ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๘
~ ถ้าไม่มีพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สัตว์โลกไม่มีทางที่จะพ้นจากความมืดบอดเพราะไม่รู้ความจริง คิดเอาเองว่าสบายใจเมื่อไหร่ก็สงบเมื่อนั้น ไม่สบายใจเมื่อไหร่ก็ไม่สงบ แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น สิ่งที่ชาวบ้านคิด ไม่ใช่สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
~ ชอบที่จะให้สบายใจ ชอบที่จะให้สงบ ขณะนั้นเดือดร้อน เพราะแสวงหาที่จะให้สงบ ก็ไม่รู้
~ สงบจริงๆ คือ ทุกขณะที่จิตผ่องใส ปราศจากอกุศล
~ ต้องการความสงบโดยไม่รู้ว่าความสงบคืออะไร แล้วยังแสวงหา ลำบากไหมตอนแสวงหา จิตใจสงบหรือเปล่า กระวนกระวายเดือดร้อน เกิดความพอใจอย่างยิ่ง ติดข้องอย่างมาก ทั้งหมด คือ ความติดของทั้งนั้น หารู้ไม่ว่า เมื่อปราศจากสิ่งนั้นเมื่อไหร่ เป็นทุกข์ทันที ซึ่งแท้ที่จริง ก็คือ แสวงหาทุกข์ แสวงหาเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ แต่เข้าใจผิด ว่า ตลอดเวลานั้นสงบ
~ พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง ทุกคำทำให้เกิดความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกไม่ได้นำความทุกข์มาให้เลย เพราะเป็นความถูกต้อง นั่นคือ สงบ
~ แสวงหาอย่างอื่นที่คิดว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้สงบ แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้จักความสงบ ไม่มีทางที่จะสงบได้ เข้าใจ (ผิด) ว่าสงบ แต่ไม่ใช่ความสงบ
~ ถ้าประกาศหรือกล่าวว่า เป็นการกระทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือ ผิด เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ทำให้มีความเข้าใจถูกอะไรเลย
~ ขณะที่สงบ ขณะนั้น ไม่มีโลภะความติดข้อง ไม่มีโทสะความขุ่นเคืองใจ เพราะขณะที่เกิดความติดข้องหรือเกิดความไม่พอใจ ก็เพราะความไม่รู้ ที่จะละความไม่รู้ ก็เพราะรู้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็ต้องติดข้อง ไม่มีหนทางใดเลยที่จะละ ก็ต้องเป็นไปตามกิเลสประการต่างๆ แต่เพราะรู้ (ปัญญา) จึงค่อยๆ ละคลายกิเลสทั้งหลายได้ กิเลสทั้งหลายดับไม่ได้ คลายไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะความรู้ (ปัญญา)
~ ความเคารพเกิดจากใจ แม้ไม่สามารถเคลื่อนไหวกายได้ ก็เคารพได้ แต่ต้องดูว่าเคารพในอะไร ต้องละเอียดถึงอย่างนั้น ว่า เคารพอะไร
~ ใส่เสื้อผ้าสีอื่น ฟังธรรมได้ไหม เข้าใจธรรมได้ไหม คนที่ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล แต่งสีอะไร (ก็ตามควรแก่ความเป็นคฤหัสถ์ นั้นๆ)
~ คำใดที่ผิดจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำไปสู่ทางผิดทั้งหมด
~ ผิดตั้งแต่ต้น เข้าใจผิดตั้งแต่ต้นแล้ว จะนำไปสู่ความถูกต้องได้อย่างไร
~ ปฏิบัติธรรมที่ไหนได้หมด เมื่อมีปัญญา ที่ไหนก็ได้ ในครัวก็ได้ ตามถนนหนทางก็ได้ทุกแห่ง ไฉนจึงมีสำนักปฏิบัติสำหรับจะปฏิบัติ นี่ก็ผิดแล้ว ไม่รู้ความเป็นอนัตตา (ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ของสภาพธรรมว่า ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้
~ ผิดตั้งแต่คำแรกเลยที่บอกว่าให้ลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดจึงจะปฏิบัติธรรมได้ ผู้นั้นคือใครที่จะกล่าวอย่างนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เป็นผู้ไม่รู้คุณของพระธรรมแต่ละคำ ถึงกับกล้ากล่าวว่าให้ลืมคำสอนให้หมด แทนที่จะบอกว่าให้จำ (ด้วยความเข้าใจ) ให้มั่นคง ไม่ควรที่จะลืมเลยในทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งกว่าจะ (มีความเข้าใจที่) มั่นคงได้ แต่กลับไปบอกว่าให้ลืมให้หมด นี่ก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
~ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ใครๆ ก็ทำไม่ได้ นอกจากสิ่งนั้นเกิดเพราะมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไป ถ้าบอกว่าเดินช้าๆ แล้วเกิดสติ ผู้นั้นไม่รู้จักสติ และอาจารย์ที่บอก ก็ไม่รู้จักสติด้วย
~ ธรรมคืออะไร (ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ) ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ ก็จะไม่รู้อะไร เพราะเหตุว่า ไม่รู้จักธรรม
~ การอบรมเจริญปัญญาจะต้องเป็นผู้ที่ระแวดระวัง ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งใด ผิด ก็ละไม่ได้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะละ ถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องก็ละไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะศึกษาธรรมมาก มีบริวารมาก มียศมาก สอนมากด้วย แต่ปฏิบัติผิด เพราะเข้าใจผิด
~ จะรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
~ ปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากการอบรมทีละเล็กทีละน้อย จะเอาปัญญาระดับสูงมาจากไหน ถ้าไม่มีความเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น
~ หนทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางแห่งการดับกิเลส
~ ทุกสิ่งทุกอย่างสะสมอยู่ในจิต ทำให้แต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย
~ ใครๆ ก็ทำลายพระพุทธศาสนาไม่ได้ นอกจากคนที่อ้างตนเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย
~ ทำไมพระสัมมาสัมพระเจ้าจึงทรงแสดงบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ไว้ เพราะความจริงรู้ได้ยาก อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สามารถรู้ความจริงได้ ต้องเป็นคุณความดีที่เป็นไปพร้อมกับปัญญาเท่านั้น ที่จะรู้ความจริงได้
~ ยังไม่รู้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ด้วยความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
~ ขณะใดที่เข้าใจธรรม (ธรรมคือสิ่งที่มีจริง) ขณะนั้น สงบไหม เข้าใจธรรมเมื่อไหร่ ระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม เพราะถ้าไม่มีการบำเพ็ญพระบารมีและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะไม่ได้ยินแม้แต่คำเดียวที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระองค์
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม จะระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร
~ ไม่มีคำว่าสำนักปฎิบัติในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะสำนักปฏิบัติเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ตั้งแต่ต้น ประโยชน์ก็ต้องเพิ่มมากยิ่งขึ้น
~ ชาวพุทธ ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยและเป็นผู้ตรงต่อพระธรรมวินัย ถ้าสิ่งนั้น ผิด ชาวพุทธ ก็ต้องบอกว่าผิดจะบอกว่าถูก ไม่ได้
~ แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค่า สำหรับผู้ที่เริ่มรู้ว่า "ไม่เคยรู้มาก่อน เห็นผิดมาตลอด" แต่ว่าแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้เกิดความเข้าใจถูกซึ่งอะไรจะทำให้เกิดความเข้าใจถูกได้ ถ้าไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ที่สำคัญที่สุด ความจริง ต้องจริง เราจะไม่เอาความจริงมาเปลี่ยนแปร หรือจะไม่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ถ้าสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องไม่ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย มิฉะนั้น ก็จะดำรงพระศาสนาและความถูกต้องไว้ไม่ได้
~ การศึกษาธรรม เป็นการบูชาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเห็นคุณของทุกคำที่พระองค์ตรัส
~ เรื่องของอกุศลในวันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับเรื่องของกุศล คือ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วแต่ละท่านจะไม่เห็นการสะสมของอกุศลแต่ละขณะ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่า ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและก็สะสมปรุงแต่งทำให้มีอกุศลจิตที่วิจิตร ที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ต่างกันออกไปในวันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทรงชี้ให้เห็นอกุศล ซึ่งในขณะที่จิตเป็นอกุศลจะมีการกระทำทางกายและวาจาอย่างไรบ้าง ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศล
~ ไม่ควรที่จะประมาทในเรื่องของอกุศล และก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกทางที่จะให้ท่านผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าต้องการที่จะเจริญปัญญาเจริญกุศล ก็ต้องไม่ประมาทที่จะรู้จักอกุศลของตนเองด้วย
~ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศล ที่จะดับกิเลส นั้นเป็น อธิษฐานบารมี เพราะเห็นโทษของอกุศล ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วก็คิดว่าตัวเองดีแล้ว หรือว่าดีกว่าคนอีกหลายคน ก็จะมีความพอใจในความดีของตนเอง ทั้งๆ ที่ความไม่ดีมีมาก ไม่ว่าจะบริโภคอาหาร จะกำลังสนุกสนาน จะกำลังทำกิจการงานต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอกุศล ในขณะที่กุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่าเป็นผู้ที่ดีแล้ว ก็จะไม่เจริญกุศล แล้วก็ไม่รู้ตัวว่า อกุศลกำลังชักจูง แล้วก็ทำให้โน้มเอียงขึ้นทุกที
~ พิจารณาลักษณะของเมตตาได้จากกายวาจาในชีวิตประจำวัน ถ้าสมมติว่าไม่พูด แต่ว่ามีเมตตาจิต ได้ ใช่ไหม? หน้าตาก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่หน้าบึ้ง หน้าขมวด เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นมีเมตตา และเมื่อมีเมตตาแล้ว จะพูดอะไรก็จะต้องมีการคิดว่า ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว จะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นไหม จะทำให้เขาเสียใจไหม จะเป็นโทษไหม หรือการกระทำทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน
~ ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลว่า ถ้าไม่รีบขัดเกลาบรรเทาในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไป ก็จะเพิ่มความเป็นบุคคลที่หนาแน่นด้วยอกุศลมากยิ่งขึ้นอีกทุกชาติไป แทนที่จะคิดถึงอานิสงส์หรือผลที่จะได้รับ ก็ควรที่จะคิดถึงว่า อกุศลมากจนเกินกว่าที่จะดับได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่จะละอกุศลนั้นได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ในวันหนึ่ง
~ พบกัน เป็นมิตรที่หวังดีจริงๆ ไม่หวังร้ายเลย ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่า "แล้วก็จากกัน เท่านั้นเอง" ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลยแต่ละภพแต่ละชาติ
~ ไม่เข้าใจธรรม ไม่ใช่ชาวพุทธ เรียกเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ความจริง ไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นชาวพุทธ ก็ต้องฟังพระธรรม และมีความเข้าใจด้วย
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๖๗
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...