สมาธิ

 
kullawat
วันที่  20 ส.ค. 2561
หมายเลข  30009
อ่าน  1,529

เรียน วิทยากร

ก่อนที่จะศึกษาธรรมะ ก็จะเข้าใจว่าการนั่งสมาธิสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เมื่อศึกษาแล้ว พบว่ามีพระอรหันต์หลายรูปที่ท่านบรรลุโดยไม่ได้นั่งสมาธิ เช่น พระสารีบุตร ขณะถวายงานพัด และพระอานนท์ขณะล้มตัวนอน เพื่อความแตกฉานในความรู้นี้ไม่ทราบว่า มีพระอรหันต์ท่านอื่นใดอีกที่บรรลุโดยไม่ได้นั่งสมาธิ

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ส.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้ที่บรรลุธรรมโดยไม่ได้นั่งสมาธิ มีมากมาย เพราะ การบรรลุธรรมด้วยวิปัสสนา ไม่ใช่ด้วยการเจริญสมถภาวนา ซึ่งตัวอย่างของผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ก็เช่น ท่านพระพาหิยะ ดั่งข้อความในพระไตรปิฎก ครับ

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ 127-128

พาหิยสูตร

ว่าด้วยการตรัสถึงที่สุดแห่งทุกข์

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟ้ง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใดท่านไม่มีในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์

ลําดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพาหิยทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป


โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรมให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ดังนั้นเรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คืออย่างไรครับ

สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส ส่วนสมถภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะสมถภาวนาและวิปัสสนานั้นเป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือหนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงและไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌานแต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนาได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรมโดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือไม่ แต่ท่านฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสมการเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไมใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลยครับ

ดังนั้น ประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่าต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่าสมถะ กับ สมถภาวนา นั้นต่างกัน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของสมถะและวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลสคือวิปัสสนานั่นเองครับ คำถามมีว่ามรรคมีองค์ 8 มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือมีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือมีทั้งองค์ธรรมของสมถะและมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ 8 ตามที่กล่าวมา มีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้าแสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี 2 อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน 6 ประการหลังคือ สัมมาวาจา ... สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรคอย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วยคือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

จะเห็นนะครับว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิดที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่าจะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่าธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไมได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในขณะที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของสติและปัญญาเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ดังเช่น อริยมรรคมีองค์ 8 สำคัญคือ เริ่มที่ สัมมาทิฏฐิ ก่อน คือ ปัญญา ความเห็นถูก หากมีสมาธิดีแต่ไม่ไ่ด้เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ไม่มีปัญญาที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาได้เลย ดังนั้นการเจริญวิปัสสนาที่ดีได้ ไม่ใช่อยู่ที่สมาธิ แต่อยู่ที่ปัญญาครับ และผู้ที่ไม่ไ่ด้เจริญสมถภาวนา หรือ ไม่ได้ฌาน แต่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว และได้บรรลุธรรมมีมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งขณะที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นได้ฌานไม่ได้ ต้องเป็นขณิกสมาธิเสมอ คือ สมาธิชั่วขณะ ครับ ดังนั้นปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่สมาธิครับ

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 206

สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ไม่ได้สมาธิไม่ได้เอกัคคตาจิตมากกว่าโดยแท้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 20 ส.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ส.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด

สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรม แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดในหนาแน่นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว ที่ดีที่สุด ควรที่จะได้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kullawat
วันที่ 21 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
doungjai
วันที่ 25 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 26 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 28 ส.ค. 2561

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือการฟังธรรมแล้วเข้าใจ ความเข้าใจเป็นปัญญาขั้นการฟังที่ละความไม่รู้ ต้องฟังจนกว่าจะมั่นคงจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะไม่ใช่เราค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 29 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ