13 หมูป่าบวช ควรหรือไม่เพราะเหตุใด
13 หมูป่าบวช ควรหรือไม่เพราะเหตุใด
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึงคำใด ประโยคใด ก็ต้องเข้าใจถึงคำนั้น แต่ละคำอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เข้าใจ ว่าคำนั้นจริงหรือไม่ครับ บวช คือ อะไร บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวช
บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่) ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส นี่คือจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวชครับ ที่กล่าวมาจึงเป็นการแสดงถึงคำถามที่ว่า บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวชครับ
การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมาดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่มห่มที่ใส่) และที่สำคัญที่สุดคือ การบวชไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์ดับกิเลสครับ แต่ธรรมที่ทำให้ดับกิเลส ละกิเลสได้คือ สภาพธรรมที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งปัญญาไมไ่ด้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะต้องบวช เท่านั้นครับ แต่ปัญญาเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ดังนั้นปัญญาเกิดได้ โดยไม่จำกัดเพศ ว่าจะเป็นฆราวาส หรือ เพศบรรพชิต เพราะปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เกิดกับจิต จิตและเจตสิก จึงไม่ได้จำกัดที่จะเกิดที่เพศใด เกิดได้หมดทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้น เหตุให้เกิดปัญญา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่ง การศึกษาพระธรรม จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องบวชเท่านั้น แม้ฆราวาส ก็ศึกษาพระธรรม และอบรมปัญญาได้ ในสมัยพุทธกาล มีฆราวาสที่บรรลุธรรม เป็นพระอริยเจ้าขั้นต่างๆ จนถึงพระอรหันต์ดับกิเลสมากมาย เพราะท่านรู้อัธยาศัยของตน ว่ายังไม่ได้ถึงขนาดสละทุกอย่างได้ แต่ท่านก็อบรมปัญญาในเพศฆราวาสดับกิเลสได้ครับ
เพราะฉะนั้น จากคำถามที่ถามมา จึงเป็นที่น่าพิจารณาว่า ไม่มีความเข้าใจ ไม่รู้จักแม้คำว่าบวช ไม่ได้มีอัธยาศัยสละทุกสิ่ง บวชทำไม?
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แทนที่จะให้บวช ทำไมไม่มีการเกื้อกูลให้ทำความดี จริงๆ ถูกต้องจริงๆ ตามควรแก่วัยของเด็ก ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ได้แรงงานที่ดี เป็นประโยชน์ พร้อมทัั้งสอนให้รู้ว่า ดี คือ อย่างไร ชั่ว คือ อย่างไร เป็นต้น เป็นสิ่งที่ควรทำ และ ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย เพราะอะไรก็ตามที่เคยผิด เคยทำไปด้วยความไม่รู้ หรือ ทำตามๆ กันไปแบบผิดๆ ซึ่งไม่ทำให้มีความเข้าใจอะไรเลย ก็สามารถแก้ไขใหม่ได้ ตั้งต้นใหม่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นการดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ด้วย เพราะการบวชไม่ใช่เรื่องการชักชวนกัน หรือ แนะนำกันให้บวช โดยที่ไม่รู้ว่าบวชคืออะไร ภิกษุคือใคร สามเณร คือ ใคร แต่เป็นอัธยาศัยที่ผู้นั้นที่จะน้อมไปในเพศที่สูงยิ่ง คือ บรรพชิต ซึ่งจะมามีชีวิตเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ เช่น รับเงิน ไม่ได้, บริโภคอาหารหลังเที่ยง ไม่ได้, ดูหนังดูละคร ดูฟุตบอล ไม่ได้ ทำกิจการงานเหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้ เป็นต้น ที่สำคัญจะต้องศึกษาพระธรรม และประพฤติตามพระวินัย ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม และไม่ประพฤติตามพระวินัย อบายภูมิ รออยู่ข้างหน้าแล้ว ไปได้ง่ายมาก ผู้ที่แนะนำให้บวช ก็เป็นประหนึ่งว่าแนะนำให้เขาไปเกิดในอบายภูมิเลยทีเดียว เพราะอะไรก็ตามที่ทำไปด้วยความไม่รู้ จะถูกต้องไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เมื่อพูดถึงคำไหนก็ต้อง "รู้และเข้าใจคำๆ นั้นให้ถูกต้อง" ถ้าจะบวชต้องก็ต้องรู้ก่อนว่าบวชคืออะไร ภิกษุ-สามเณรเป็นใคร คำว่า บวช ความจริงมาจากคำว่า ปวช (ปะ-วะ-ชะ) หรือ ปัพพัชชา แปลว่าการสละ ซึ่งก็คือ สละและเว้นทั่วจากอกุศลธรรมทั้งหลายเพื่อมุ่งสู่การดับกิเลส และจะต้องมีข้อปฏิบัติ+สิกขาบทมากมาย ตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนด ทรงแสดงไว้ ถ้าไม่ประพฤติ ปฏิบัติตาม ก็จะเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ ขอเชิญเข้าไปอ่านหนังสือจะบวชหรือจะบาป,ภิกษุลามก อุบาสกจัณฑาลฯ และทำไมบวชของหมวดหนังสือในเว็บมูลนิธิ และเข้าไปศึกษารายละเอียดการสนทนาพิเศษในหมวดฟังธรรมเรื่องที่เกี่ยวกับการบวชในเว็บบ้านธัมมะ จะเข้าใจทุกอย่างครับ เช่นเรื่อง สามเณร การบวชตามพระธรรมวินัย ฯลฯ