ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๔
~ ถ้าพ่อแม่ของตนเอง ยังทำดีกับท่านไม่ได้ แล้วจะทำดีกับคนอื่นได้อย่างไร
~ ตอบแทนพระคุณของผู้มีพระคุณ ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น ไม่ใช่ตอบแทนด้วยการกระทำชั่ว กระทำในสิ่งที่ผิด
~ การที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ ฟังพระธรรม พิจารณาให้เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามในเพศของคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าเพศของบรรพชิตนั้นต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่จริงๆ สามารถที่จะสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด สละ คือ ไม่มีความติดข้อง ไม่ใช่ว่าเมื่อไปแล้วก็ยังติดข้องอยู่ นี่ต้องพิจารณาเห็นความต่างกันระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพราะฉะนั้นบรรพชิต จึงได้รับสักการะจากคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ไม่สามารถจะทำตามอย่างนั้นได้
~ ความเป็นภิกษุต้องเป็นความประพฤติที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกาย วาจา ใจในทางที่เป็นกุศล ต่างกับชีวิตของคฤหัสถ์มาก ถ้ามีความบกพร่องในเรื่องของความประพฤติที่ไม่ถูกต้องสำหรับเพศบรรพชิต ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแน่นอน เพราะเหตุว่าตั้งต้นก็ไม่ถูก และต่อไปจะถูกได้อย่างไร แม้แต่คฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าตั้งต้นไม่ถูก การที่จะไปถึงที่สุดของความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
~ วาระหนึ่งซึ่งมีการเห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงการเกิดดับของจิตอย่างละเอียดเพื่ออะไร? เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล (อนัตตา) โดยเข้าใจถูกต้องว่า ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้แล้วก็เกิดความยินดีพอใจขึ้น สภาพของจิตเห็นไม่ใช่จิตที่ยินดีพอใจ และก่อนที่จะเกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อน
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระธรรม คือ แสดงเรื่องของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยให้ปัญญารู้ ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมเกิดแล้ว โดยความเป็นอนัตตา โดยเหตุโดยปัจจัย ไม่ใช่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำ เพราะฉะนั้นปัญญาก็เพียงรู้ให้ถูกต้องตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีแล้วในขณะนี้
~ ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในวันนี้ ซึ่งยังไม่ได้ให้ ก็อาจจะสูญหายไปก่อนที่จะให้ก็ได้ เพราะว่าทรัพย์สมบัติก็ไม่เที่ยง หรือแม้แต่ตัวเราเอง ซึ่งยังไม่ได้ให้ทาน ก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น อาจจะสิ้นชีวิตไปก่อนที่จะให้ทานก็ได้ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของแม้ผู้ให้และผู้รับ และทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดกุศลที่จะช่วยสงเคราะห์บุคคลอื่น ด้วยการสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลนั้น ด้วยความรู้ด้วยความเข้าใจในขณะนั้น ก็เป็นปัญญาบารมี (ธรรม คือ ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ได้
~ ต้องอาศัยกาลเวลาในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) เมื่อเห็นกิเลสมากเท่าใดก็รู้ว่า จะต้องอาศัยกาลเวลานานมากทีเดียว กว่าที่จะขัดเกลากิเลสนั้นๆ ได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม และก็ไม่ขาดการที่จะพิจารณาตนเอง เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา และการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น
~ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับธรรมได้เลย ไม่ว่าอกุศลธรรมและกุศลธรรม บางกาลกุศลธรรมก็มีปัจจัยที่จะเกิดมาก บางกาลอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็มีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้นแม้ว่าในชาติหนึ่งจะเป็นผู้ที่ได้พยายามอบรมตน ฝึกตน ขัดเกลากิเลส แต่เมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ยังมีเชื้อที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็จะทำให้มีการกระทำซึ่งเป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ
~ สำหรับชีวิตของทุกท่านในขณะนี้ซึ่งกระดูกทุกชิ้นยังรวมกัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรที่จะทำประโยชน์ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้
~ ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่ได้พิจารณาพระธรรม ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ลองคิดดูว่า ชาตินี้ทั้งชาติจะจบลงอย่างไร ก็ต้องมีกิเลสที่หนาขึ้นๆ ทุกวัน แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟัง ละคลายความไม่รู้ อบรมเจริญกุศลทุกประการเพิ่มขึ้น ก็เป็นชาติที่มีประโยชน์ เมื่อกระดูกทุกชิ้นยังรวมกันอยู่ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรที่จะให้เป็นประโยชน์ในการที่จะได้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น
~ ถ้าวันนี้ไม่พิจารณาเลยในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าไม่ดี ต่อไปก็จะต้องทำอีกแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีการขัดเกลาตนเองเลย แต่ผู้ที่จะละคลายกิเลสจริงๆ ต้องการที่จะดับจริงๆ ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะ คือ มีความเพียรที่จะเห็นอกุศลของตนเอง
~ ชีวิตประจำวันทั้งหมด จะสังเกตได้ว่า ทุกคนจะต้องมีอกุศลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด วันหนึ่งวันใด เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดก็ตาม ขณะที่ไม่จริงใจ และเสแสร้งแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่งที่ได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลอย่างมาก อย่างละเอียด เพื่อที่จะให้แต่ละบุคคลได้พิจารณาเห็นโทษและละคลาย จนกว่าจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ได้จริงๆ
~ เรื่องของกิเลสมีมาก และกิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานของกิเลส กิเลสจะทำกิจการงานของกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น กิเลสเกิดขึ้นขณะใดก็ทำกิจของกิเลสขณะนั้น
~ โลกมืด เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แม้ในครั้งพุทธกาล โลกก็สว่างเฉพาะพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและอริยสัจจธรรม
~ สภาพธรรมไม่มีใครไปจัดสรร หรือว่าจะไปทำอะไรได้เลย เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น
~ สิ่งใดที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อพระรัตนตรัย จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะไม่ส่งเสริม
~ เมตตาก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรมจริงๆ แล้วก็จะรู้ได้ว่า ถ้ายังคงมีอกุศลมากมาย การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนี่ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเพื่อประโยชน์อันแท้จริง
~ คนเราก็ต่างกันไป แต่ว่าทุกคนสามารถจะอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ละคลายกิเลสได้ ไม่ควรที่จะท้อถอย หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก (จนไม่สามารถอบรมได้) แต่เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตามตามความเป็นจริง ไม่รีบร้อน ไม่ฮวบฮาบ เพราะเหตุว่าเรามีอวิชชามากมายเหลือเกินในแสนโกฏิกัปป์ แล้ววันนี้เราจะให้หมด เป็นไปได้ไหม? หรือว่าเดือนนี้ ปีนี้ ชาตินี้ เราจะดับกิเลส? เป็นไปไม่ได้เลย
~ เวลาที่ทำกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วระลึกขึ้นมาได้ในภายหลัง จะไม่เดือดร้อน
~ เราไม่เบียดเบียนเขา แต่อกุศลจิตของเขายังคิดร้ายต่อเรา เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องเห็นโทษของกิเลส ตราบใดที่เขาไม่เห็นว่าอกุศลของเขาเป็นโทษ เขาก็ยังโกรธเรา ยังไม่ชอบเราอยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่ใจของเราไม่ได้ทำร้ายเขาเลย นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า จิตต่างกัน เราเมตตาเขาได้ แต่เขาจะเมตตาเราหรือเปล่า แล้วแต่การสะสมของเขา เราไม่เบียดเบียนเขา แต่เขาจะคิดเบียดเบียนเราหรือเปล่า นั่นก็เป็นเรื่องจิตใจของเขา
~ บุคคลใดทำกรรมอย่างใด ต้องได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ช้าหรือเร็ว ไม่ใช่กรรมของคนอื่นจะมาให้พ่อ ให้แม่ ให้ลูก ให้ญาติ ให้พี่น้อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย
~ เขาก็มีอกุศลจิต เราก็มีอกุศลจิต ถ้าใครยังโกรธใครอยู่ หรือไม่ชอบใครก็ตาม ขอให้คิดเสียว่า เราจะเห็นเขาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็จะไม่เห็นกันอีก เพราะฉะนั้นจะทำอะไร เมื่อเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้ายแล้ว จะทำดีหรือจะทำชั่วต่อกัน
~ กิเลส ทำหน้าที่ของกิเลส คือ โลภะ ก็มีกิจหน้าที่ของเขา คือ ติดทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแล้วก็ชอบอยากได้ ได้ยินเสียงก็ติดข้อง มีความยึดมั่นไม่สละ นั่นคือกิจของโลภะ ถ้าโทสะก็เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ขณะใดที่เกิดขึ้น เขาก็แข็งกระด้าง ขุ่นเคือง ทำร้ายทำลายทุกอย่าง นั่นคือลักษณะของโทสะ
~ ภัยอย่างยิ่ง (คือ กิเลส) อยู่ใกล้ที่สุดคืออยู่ในจิตนี่เอง ซึ่งทำลายอยู่ทุกขณะ เป็นภัยที่นำมาซึ่งภัยภายนอก ถ้าภัยภายในไม่มี ภัยภายนอกก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าภัยภายนอกเกิดจากการกระทำทุจริตทั้งหมด จึงมีการที่จะได้เห็น ได้ยิน ในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นต้น
~ สิ่งที่ควรกลัว คือ ความชั่วทั้งหลาย ไม่ใช่ความดี
~ คุณ ก็คือ ความดี และทุกคนก็ชื่นชมความดี ไม่ว่าใครทำทั้งนั้น เด็กเล็ก ที่กล่าวว่า เขา คิดถึงแม่ ไม่ใช่เฉพาะวันแม่ แต่คิดถึงแม่ทุกวัน เห็นไหมว่า จะต้องคิดถึงคุณความดีของแม่ ทุกวัน ป้อนข้าว ป้อนน้ำ พาไปโรงเรียน ทุกอย่าง นั่นคือคุณความดีของแม่ทุกวัน เพราะฉะนั้น แต่ละคำก็ต้องรู้ว่า ถ้าไม่รู้คุณจริงๆ ใครจะกล่าวคำนั้นได้ในบรรดาเด็กทั้งหลายมีเด็กคนไหนที่บอกว่ารู้คุณของแม่ไม่ใช่วันเดียว แต่รู้คุณของแม่ทุกวัน เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชน รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แค่ไหน?
~ ใครเป็นผู้ที่มีกรุณามากที่สุด? พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ เพราะถ้าไม่ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ ก็คงจะไม่มีการทรงแสดงธรรม ไม่มีข้อความที่จดจำสืบต่อกันมา จนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎกให้บุคคลรุ่นหลังได้รู้ว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมที่จะทำให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร
~ ที่กล่าวว่า เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ก็ต้องเคารพทุกคำที่เป็นวาจาสัจจะ (คำจริง) ที่พระองค์ทรงแสดง ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง เริ่มตั้งแต่คำว่า ธรรม, ธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เช่น แม้ความขุ่นเคืองใจเพียงเล็กน้อย ก็เป็นความขุ่นเคืองใจ เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เป็นต้น
~ ผู้รู้คุณความดี จึงทำดี สะสมความดียิ่งขึ้น แต่ที่กระทำชั่ว ก็เพราะไม่รู้คุณของความดี
~ ปัญญาไม่ได้นำไปสู่ความชั่วร้าย แต่ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล เพิ่มขึ้น.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๓
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...