ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๑
~ ไม่รั้งรอที่จะกระทำความดีเท่าที่สามารถจะกระทำได้ เพราะเหตุว่าแม้ว่าจะกระทำความดีสักเท่าไรก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง ตราบใดที่เมื่อไม่กระทำความดี จิตก็ต้องเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเจริญกุศลทุกประการ ด้วยการที่จะอบรมตนเองให้เป็นผู้ที่มีความอดทน แล้วก็คิดถึงคนอื่น แทนที่จะคิดถึงตนเองเสมอๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็มีโอกาสที่กุศลจิตจะเกิดมากกว่าอกุศล
~ ยิ่งเห็นอกุศลของตนเองมากเท่าไร ละเอียดขึ้นเท่าไร บ่อยเท่าไร ย่อมเป็นทางที่จะให้รู้จักตัวเองมากเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องกุศลของตนเอง อาจจะเป็นทางที่ทำให้เกิดอกุศลได้ คือ ความสำคัญตน
~ เรื่องของจิตใจก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ว่า การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องเป็นเรื่องพิจารณาสภาพของจิตโดยละเอียดจริงๆ พร้อมทั้งเหตุผลด้วยว่า กุศลต้องเป็นกุศล แต่ถ้าขณะใดมีอย่างอื่นเกิดแทรก ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ พระพุทธศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรมของพระองค์ จะต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนี้ ก็จะไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
~ ผลของกุศล ย่อมทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ผู้ที่จะไม่ปฏิสนธิในอบายภูมิเลย ต้องเป็นพระอริยบุคคล
~ การที่จะมีศรัทธา (ความผ่องใส) เพิ่มขึ้น ก็จะต้องอาศัยการไม่ขาดการฟัง ฟังไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะไปเที่ยวสนุกสนานอย่างไรก็ตาม แต่ว่าอย่าขาดการฟัง และก็ถ้ามีเวลาว่าง ก็พิจารณาพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อฟังไปเรื่อยๆ วันหนึ่งความสนใจและความศรัทธาก็จะมั่นคงขึ้น
~ เรื่องของอกุศลในวันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับเรื่องของกุศล คือ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วแต่ละท่านจะไม่เห็นการสะสมของอกุศลแต่ละขณะ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่า ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสะสมปรุงแต่งทำให้มีอกุศลจิตที่วิจิตร ที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ต่างกันออกไปในวันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน แต่พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทรงชี้ให้เห็นอกุศล ซึ่งในขณะที่จิตเป็นอกุศลจะมีการกระทำทางกายและวาจาอย่างไรบ้าง ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศล
~ ไม่ควรที่จะประมาทในเรื่องของอกุศล และก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกทางที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าต้องการที่จะเจริญปัญญา เจริญกุศล ก็ต้องไม่ประมาทที่จะรู้จักอกุศลของตนเองด้วย
~ วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดี ในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการเล่น ในการฟ้อน การขับประโคมดนตรีต่างๆ แต่ว่าความยินดีนั้นๆ ทั้งหมด ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง
~ ธรรมดาคนทั้งหลายผู้ตายไปแล้ว แล้วไปสู่ปรโลก (โลกหน้า) นั้น ย่อมจะขนเอาทรัพย์ไปด้วยไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายจะพาไปได้ก็แต่กุศลและอกุศลที่ตนกระทำไว้เท่านั้น
~ เมื่อเกิดมาแล้ว มีโอกาสได้พบกัน จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน หรือว่าจะทำร้ายกัน?
~ ความไม่รู้ มีแน่ๆ จึงเริ่มฟังพระธรรม เมื่อเริ่มฟัง ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นการเก็บความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย
~ ไม่ใช่ว่าเพียรผิดๆ ก็ควรจะเพียร, แต่ต้องระวังอย่างมากที่สุดว่า ต้องไม่เพียรผิด เพราะว่าบางท่านเพียรมากที่จะปฏิบัติธรรม แต่ว่าไม่ได้พิจารณาข้อปฏิบัตินั้นว่า สมควรแก่การที่จะเพียรหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเห็นผิด เมื่อเพียรไป ผลที่ได้ก็คือความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก
~ ต้องเป็นผู้ละเอียดรอบคอบ และพร้อมที่จะทิ้งความเห็นผิดทันที เพราะเหตุว่าความเห็นผิดมีโทษมากจริงๆ แม้ว่าจะได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างพวกอัญญเดียรถีย์ ก็ยังไม่สามารถที่จะพิจารณาในพระธรรมที่ทรงแสดงได้ ยังคงยึดถือความเห็นผิดต่อไป
~ ทุกคนย่อมเคยโกรธ แต่ถ้าใครมีสติที่จะระลึกได้ในขณะที่กำลังโกรธว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นอันตรายกับตนเอง เพราะเหตุว่า บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเองเป็นผู้กระทำ ถ้าคิดได้อย่างนี้ ในขณะนั้น ก็จะเห็นโทษของอกุศล
~ กุศล คือ จิตขณะใดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลทั้งหลาย ขณะนั้นจึงสงบจากอกุศลและเป็นกุศล เมื่อจิตสงบแล้ว จึงมีการกระทำหรือทางของกุศลจิต เพราะว่า กุศลจิตที่เกิดเมื่อประกอบด้วยโสภณธรรม คือ โสภณเจตสิกต่างๆ แล้ว จะไม่อยู่เฉยๆ ไม่ใช่ว่าจิตผ่องใสเป็นกุศลแล้ว ก็ไม่ทำอะไรเลย แต่เมื่อจิตผ่องใสเป็นกุศล การกระทำทางกายก็เป็นสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ และวาจาก็เป็นวาจาที่เป็นประโยชน์ด้วย
~ เวลาที่กุศลจิตเกิด สภาพของจิตผ่องใส ไม่มีความเดือดร้อนด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่มีการที่จะขาดความเมตตาในบุคคลอื่น จะเห็นได้ว่าจิตที่ผ่องใสเป็นกุศลนั้นไม่เป็นโทษเป็นภัย เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ด้วยจิตที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยเป็นเหตุ ย่อมจะไม่เป็นผลให้เกิดโทษภัยขึ้นได้ เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายมีวิบากที่เป็นสุข ไม่ใช่นำมาซึ่งวิบากที่เป็นทุกข์
~ ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลอยู่ อดไม่ได้ที่จะต้องสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ก็ต้องตอนเย็น ตอนค่ำ แล้วแต่โอกาส แต่ผู้ที่เห็นโทษของการที่จะปล่อยจิตให้คลุกคลีอยู่กับอกุศล ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ละทิ้งการฟังพระธรรม และไม่ละทิ้งการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง, กิเลสมี กิเลสก็พาไปที่ต่างๆ แล้วก็พาให้กระทำความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มั่นคงในการฟังพระธรรม ซึ่งไม่ได้ฟังตลอดเวลา แต่ว่าฟังอยู่สม่ำเสมอ
~ มั่นใจหรือยังว่า ปัญหาทั้งหมดมาจากอกุศลซึ่งมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น หนทางแก้ มี ถ้ามีคนดี มีคนที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีปัญหาหรือไม่? พระอรหันต์ทั้งหลาย มีปัญหาหรือไม่?เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่มีปัญหาเลย
~ ต้องไม่ดื้อด้าน เมื่อไม่รู้ ก็ควรศึกษาให้รู้เท่านั้นที่จะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ศึกษา (พระธรรม) กัน ก็ยังไม่รู้ต่อไป ไม่มีทางที่จะดำรงพระพุทธศาสนาต่อไปได้
~ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร ทรงแสดงอะไร นั่งเฉยๆ อยู่ดีๆ แล้วคิดว่าจะรู้พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปไม่ได้
~ มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ก็ฟัง ก็ศึกษาต่อไป ก่อนที่จะละจากโลกนี้ไป
~ ปัญญา (ควาามเข้าใจถูกเห็นถูก) นำไปในกิจทั้งปวง ที่เจริญ ที่เป็นกุศล ที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีเราสามารถไปบังคับตัวเองให้เราเป็นคนดีได้ แต่ว่าความเข้าใจธรรมต่างหากที่ค่อยๆ ขัดเกลาความไม่ดีและความไม่รู้
~ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่เสียเวลา เพราะเป็นประโยชน์ทุกคำ.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๐
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...