สติกับสติปัฎฐาน ต่างกันอย่างไร

 
ฉีฟ่งจื้อ
วันที่  24 ก.ย. 2561
หมายเลข  30118
อ่าน  931

เรียน ท่านวิทยากร

ขอเรียนถามว่า สติเกิดนี่มีเหตุปัจจัยอะไร และต่างกับสติปัฎฐานอย่างไร

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดีครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี 4 ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะกั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิต ไม่ได้หมายเพียง กุศลจิตเท่านั้น กิริยาจิตและวิบากจิตด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้น สติเจตสิกจึงเกิดกับ วิบากจิต และ กิริยาจิต ได้ด้วยครับ เช่น พระอรหันต์ที่มีจิตเมตตา เป็นกิริยาจิต แต่ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แม้เป็นกิริยาจิต ครับ

สติปัฏฐาน มีหลายความหมาย ครับ โดยทั่วไปแล้ว เราจะเข้าใจว่า สติปัฏฐานคือตัว สติและปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ดังนั้น จะมุ่งหมายถึง ตัว สติเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึก เป็นสติปัฏฐาน แต่ สติปัฏฐาน นั้น มีหลากหลายนัย อธิบาย โดย 3 นัย ดังนี้ ครับ

1. ตัวสติ เป็นสติปัฏฐาน

2. การที่พระพุทธเจ้า ไม่ยินดี ยินร้าย เมื่อสาวก ปฏิบัติผิด หรือ ถูก เป็นสติปัฏฐาน

3. อารมณ์ของสติปัฏฐาน ชื่อว่า สติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น สติ ก็เป็นความหมายหนึ่งของสติปัฏฐาน ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ สติมีหลายอย่าง เพราะฉะนั้น สติขั้นทาน สติขั้นศีล สติขั้นสมถภาวนา ไม่ใช่สติปัฏฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงอะไรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนแต่อย่างใด แม้แต่ สติ กับ สติปัฏฐาน ก็เช่นเดียวกันซึ่งควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งหมด เป็นธรรม

"สติ" เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภทไม่มีเว้น
"สติปัฏฐาน" เป็นเรื่องของการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่พ้นจากสติไปได้ สติย่อมมีอย่างแน่นอน โดยไม่มีตัวตนที่ระลึก หรือไปเจาะจงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติคือ เป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนั้น มีสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึก และ มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมเป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ มีสติที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึก ด้วย เพราะสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้นั้น ก็เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันนี้เองที่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่รู้ยาก เพราะสะสมอวิชชา ความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

ประการที่สำคัญ นั้น ก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐาน ขอให้ฟังให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าพระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม อย่างมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ สัตว์บุคคลตัวตน เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคงจึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด แต่อย่าลืมว่าธรรม เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
2491surin
วันที่ 26 ก.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Somporn.H
วันที่ 27 ก.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 28 ก.ย. 2561

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 1 ต.ค. 2561

สติเกิดไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เช่นสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ศีล แต่ถ้าสติปัฎฐานเกิดต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kullawat
วันที่ 2 ต.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 2 ต.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ