้งความอดทน ทั้งความเสียสละ ทั้งการที่จะมีชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ค่อยๆ สอนให้เขาเป็นคนดีโดยไม่ต้องไปบวช ซึ่งไปบวชแล้วทำอะไร สามเณรที่บวชภาคฤดูร้อนทำอะไรกันบ้าง บุกป่าฝ่าดง ทำอะไร ไปหัดทุกข์ยากหรือ ทุกข์ยากจริงๆ ไม่ใช่ต้องไปอยู่ในป่าฝ่าดง ชีวิตจริงๆ นี่แหละทุกข์ยาก แต่ว่าสามารถที่จะเป็นคนดีฟันฝ่าความทุกข์ยากด้วยความประพฤติความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคงในคุณความดี ดีกว่าไหม คือ สอนให้เขาเข้าใจดี ชั่วว่าเป็นอย่างไร เป็นทางให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตจริงซึ่งเป็นธรรม โดยไม่ต้องใช้หลักสูตรยากๆ เอาเขาไปสวดมนต์ เมื่อไม่เข้าใจพระธรรมซึ่งเป็นภาษาบาลี การสวดมนต์ก็เป็นการพูดคำที่ไม่รู้จัก ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก"
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ผมคิดว่า คงทำได้ยาก หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย ในฐานะที่ผมอยู่วงการการศึกษามา 30 กว่าปี ร.ร.ที่เข้าโครงการ ร.ร.วิถีพุทธ ต้องเข้าค่ายปฏิบัติธรรมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แล้วจะเข้าโครงการร.ร.วิถีพุทธ เป็นส่วนใหญ่เพื่อพัฒนาผลงานของ ร.ร. และครู ผู้บริหารแทบทุกคน ต้องสนองนโยบายตรงนี้ แล้วต้องเกณฑ์นักเรียนไปบวชภาคฤดูร้อนทุกปี ถ้าไม่ได้ตามจำนวน ก็บังคับนักเรียน ฉะนั้นในฐานะที่ผมมีหน้าที่คอยอบรมสั่งสอนนักเรียน ผมใช้วิธีการสอนหลักธรรมควบคู่ไปในชั่วโมงเรียน ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร นั่นก็เป็น อนัตตา