ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๐
~ เมื่อสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้ว จะเป็นคนนั้นอีกต่อไปไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นคนนั้นอีกได้เลย ถ้าศึกษาจากพระชาติต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละพระชาติก็คือการปรุงแต่งของจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ [อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้]) และเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ซึ่งจะไม่กลับไปเป็นบุคคลนั้นอีก เพราะฉะนั้น ในชาติก่อน ท่านจะเคยเป็นใครอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่เพียงชาติก่อนชาตินี้ ก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง และชาตินี้ก็กำลังใกล้ต่อการสิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้ และจะไม่กลับเป็นบุคคลนี้อีก
~ วันหนึ่งก็ต้องตาย เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งตายไปแล้ว เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ควรที่จะได้พิจารณาว่า ควรที่วันที่จะจากโลกนี้ไป จะจากไปด้วยปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งเจริญขึ้น หรือจะจากไปโดยไม่สนใจที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็จากโลกนี้ไปด้วยความมัวเมา ติดข้อง เพลิดเพลิน ในลาภ ในยศ ในสักการะ ในสรรเสริญ ในสุข ซึ่งชั่วขณะจิตแล้วก็จะไม่ติดตามไปสู่โลกหน้าเลย
~ ทุกคนมีกรรมเป็นของตน แม้ว่าคนอื่นจะทำกรรมที่ไม่ดีกับเรา แต่เรามีกรรมดี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับกรรมไม่ดีที่คนอื่นกระทำกับเรา เพราะว่าใครทำกรรมอย่างใดก็ได้อย่างนั้น แล้วเราจะไปคิดที่จะพยาบาทเบียดเบียนเขาทำไม ในเมื่อรู้ว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน แล้วความโกรธ ความพยาบาทไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเก็บให้มีมากๆ เลย เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ในขณะที่เกิดขึ้นด้วย
~ เวลาที่โกรธใคร เวลานั้นจิตใจไม่สบาย นอกจากจิตใจไม่สบายแล้ว ระวังกายกับวาจาด้วย เพราะเหตุว่าถ้าความโกรธนั้นมีกำลัง กายก็จะมีการประทุษร้ายเบียดเบียน วาจาก็เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟัง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ในขณะที่คนโกรธจัดๆ ลักษณะอาการก็เหมือนคนบ้าที่ไม่ต่างกันเลย และวันหนึ่งๆ หรือชาติหนึ่งๆ หรือในอดีต มีใครที่เคยโกรธจัดๆ มากๆ ก็ลองย้อนนึกถึงในกาลนั้นว่า ลักษณะอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของคนที่บ้าโกรธคนอื่นนั่นเอง
~ ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง แทนที่จะคิดว่า ท่านมีศัตรูหลายคน หรือว่าอาจจะมีคนที่ไม่ชอบท่าน ทำสิ่งที่ไม่ดีกับท่านหลายคน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือ ความโกรธของท่านเอง
~ ใครก็ตามที่มีอกุศล และไม่เห็นโทษของอกุศลนั้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่า ความดีที่คิดจะทำเพื่อที่จะละอกุศลในขณะนั้นยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องยากยิ่งกว่านั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะรีบทำความดีไหม จะรีบละอกุศลในขณะนั้นที่กำลังเกิดไหม?
~ ถ้าเป็นผู้มีปัญญาแล้ว ไม่ว่าความเสียหายใดๆ ที่คนอื่นกระทำกับท่าน ย่อมเพิ่มพูนความมั่นคง ความสมบูรณ์แห่งขันติ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ทรามปัญญา (คือไม่มีปัญญา) ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ (ความตรงกันข้าม) ของความอดทน (ก็คือ เพิ่มอกุศล โดยเฉพาะความโกรธ ความไม่พอใจ)
~ ความดีต้องเป็นความดี ความชั่วต้องเป็นความชั่ว และความชั่วต้องให้ผลไม่ดีด้วย และถ้ายิ่งชั่วมาก ก็ (ให้ผล) มากกว่าที่เราคิดว่าจะเป็นไปได้แม้ว่าจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ตกนรก เกิดเป็นเปรต หรือเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานแน่นอน
~ ธรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณ ไม่ให้โทษเลย ก็คือ อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) ถ้าเป็นได้จริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย จะสบายสักแค่ไหน ไม่เดือดร้อนที่จะต้องแสวงหา ไม่เดือดร้อนเมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากจากไป เพราะเหตุว่าไม่ติดข้อง แต่แสนยาก เพราะติดข้องมานานแสนนาน มีหนทางเดียวคือ ปัญญา ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง โดยพยัญชนะต่างๆ ก็เพื่อให้ไม่ลืมในความเป็นจริงของธรรม แม้แต่ในเรื่องของโลภะ ความติดข้องต้องการ ยินดีพอใจ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งความจริงมากมายตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ กุศลเกิดน้อยกว่าอกุศล และอกุศลประเภทโลภะก็มีปัจจัยที่จะเกิดอยู่ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
~ เวลาที่กุศลจิตเกิด สภาพของจิตผ่องใส ไม่มีความเดือดร้อนด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่มีการที่จะขาดความเมตตาในบุคคลอื่น จะเห็นได้ว่าจิตที่ผ่องใสเป็นกุศลนั้นไม่เป็นโทษเป็นภัย เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ด้วยจิตที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยเป็นเหตุ ย่อมจะไม่เป็นผลให้เกิดโทษภัยขึ้นได้ เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายมีวิบากที่เป็นสุข ไม่ใช่นำมาซึ่งวิบากที่เป็นทุกข์
~ ในชาติหนึ่งถ้ามีความเห็นผิดต่อไป ชาติต่อๆ ไปก็เห็นผิดต่อไป หันหลังให้พระสัทธรรม หันหลังให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทำลายคำสอนด้วย เพราะฉะนั้น สาวก คือ ผู้ที่ฟังพระธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ทำทุกอย่างเพื่อละ และเพื่อประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อทำลายประโยชน์
~ ผู้ที่พร้อมจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เมื่อเห็น เมื่อรู้ความต้องการของบุคคลอื่น ก็เป็นผู้ละเอียดในการเจริญกุศล เพราะรู้ความจำเป็นแล้วมีจิตกรุณาเกิดขึ้น ไม่ต้องรอให้เขาขอ ก็ให้
~ กุศลทั้งหลาย จะเจริญขึ้นด้วยความอดทนที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง ไม่ให้คลาดเคลื่อน ไม่ให้เห็นผิด ไม่ให้เข้าใจผิด มิฉะนั้น บางคนเข้าใจว่าตนเองหมดกิเลสแล้ว เพียงแต่ไปปฏิบัติโดยที่ปัญญาไม่ได้เกิดเลย แต่คิดว่าหมดกิเลส นี่ก็จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้นไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้และความเห็นผิดในหนทางปฏิบัติที่จะดับกิเลส
~ ต้องอาศัยกาลเวลาในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสเมื่อเห็นกิเลสมากเท่าใดก็รู้ว่า จะต้องอาศัยกาลเวลานานมากทีเดียว กว่าที่จะขัดเกลากิเลสนั้นๆ ได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม และก็ไม่ขาดการที่จะพิจารณาตนเอง เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา และการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น
~ กุศล (ความดี) ทุกประการ ควรเจริญ (ควรทำ ควรสะสม)
~ ถ้าไม่รู้จักพระธรรม จะเคารพระธรรมได้ไหม? ถ้าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม?
~ สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ทรงแสดงธรรมให้คนอื่นเข้าใจธรรม เพื่อที่จะรู้ว่าธรรมเป็นธรรม นี่คือการเริ่มที่จะละความไม่รู้ เพราะกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) เกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม
~ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม และไตร่ตรอง จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่าเกิดมาถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงที่มีทุกวันและกำลังปรากฏด้วย
~ อาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ ด้วยความอดทน และด้วยการรู้ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยมาก เพราะเราสะสมความไม่รู้มานานมาก แต่ว่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ไม่มีทางเลยที่จะละความเป็นเราได้
~ มีความไม่รู้ที่สะสมมามานมาก ก็ต้องเป็นหน้าที่ของความเห็นถูก หน้าที่ของความอดทน หน้าที่ของความตรงต่อธรรม และเป็นหน้าที่ของความไม่ประมาทที่จะรู้ว่าการฟังพระธรรมแต่ละครั้งดูเหมือนว่าเหมือนเดิม แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เลย เพราะปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ
~ ธรรมแต่ละอย่าง ที่มี เพื่อเข้าใจถูกตามความเป็นจริงจนกว่าจะถึงที่สุดว่าได้ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
~ ถ้าเคารพในธรรมจริงๆ ขณะฟังธรรม ฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้น คำที่ได้ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อความใดๆ ทั้งหมด ก็อยู่ที่ ฟังเพื่อเข้าใจ แล้วปัญญาที่เข้าใจแล้วก็จะค่อยๆ นำไปสู่ความละเอียดยิ่งขึ้นของธรรมที่จะค่อยๆ ละคลายความเป็นเรา จะมากจะน้อย จะนานเท่าไหร่ ไม่ใช่หน้าที่ของใครเลยทั้งสิ้น แต่เพราะได้เข้าใจขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฟังธรรม เพื่อเข้าใจ แม้สนทนาธรรม ก็เพื่อเข้าใจ
~ ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ที่มั่นคงว่าไม่มีเรา เมื่อไม่มีเราแล้วมีอะไร? กำลังมีอยู่ สิ่งที่มีต้องเป็นธรรมแน่ๆ แต่ว่าต่างกันเป็นธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยจะให้เป็นสภาพรู้ก็ไม่ได้ ธรรมนั้นคือรูปธรรม (รูป มีทั้งหมด ๒๘ ชนิด) แล้วก็ยังมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้ แต่ไม่มีรูปเลย เกิดขึ้นรู้อย่างเดียว เป็นนามธรรม (ได้แก่ จิต สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ [อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้] และ เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ต้องแยกกันโดยเด็ดขาด ปนกันไม่ได้
~ เมื่อฟังพระธรรมแล้ว ก็รู้ว่ากิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ดับได้ เพราะมีผู้ที่ได้ดับกิเลสแล้วและได้ทรงแสดงหนทางที่จะดับกิเลสด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ไม่สนใจที่จะดับกิเลส จะฟังพระธรรมไหม? [ก็ไม่ฟัง] แต่ถ้ารู้ว่า โลกเดือดร้อน ทุกคนเดือดร้อน แม้แต่ตัวเอง ก็เดือดร้อน เพราะกิเลส สมควรไหมที่จะสามารถดับกิเลสได้ ดีกว่าปล่อยไปทุกวันเพิ่มกิเลสขึ้นทุกวันไม่ดับเลย เพราะเหตุว่า กิเลสไม่ใช่ว่าจะดับได้โดยง่าย ต้องอาศัยพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ดับกิเลสหมด จึงสามารถที่จะทรงแสดงหนทางดับกิเลสให้คนอื่นได้รู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางดับกิเลส เพราะฉะนั้น ทางเดิน ก็มีสู่กิเลสและทางเดินเพื่อดับกิเลส ทางเดินสู่กิเลสนี้ต้องมีใครสอนไหม? [เพราะกิเลสมีเป็นปกติอยู่แล้ว] แต่ว่าทางที่จะดับกิเลส ถ้าไม่มีใครดับกิเลสได้ ก็ไม่รู้หนทางที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ผู้ที่ดับกิเลสถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงหนทางที่จะดับกิเลส ซึ่งยาวไกลมาก เพราะว่ากิเลสมากและดับด้วยความรู้ถูกความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ถ้าไม่รู้เหมือนเดิมและก็คิดเองเหมือนเดิม ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ดับกิเลสไม่ได้
~ เกิดคนเดียว ตายคนเดียว จะเป็นคนนี้ได้เพียงชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะทำความดี โอกาสที่จะเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นหนทางที่จะแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างได้ ควรที่จะต้องเร่งรีบทำ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ แต่ละคนเริ่มที่ตนเองแล้วต่อไปทั้งหมดก็จะมีกำลังขึ้น
~ การที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ ฟังพระธรรมพิจารณาให้เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามในเพศของคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าเพศของบรรพชิตนั้นต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่จริงๆ สามารถที่จะสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด สละ คือ ไม่มีความติดข้อง ไม่ใช่ว่าเมื่อไปแล้วก็ยังติดข้องอยู่ นี่ต้องพิจารณาเห็นความต่างกันระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพราะฉะนั้นบรรพชิต จึงได้รับสักการะจากคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ไม่สามารถจะทำตาม อย่างนั้นได้
~ เราหวังว่า ต้องมีพระภิกษุ ไม่มีพระภิกษุ ไม่ได้ ถูกต้องไหม? แทนที่จะเข้าใจว่าต้องมีผู้เข้าใจพระธรรมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม พระพุทธศาสนาจึงจะดำรงต่อไปได้ เพราะว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัดวาอารามอิฐหินปูนทราย แต่อยู่ที่ผู้ที่เข้าใจพระธรรมและเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วย
~ ผู้เป็นพุทธบริษัทที่เห็นประโยชน์สูงสุดของการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีและทำให้คนอื่นได้เข้าใจถูก เห็นถูกสืบต่อกันมา ก็ควรจะดำรงรักษาความเห็นถูกในพระพุทธศาสนา และเมื่อตนเองมีความเห็นถูกต้อง ก็สามารถช่วยคนอื่นให้ได้รับฟัง ได้พิจารณา ได้ไตร่ตรองและเห็นความหวังดี ด้วย
~ ถ้าไม่ตรง ไม่ได้สาระจากพระธรรม เพราะพระธรรม ตรง ถ้าเข้าใจผิดแม้เล็กน้อย ก็ไม่ได้สาระแล้ว ไม่เข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรง จะรักษาพระพุทธศาสนา ต้องเข้าใจพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา รักษาอะไร? รักษาโบสถ์ รักษาวิหาร สร้างโน่นสร้างนี่ เพื่ออะไร? เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาหรือ? พระพุทธศาสนา อยู่ที่ไหน? เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ต้องตรง
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๗๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...