ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๗
~ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) สะสมมาประมาณไม่ได้เลย แล้วก็สะสมต่อไปอีกทุกๆ วันมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ก็เห็นความละเอียดและก็ความยากและความไม่ประมาทว่าความเข้าใจเท่านั้นที่จะค่อยๆ รู้แล้วละ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น
~ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และทุกคนก็รู้ว่าชีวิตสั้นมาก จะจากโลกนี้ไปได้ทุกขณะ เย็นนี้ก็ได้พรุ่งนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลามีค่าที่สุด เวลาที่มีค่าที่สุด ประโยชน์ที่สุดคืออะไร คือ ได้เข้าใจถูกเห็นถูก
~ ขอให้เริ่มด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย นี่คือจุดที่เริ่มต้น และต่อจากนั้นก็ต้องไม่มีอาการผิดแปลกต่อการกระทำทางกายและวาจาของคนอื่น เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่า ไม่เห็นวาจาและการกระทำนั้นๆ
~ ถ้าเป็นผู้ที่โกรธ แต่ไม่พยาบาท ให้อภัยได้ และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่ายาก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมจะอภัย และยังพอใจที่ยังโกรธอยู่ เป็นผู้ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก
~ โกรธ แล้วก็ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้น เมื่อคิดผูกโกรธอีก ก็แสดงให้เห็นว่ายังเป็นคนว่ายากที่ยังไม่เห็นโทษของความโกรธ
~ พระสัมมามาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ชาวโลกให้ดับกิเลสจนหมดสิ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงเห็นว่า แต่ละคนรู้ตัวหรือเปล่าว่ามีกิเลสมากประมาณไม่ได้เลย เท่าที่เกิดมาในชาตินี้ก็ยังไม่หยั่งรู้ถึงกิเลสที่สะสมมาในสังสารวัฏฏ์
~ พฤติกรรมต่างๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่ไม่ถูก ไม่ควรทั้งหมด มาจากกิเลส
~ สัตว์โลกไม่มีทางที่จะเข้าใจสิ่งที่มีทุกขณะในชีวิต ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรม ไม่อนุเคราะห์สัตว์โลก
~ โอกาสใดที่มีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม ก็ฟังด้วยความเคารพ ด้วยความไตร่ตรอง ด้วยความมั่นคง ด้วยการกล้าที่จะกล่าวคำของพระองค์เพื่อที่จะดำรงรักษาคำสอนของพระองค์ด้วย
~ ถ้าเป็นปุถุชนซึ่งหนาแน่นไปด้วยกิเลส แลัวยังไม่เห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการศึกษา ไม่มีการฟังพระธรรม เป็นผู้หันหลังให้พระสัทธรรม
~ กุศลธรรม ตั้งใจไว้ชอบ ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเกิดโทสะ แต่ว่าควรเกิดเมตตา เวลาที่เห็นคนอื่นกระทำอกุศลกรรมก็ดี หรือว่าสภาพจิตใจของคนนั้นเป็นอกุศลก็ดี ควรที่จะมีเมตตาว่า บุคคลนั้นจะต้องสะสมอกุศลจิต และอกุศลกรรมไปมากมาย ควรที่จะมีเมตตาอย่างยิ่ง
~ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมไม่กล้าที่จะทำ และ ถ้าไม่ทิ้งสิ่งที่ผิดโดยเร็ว ก็จะสะสมสิ่งที่ผิดนั้นติดตามไปอีกมาก เพราะฉะนั้น คนที่มีความเข้าใจถูกต้อง ก็จะทำสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่หวั่นไหว
~ ชีวิตสั้นมาก อาจจะเป็นแค่เย็นนี้หรือพรุ่งก็ได้ ก็ควรที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดกับตัวเอง คือ สิ่งใดที่ผิด ก็ทิ้งเสีย และสิ่งใดที่ถูก ก็ต้องรีบทำ หมายความว่า ไม่รีรอ
~ ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ให้ทราบว่าขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำจิต แล้วทำอย่างไรถึงจะสลัด ถึงจะละ ถึงจะขัดเกลาอกุศลธรรมที่กำลังครอบงำอยู่ได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เจริญกุศลทุกประการ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โอกาสของทาน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือ ช่วยเหลือทันที สงเคราะห์ทันที ขณะนั้นเป็นกุศลจิต มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำได้ เพราะปัจจัยของอกุศลย่อมมีอยู่พร้อมเสมอ จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้
~ ถ้าขณะใดประสบพบผู้ที่กำลังทุกข์ยาก เดือดร้อนและมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตที่ปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่ แล้วก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ
~ พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมด เพื่อที่จะได้ให้ผู้ฟังพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นคุณเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ แล้วละสิ่งที่เป็นโทษ แล้วก็ขัดเกลาอัธยาศัยในสิ่งที่เป็นคุณ จนกระทั่งเป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ
~ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ตาม ไม่เกื้อกูลที่จะให้ปัญญาเกิด และกุศลทั้งหลายเกิด ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และการที่จะเกื้อกูลแต่ละบุคคล เกื้อกูลให้เขาฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจและปัญญาของเขาเอง จะทำให้อกุศลของเขาค่อยๆ ลดคลายลง
~ จิต ที่สะสมมา มากไปด้วยอกุศลเพียงใด เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเป็นกุศลได้ บ่อยขึ้น เพิ่มขึ้นไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์
~ ทำอะไรอะไรก็ตาม ที่เป็นกุศล โดยไม่หวัง เพราะรู้ว่าเป็นการขัดเกลาอกุศล
~ พระธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัญญารู้ว่าขณะนั้นแต่ก่อนนี้เคยเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะทำดีเลย แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า ถ้าไม่ทำดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ เพราะได้เข้าใจพระวินัย และเข้าใจพระธรรมด้วย ก็ทำให้สามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นไม่ให้ผิดยิ่งไปกว่านี้
~ การที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่เข้าใจพระธรรมหรือไม่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา แต่แม้กระนั้นในขณะที่ฟังพระธรรมจะดำรงพระสัทธรรมไว้ได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง
~ พระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่ได้ ไม่อันตรธาน (ไม่เสื่อมสูญ,ไม่สูญสิ้นไป) เมื่อมีคนที่เข้าใจธรรม แล้วก็กล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้คำของพระองค์ดำรงอยู่ต่อไปที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย
~ ความเข้าใจจะค่อยๆ มั่นคงขึ้น โดยไม่ขาดการฟังพระธรรม เพราะว่าขณะใดที่ไม่ฟัง เราก็คิดถึงเรื่องอื่น ทันที
~ การเป็นคนดี และการเข้าใจธรรมซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีขึ้น เป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดา
~ เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไม่ทรงเว้นเพียงสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดที่จะเป็นโทษเป็นภัย ก็ได้กล่าวให้ชัดเจนว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ควรละ สำหรับเพศบรรพชิตก็ต้องขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าเพศของคฤหัสถ์
~ การบวชเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอุปนิสัยที่จะสละทั่ว บวชไม่ได้ เพราะเหตุว่า บวชต้องสละทั่ว และต้องประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง ว่า เป็นการขัดเกลากิเลส ด้วยความเข้าใจธรรมในเพศของบรรพชิต ซึ่งต่างกับเพศคฤหัสถ์
~ แม้ว่าจะไม่ได้ทำกุศลนั้นเอง แต่ใครก็ตามที่ทำกุศล เกิดกุศลจิต อนุโมทนา (ชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่น) ไหม? ยินดีด้วยที่เขาได้ทำกุศล เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่ากุศล นอกจากจะทำเองแล้ว แม้ไม่ได้ทำ (ด้วยตัวเอง) แต่ยินดีในการที่คนอื่นกระทำ ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ที่อุทิศส่วนกุศล อุทิศ แปลว่า เจาะจงจะให้ใคร ถ้าเป็นญาติที่สิ้นชีวิตแล้วบุคคลนั้นเกิดแล้วสามารถที่จะรู้ได้ เขาก็ยินดีที่ญาติยังระลึกถึงแล้วก็ทำสิ่งที่ดีเพื่อให้เขาได้เกิดอนุโมทนา เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่อนุโมทนา กุศลก็เป็นของผู้อนุโมทนา
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๖
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...