การนั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่อริยาบถ แต่อยู่ที่สภาพจิตที่มีสติสัมปชัญญะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะอยู่อิริยาบถไหนก็ตาม โดยศัพท์ คำว่า ปฏิบัติ แปลว่า ถึงเฉพาะ ในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องการเจริญมรรคว่า มี ๒ ทาง คือ สัมมามรรค ๑ มิจฉามรรค ๑ สมาธิมี ๒ อย่างคือ สัมมาสมาธิ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑ ควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ อย่างถูกต้องเพื่อการเจริญ สัมมามรรคที่ถูกต้อง มิจฉามรรคเป็นทางผิดไม่ควรเจริญ เมื่อเจริญมิจฉามรรคย่อมมีโทษ ไม่มีคุณประโยชน์เลย
การปฏิบัติธรรมมีหลายอย่าง ตั้งแต่การเลี้ยงดูพ่อแม่ มีศีล ๕ ฯลฯ การศึกษาธรรมะ เข้าใจว่าปัญญาทำหน้าที่เอง ไม่มีเราทำหรือใครทำ และการเจริญสติปัฏฐานสูงสุดคือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน นี้คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
การปฏิบัติธรรม มีทั้งการเจริญสมถภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนา ขึ้นอยู่กับความเข้าใจถูก ว่าเราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน สมาธิ มีทั้งมิจฉาสมาธิและ สัมมาสมาธิ เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ การปฏิบัติมีทั้งการปฏิบัติถูก และการปฏิบัติผิด การตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว โดยไม่รู้ลักษณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล ก็ไม่ใช่การเจริญสมาธิ เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตา เจตสิกที่เกิดกับกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ