ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  23 ก.ค. 2561
หมายเลข  29939
อ่าน  4,180

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพักย่านถนนประดิพัทธิ์ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๕.๓๐ น.

การสนทนาในครั้งนี้ มีความการสนทนาเรื่องหนึ่ง ที่คิดว่าควรที่จะได้นำมาบันทึกและเผยแพร่สำหรับท่านที่สนใจ เพื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในความละเอียดลึกซึ้งของความหมายของคำว่า "ศีล" ซึ่งเป็นคำที่ ฟังเผินๆ เหมือนเป็นคำธรรมดาๆ ที่ทุกคนคิดว่าเข้าใจแล้ว เพราะเหตุที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่?

เพราะเหตุว่า แม้ท่านที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนใจและศึกษาพระธรรมมานาน มีความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ทรงแสดงมากมายหลายประการ แต่อาจคิดไม่ถึง ถึงความสำคัญ ในความละเอียดลึกซึ้ง ของแม้คำว่า "ศีล" คือ อะไร? มีความเข้าใจจริงๆ ในความละเอียดลึกซึ้งของคำๆ นี้ มากน้อยประการใด จะป่วยกล่าวไปไยถึงปุถุชนคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ซึ่งก็ย่อมจะมีความคิดความเห็นที่ห่างไกลไปอีกมากมายนัก

เมื่อได้อ่านและพิจารณาข้อความการสนทนาที่ได้นำมาลงไว้ต่อไปนี้แล้ว จะพบว่า คำพูดที่ท่านผู้รู้ได้เมตตากล่าวเตือนอยู่บ่อยๆ ว่า "พระธรรมแต่ละคำ" นั้น ละเอียด ลึกซึ้ง อย่างยิ่ง เมื่อศึกษาธรรม จึงไม่เป็นผู้เผินและประมาท ควรศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ทีละคำ นั้น เป็นถ้อยคำกล่าวเตือนที่มีค่าอย่างยิ่ง ควรที่จะเก็บไว้ในหทัย เพื่อเตือนตนเองอยู่เสมอๆ เพราะเหตุว่า แม้เพียงคำว่า "ศีล" โดยทั่วๆ ไป ก็คิดว่าเป็นแต่เพียงความดีงามเท่านั้น และ เข้าใจผิดๆ ว่า ต้องรักษาศีล แต่ศีลคืออะไร? และ รักษาศีลด้วยความเป็นเรา หรือมีใครเป็นผู้รักษา?

นี่เป็นความละเอียดและลึกซึ้งยิ่งของธรรมะ และเป็นความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง ที่ไม่อาจละเลยได้ หาไม่แล้ว ความเข้าใจผิดแม้เพียงเรื่อง "ศีล" นี้เอง จะทำให้เป็นผู้ที่ "ห่างไกล" ออกไปจาก "หนทางของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม" ที่ได้ทรงตรัสรู้และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ เพราะความเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด จึงเป็นผู้ที่เดือดร้อนแล้ว ด้วยมานะ ด้วยความสำคัญตนว่ารู้ แต่ไม่รู้ (ว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่รู้!!) ทั้งๆ ที่ฟังมาบ่อยๆ ว่า เป็นผู้ศึกษาพรธรรมด้วยความเคารพ นอบน้อมในพระธรรม ด้วยความไม่ประมาท แต่ก็มักหลงลืม และละเลยคำเตือนนี้ เสมอๆ

คุณชานนท์ ผมก็ได้ยินได้ฟังมาว่า แม้ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าศึกษาไม่ดี ก็จะเหมือนเกิดความเข้าใจผิดว่า หลังจากเห็น ก็เกิดชวนจิต ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้ว ว่า จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แค่นี้ก็ถือว่า ศึกษาผิดทางแล้ว ใช่ไหมครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ คือ ใครจะพูดอย่างไรก็ตาม จะพูดสั้น พูดละเอียด พูดน้อย พูดมาก อย่างไรก็ตาม ความผิด ความถูก อยู่ที่ ตรง "ความเข้าใจ"

เพราะฉะนั้น เราจะพูดทีเดียวได้กว้างขวางหมดไหม? ก็มีอย่างคร่าวๆ หรือว่า อย่างละเอียด แต่ข้อสำคัญที่สุด ความจริง เปลี่ยนไม่ได้!! คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ค้านกันไม่ได้เลย!!

อย่างมีคนบอกว่า ถ้าจะมีปัญญาขัดเกลากิเลส ก็ต้องเริ่มจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ฟังดู ดีไหม? แต่ ... รู้ไหม? ว่า "ศีล" คือ อะไร? ฟังดูน่าเชื่อ ตามลำดับเสียด้วย!! แต่..ศีลคืออะไร? จะรู้ว่าศีลคืออะไร? ดีกว่าไหม? ดีกว่าไม่รู้แล้วเชื่อไปเลย และ "ทำศีล" หรือ? "รักษาศีล"??? หรือจะทำอะไรกัน?

คุณจรรยา กราบท่านอาจารย์ค่ะ ขออนุญาตนะคะ คือ ที่กล่าวคำว่า รักษาศีล เหมือนในพระไตรปิฎกใช้คำนี้จริงๆ เช่น บอกว่า รักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถ อะไรอย่างนี้ ทีนี้ ถ้าในฐานะของคนที่อ่านพระไตรปิฎก จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ได้อย่างไร?

ท่านอาจารย์ ทรงแสดงไว้หมดเลย ว่า ศีลคืออะไร เริ่มต้นด้วย ศีลคืออะไร และ พวกเดียรถีย์เขารักษาศีลหรือเปล่า? แล้วจะต่างกันอย่างไร?

คุณจรรยา แล้วมีคำอธิบายที่ว่า ศีล ๘ เป็นศีลที่ยิ่ง ก็คือ ไม่ใช่เฉพาะหมายถึงศีล ๕ ทีนี้ ถ้าความลึกซึ้งที่ควรจะเข้าใจ ควรจะเข้าใจอย่างไร? แค่ไหน? ที่ว่า ถ้าไม่รักษาศีล แล้วอย่างไร? ที่เป็นการรักษาศีล

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่า พวกเดียรถีย์เขาก็รักษา เราก็น่าจะรักษาด้วยสิ? หรือว่า พวกเดียรถีย์เขารักษาศีล ๘ อย่างเรา หรือศีล ๕ อย่างเรา แล้วเราก็รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ก็เหมือนกัน ต่างกันตรงไหน? เราก็เท่ากับไปรักษาศีลเดียรถีย์? เมื่อไม่รู้!!

คุณจรรยา คือ ตามความเข้าใจหนู ท่านอาจารย์กล่าวถึงวัตถุประสงค์สูงสุดของการศึกษาพระะธรรมก็คือ การดับกิเลสเป็นสมุทเฉท
ท่านอาจารย์ ด้วยอะไร?
คุณจรรยา ด้วยความเข้าใจธรรมะค่ะ
ท่านอาจารย์ ด้วยปัญญา ใช่ไหม?
คุณจรรยา ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ทุกคำของพระพุทธเจ้า ...
คุณจรรยา แต่ว่า สมมติ อย่างในบางกรณี ที่ท่านไปโปรดบุคคลที่กำลังจะสิ้นชีวิต แต่ท่านก็มองแล้วว่า ไม่สามารถที่จะทำให้หลุดพ้นได้ ท่านก็กล่าวแค่ ให้รักษาศีล ๕ ตรงนี้ สมมติ ถ้าเราไปได้ไม่ถึงสูงสุดของวัตถุประสงค์ของการศึกษาธรรมะที่แท้จริง เราเอาเบื้องต้นได้ไหมคะ (หัวเราะ)

ท่านอาจารย์ โดยมากก็จะเอาเพียงแค่ บางตอน บางส่วน แต่คิดหรือ? ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ให้เขาเข้าใจ?
คุณจรรยา แต่บางที เหมือนไปไม่ถึงค่ะท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ก็ใช่สิ เลยเหมือนคนธรรมดา ที่ไม่ได้ให้เข้าใจ!! แต่ให้รักษาศีล!!
คุณจรรยา คือ ถ้ารักษาศีลด้วยความเข้าใจ นี่แค่ไหนและอย่างไรคะ

ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ศีลคืออะไร?
คุณจรรยา ปกติ กาย วาจา ใจ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ศีลมีกี่อย่าง?
คุณจรรยา ศีลมีเยอะแยะเลยค่ะท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างค่ะ ยกตัวอย่าง
คุณจรรยา อะไรนะคะ?
ท่านอาจารย์ ศีลมีกี่อย่าง?
คุณจรรยา ศีลมีกี่อย่าง? ถ้าเท่าที่ทราบมาก็มีหลายนัยค่ะ
ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง?
คุณจรรยา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ อะไรอย่างนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์ เคยได้ยินคำว่า "อกุศลศีล" ไหม?
คุณจรรยา ค่ะ ได้ยิน แล้วก็มีในพระไตรปิฎกด้วยค่ะ
ท่านอาจารย์ คือ อะไร?
คุณจรรยา ก็คือ อันนี้ไม่ทราบค่ะ ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นต้นเหตุของการจะผิดต่อไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้!!
คุณจรรยา ท่านอาจารย์จะกรุณาขยาย

ท่านอาจารย์ ศีล ก็คือ ปกติของจิต เจตสิก เพราะว่า จิต เจตสิกเกิดแล้วก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ใช่ไหม? เกิดมา เป็นอะไร เป็นกุศล หรือว่า เป็นอกุศล ใช่ไหม? ไม่ใช่มีแต่กุศล

เพราะฉะนั้น เมื่อ ศีล คือ ความเป็นไปเป็นปกติ ของจิตและเจตสิก ขณะใดก็ตามที่มีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นไปกับเจตสิกที่เป็นกุศล ทั้งหมดก็คือ จิตและเจตสิก เป็น "อกุศลศีล" ไม่ใช่อย่างอื่นเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ไม่เป็นศีล ต้นไม้ใบหญ้าก็ไม่เป็นศีล แต่ จิต เจตสิก ต่างหาก ที่เกิดขึ้น เป็นไป ถ้าอกุศลเจตสิกเกิด จิตเป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นไปในอกุศล ทุกขณะที่เป็นอกุศลจิต จะกล่าวทางกาย ทางวาจา อะไร ก็ต้องเป็นอกุศลหมด เพราะ แสดงว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตา ธัมมา สรุป ธรรมะทั้งหมดก็ได้แก่ ๓ อย่างนี้ กุศล ๑ อกุศล ๑ ธรรมะที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ก็มี

เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก ก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ก็มี เพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมดนี้ น้อมไปสู่ความเข้าใจให้ถูกต้อง ตรง ว่า "ไม่ใช่เรา"

ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็ "เรารักษาศีล" เรารักษาได้ ๕ ข้อ เรารักษาได้ ๘ ข้อ อานิสงส์เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตอนตายจะได้ไปสวรรค์ เป็นต้น ใช่ไหม? แต่นั่นไม่ใช่การขัดเกลาความไม่รู้!! ยังมี "ความเป็นตัวตน" เพราะไม่รู้!! นี่คือความต่างกัน!!!

เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า "ศีล" จะรักษากุศลศีลเท่าไหร่ สมาทาน เท่าไหร่ก็ตาม ก็แล้วแต่ ที่เป็นพุทธศาสนาก็มี ที่ไม่ใช่พุทธศาสนาก็มี เพราะเป็น "สภาพจิต" ไม่ใช่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นกุศล ก็ไม่ใช่!!

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจละเอียด ในความเป็นอนัตตา ถ้าไม่เข้าใจ ทันทีเลย "อยากมีศีล" แล้ว รับรองได้ จึงรักษาด้วยความไม่รู้!! เพราะเข้าใจว่าดี ความเป็นตัวตนก็ต้องการสิ่งที่ดี ไม่มีทางที่จะหมด "ความเป็นเรา" ได้ เขาก็รักษาศีลเก่ง หนึ่งในล้านก็ได้ ใช่ไหม? ถ้าคิดเอาเอง

คุณหมอธงชัย กราบท่านอาจารย์ครับ พอดีท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องศีล คือ ขณะที่เห็นและเข้าใจใน "เห็น" ขณะนั้นมีคำพูดคำหนึ่งคือ "การสำรวม" การสำรวมนี้คือ ไม่ใช่เราที่สำรวม เป็นลักษณะของจิตและเจตสิกเขาสำรวม ไม่ใช่เรา ที่สำรวม ทีนี้ ถ้าสำรวมทางกาย วาจา และ ใจ มันต่างกันอย่างไรครับ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ว่า ใช่เราหรือไม่ใช่เรา
คุณหมอธงชัย แต่มันก็ไม่ใช่เราทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราก็คือจะเป็นเราได้อย่างไร ไม่ใช่เราก็ไม่ใช่เรา สงสัยอะไร? ก็เป็นจิต เจตสิก คุณหมอก็พูดเองเมื่อกี้นี้
คุณหมอธงชัย เปลี่ยนคำถามใหม่ เมื่อกี้บอกว่า ต่างกันอย่างไรใช่ไหมครับ ระดับ ดีไหมครับ? ระดับความที่ว่า เป็นกาย วาจา ใจ ที่ไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
คุณหมอธงชัย อย่างสมมติว่า เดินด้วยความรู้สึกสงบ พูดด้วยคำพูดที่ดีๆ วาจาไพเราะเพราะพริ้ง
ท่านอาจารย์ แล้วจิตเป็นอย่างไร?
คุณหมอธงชัย ตอนนั้น ถ้าจิตเป็นกุศล ก็ ... .
ท่านอาจารย์ ถ้าเสมอเลย เดี๋ยวก็ถ้านั่น ถ้านี่ ถ้าจิตเป็นอกุศล กาย วาจา เป็นกุศลได้ไหม? ดีงาม ได้ไหม?
คุณหมอธงชัย ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราพูดถึง จิต เจตสิก ค่ะ
คุณหมอธงชัย ความเป็นไปของจิตและเจตสิก
ท่านอาจารย์ ค่ะ ถูกต้อง

คุณนภา กราบท่านอาจารย์ค่ะ ถ้าเราไม่ได้มาฟังที่ มศพ. เราจะไม่เคยได้ยินว่า ...
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้
คุณนภา ค่ะ เราจะไม่เข้าใจเลยว่า ศีล แปลว่า ปกติ พอเราฟังมาในระดับหนึ่ง เราเข้าใจว่า ศีลเป็นความปรกติ อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทำไมทั่วไปเขาไม่พูดคำว่า ปกติ แล้วในพระไตรปิฎก มีคำที่กำหนดไว้มากกว่าปกติไหมคะ?
ท่านอาจารย์ ใครจะพูดอะไร คุณแอ๊วห้ามได้ไหม?
คุณนภา แอ๊วห้ามไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมจะสงสัย
คุณนภา สงสัยก็เพราะว่า ในเมื่อก็ศึกษาธรรมกันมากมาย แล้วทำไมเขาถึง ... คำนี้ในพระไตรปิฎกก็มีใช่ไหมคะ ว่า ศีลคือปกติ แต่ทำไมเขาถึงไป ถ้าแอ๊วไปพูดกับเพื่อนว่า ศีลคือปกติ เขาก็จะไม่เข้าใจ แล้วก็บอกว่า ในพระไตรปิฎกเขาเขียนไว้แล้วว่า เป็นการประพฤติที่ดีงาม แอ๊วก็อยากจะเรียนถามว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ คือ เขาจะมีคำถามแบบนี้มา

ท่านอาจารย์ อกุศลจิต หรือ กุศลจิต ที่ฆ่า?
คุณนภา อกุศลจิต
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เป็นศีลอะไร?
คุณนภา อกุศลศีล ก็ในเมื่อเป็นแบบนี้ ทำไมถึงไม่สอนกัน
ท่านอาจารย์ ใครจะพูดอะไร คุณแอ๊วห้ามได้ไหม?
คุณนภา แอ๊วก็เข้าใจว่าห้ามไม่ได้ แต่ว่า ...
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมไปสงสัยอะไร? เขาจะพูดอะไร เขาก็พูดได้
คุณนภา บางครั้ง สมมติว่าถ้าเกิดคนพูดเรื่องศีล ไม่ใช่พูดถึงเรื่องความเป็นปกติ พูดถึงเรื่องความเป็นธรรมะ มันก็ใช่นะ เหมือนกับดูงาม ดูดี
ท่านอาจารย์ หมายความว่า "เขาอ่านเพียงส่วนหนึ่ง" เท่านั้น!! ใน ๔๕ พรรษา!! ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ โดยละเอียดยิ่ง โดยประการทั้งปวง แต่เขาอ่านเพียงแค่นิดเดียว ส่วนหนึ่ง
คุณนภา แต่ว่า โอ้โฮ..มันมากมาย แล้วทำไมมีที่เดียว ที่พูดคำว่า "ปกติ" อะไรอย่างนี้ และพอฟังแล้ว เราก็เข้าใจได้ ว่ามีเหตุ มีผล

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มูลนิธิ "ศึกษา" และ "เผยแพร่พระพุทธศาสนา" ตรงไหม?
คุณนภา ตรงค่ะ แต่ว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีสำนักปฏิบัติธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาแล้ว ควรจะให้มีความเข้าใจถูก ประกาศคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้รู้ทั่วกัน คือ เผยแพร่ เพื่อประโยชน์!!
คุณนภา ถ้าเข้าใจคำว่าศีลดีจริงๆ การประพฤติ ปฏิบัติ ที่ต้องไปทำ จะต้องน้อยลงแน่ๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจ กิเลสลดลงได้ไหม?
คุณนภา ลดลงไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจนิดเดียว จะให้กิเลสลดลงมากๆ ได้ไหม?
คุณนภา ก็ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจมากขึ้น กิเลสก็ค่อยๆ คลายลงไปได้มากกว่านั้น ใช่ไหม?
คุณนภา ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมดา
คุณนภา ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด เราก็รู้ตัวเอง!! รู้อยู่แก่ใจ!! ว่าเราเป็นเพื่อนที่ดี หวังดีจริงๆ หรือเปล่า? ในการที่จะกล่าวทุกคำ ที่กล่าวไว้แล้วโดยละเอียดอย่างยิ่ง ในพระไตรปิฎก ให้คนอื่นได้พิจารณา ส่วนเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ จะคิดอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้

แต่เราก็ได้ทำในสิ่งที่ เกิดมาในหนึ่งชาติ มีโอกาสจะได้เข้าใจธรรมะไหม? เมื่อเข้าใจแล้ว ยังสามารถให้คนอื่นได้เข้าใจ ได้ไหม? แล้วจะทำไหม? ก็เท่านั้นเอง!!

คุณนภา แต่เราเปิดในกูเกิ้ล แล้วค้นหาคำว่า ศีลคืออะไร ในพระไตรปิฎก ก็กล่าวว่าเป็นการประพฤติ กาย วาจา ใจ ที่ต้องฝึกอบรม ให้อยู่ใน ... อะไรอย่างนี้ค่ะ กูเกิ้ลก็ตอบแบบนี้
ท่านอาจารย์ กูเกิ้ลเป็นใคร? (หัวเราะกันครืน!!!)

คุณนภา แต่เราอ้างว่า ในพระไตรปิฎก
ท่านอาจารย์ นั่นสิ กูเกิ้ลพูด เป็นกูเกิ้ล เพราะฉะนั้น กูเกิ้ลเป็นใคร?
คุณนภา (หัวเราะ) มันก็เลยยาก ที่จะพบคำที่จริงๆ อะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ คิดหรือ ว่าง่าย?
คุณนภา ก็ไม่ได้คิดว่าง่ายค่ะ
ท่านอาจารย์ ก็ยืนยันอยู่แล้ว ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองว่า ละเอียด ลึกซึ้ง ผิดได้ง่ายมาก เพราะอกุศลมีมาก เพียงต้องการลาภ ต้องการสรรเสริญ ต้องการยศ เท่านั้น ก็ผิดแล้ว!!
คุณนภา คิดถึงตรงนี้ ก็ เป็นบุญค่ะ ท่านอาจารย์ กราบอนุโมทนาค่ะ

ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้น ไม่มี บารมี ๑๐ สัจจบารมี ความจริงใจ ตรง ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่ใช่ของใครด้วย แต่ "ความจริง" เป็นอย่างนั้น!!

เพราะฉะนั้น ก็กล่าวคำจริง ความจริง และใครทรงตรัสรู้? ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไปเทียบเองสิ ท่านตรัสว่าอย่างนี้ แล้วเราก็ไปคิดเองอย่างอื่น พอท่านตรัสไว้อย่างนี้ เราไปคิดเองเป็นอย่างอื่น ใครเก่ง? แค่นี้ก็ไม่รู้แล้ว!!

คุณจรรยา ขอเพิ่มเติมเรื่องศีลอีกนิดนึงค่ะท่านอาจารย์ มันมีคำแปลคำว่าศีลว่า เป็นที่รองรับกุศลธรรมขั้นสูง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พูดถึงศีลประเภทไหน?
คุณจรรยา โลกุตรศีลหรือคะ? ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ศีลที่เป็นกุศลทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงอกุศลศีลเลย ก็ต้องรู้ว่า ตรงนั้นกล่าวถึงอะไร? แค่นี้ก็จะไปเอามารวมกันหมดแล้ว ก็ท่านแยกไว้แล้วไม่ใช่หรือ? ว่าอกุศลศีล เพราะฉะนั้น อกุศลศีลจะเป็นที่รองรับได้หรือ? ทุกคำต้องชัดเจน จะบอกว่า นี่ท่านกล่าวไว้ว่าศีลอย่างนี้ ก็ท่านไม่ได้กล่าวไว้หรือ? ว่าอกุศลศีลเป็นอกุศลศีล!!

คุณจรรยา ก็มีข้อความบางข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ศีลต้องคู่กับปัญญา
ท่านอาจารย์ ศีลอะไร?
คุณจรรยา ไม่ได้เอ่ยรายละเอียด..
ท่านอาจารย์ แปลว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอ่ย แล้วต้องเป็นศีลทุกประเภทหรือ? ในเมื่อได้ตรัสไว้แล้วว่า ศีลมีเท่าไหร่ มีอะไรบ้าง จะเอาอกุศลศีลมาเป็นบาทหรือ? ในเมื่อบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ ท่านตรัสไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ฟังต้องเข้าใจว่า ศีลนั้นจะเป็นบาทไม่ได้!!

คุณจรรยา ที่กล่าวว่า ศีลคู่กับปัญญา ท่านอาจารย์จะกรุณานิดหนึ่งได้ไหมคะ? ว่าที่เขียนในพระไตรปิฎกอย่างนี้ ความเข้าใจที่สมควรจะเข้าใจ ต้องเข้าใจว่าอย่างไร?
ท่านอาจารย์ พระไตรปิฎกทุกคำ เป็นคำของใคร?
คุณจรรยา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ทรงแสดงความจริงใช่ไหม?
คุณจรรยา ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร?
คุณจรรยา เพื่อขจัดกิเลส
ท่านอาจารย์ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะรู้ว่า สัตว์โลกเข้าใจเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่รักษาศีล ๕ เขามีปัญญาไหม? ถ้าบอกว่าคู่กับปัญญา

คุณจรรยา อย่างนั้น หนูถามใหม่นะคะ ศีลต้องคู่กับปัญญาไหม?
ท่านอาจารย์ ถามว่าศีลคืออะไรก่อน (แล้วจะรู้ว่า) คู่หรือไม่คู่
คุณจรรยา ถ้าเป็นกุศลศีลต้องคู่กับปัญญาไหม?
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศีลมีหลายระดับไหม?
คุณจรรยา หลายระดับค่ะ
ท่านอาจารย์ กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีไหม?
คุณจรรยา มีค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้ไหม?
คุณจรรยา ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศีลที่ไม่มีปัญญา มีไหม?
คุณจรรยา น่าจะมี
ท่านอาจารย์ ทำไม น่าจะ ...
คุณจรรยา มีค่ะ มี
ท่านอาจารย์ แล้วศีลนั้นจะนำไปสู่ปัญญาได้ไหม?
คุณจรรยา ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็เป็นที่รู้ที่เข้าใจอยู่แล้ว ว่าต้องเป็นศีลประเภทไหน? พระองค์ตรัสไว้แล้ว โดยทั้งหมดต้องมาประกอบกันให้ถูกต้อง คัดค้าน ไม่สอดคล้องกัน ไม่ได้เลย!! จะเอาอกุศลศีลมาคู่กับปัญญาหรือ?

คุณจรรยา อย่างนี้อาจจะเกิดความสงสัยอีกว่า ลักษณะของศีลที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอย่างไร?
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ต้องตามลำดับ ก่อนจะถึงคำถามอันนี้ ศีลคืออะไร?
คุณจรรยา ปกติ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลากุศลจิตเกิด ไม่มีปัญญาได้ไหม?
คุณจรรยา ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่าต้องมีปัญญาด้วยทุกครั้ง แต่เวลาเกิดปัญญา มีศีลไหม? เป็นศีลหรือเปล่า?
คุณจรรยา เป็นศีลค่ะ
ท่านอาจารย์ ก็เท่านั้น ทุกครั้งที่ปัญญาเกิด ก็ต้องเป็นศีล!!!

ดีกว่าตอบไหม? ให้คิดเอง ให้ไตร่ตรอง ให้เข้าใจ ตอบแล้วก็เท่านั้นเอง คนนี้ว่าอย่างนี้ คนนั้นว่าอย่างนั้น แต่ความจริงคืออะไร?
คุณจรรยา พอเวลาท่านอาจารย์ถามกลับ หนูกลัวว่าหนูตอบไม่ได้ (หัวเราะ)
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องการความจริง มีชาวนอร์เวย์คนหนึ่ง เขาไปหาที่บ้าน แล้วก็ให้หนังสือปรมัตถธรรมสังเขปเขาไป เป็นภาษาอังกฤษ เขาอ่านจบ มาหาอีกครั้งหนึ่ง จบแล้ว ขอให้ถามเขา มีสักกี่คน ไม่กลัวคำถามเลย ไม่กลัวเลย ขอให้ถาม เขาจะได้รู้ว่าเขาเข้าใจแค่ไหน

คุณจรรยา ที่เข้าใจก็เพราะที่ท่านอาจารย์ถามกลับค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ด้วยความหวังดีหรือเปล่า? ไม่ใช่ให้ตกใจ ไม่ใช่ให้คิดอะไร แต่รู้ว่าผิด ก็คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่าถูกคืออย่างไร? ไม่ใช่เขาบอกว่าถูกคือถูก ผิดก็ผิด อย่างนั้นไม่มีประโยชน์เลย ไม่ใช่เพื่อนที่ดี ไม่ใช่กัลยาณมิตร ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนนั้นเลย เพียงแต่หวังให้เขาเชื่อ ชักแม่น้ำทั้ง ๕ ต้องเป็นอย่างนี้ ศีลนี้อย่างไร ศีลคู่กับปัญญา ทำไมไม่ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ตามลำดับ ชัดเจน คัดค้านกันไม่ได้ ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด!!!

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

... ... ...

ขอเชิญคลิกชมคลิปการสนทนาธรรมบางตอนในวันนั้นจำนวน ๒๑ คลิป โดยต่อเนื่อง ได้ที่นี่ ... .


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปลากริม
วันที่ 23 ก.ค. 2561

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 23 ก.ค. 2561

เป็นโอกาสที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง ในการสนทนาครั้งนั้นท่านอาจารย์กรุณาอย่างยิ่ง กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนา ท่านอาจารย์ คุณจักรกฤษณ์คุณชฎาพร คุณวันชัย และทุกท่านที่ร่วมสนทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
napachant
วันที่ 23 ก.ค. 2561

กราบอนุโมทนาทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Selaruck
วันที่ 24 ก.ค. 2561

กราบเท้าท่านอาจารย์ กราบอนุโมทนากับทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chvj
วันที่ 30 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sam
วันที่ 5 ก.ย. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Lurdhavuth
วันที่ 30 ก.ย. 2561

ขออนุโมทนากับคนที่มีส่วนร่วมในการจัดทำสื่อ มากๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
anuraks168
วันที่ 9 ก.พ. 2562

ขอกราบอนุโมทนาครับ เรื่องศีล ผมเพิ่งเข้าใจวันนี้เองครับ เรื่องศีล จบครับ ขอกราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตน์ ผู้ทรงไว้ซึ่งคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kullawat
วันที่ 26 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ