ปฐม และ ทุติยอนายุสสสูตร [ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้นและอายุยืน]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๒๖๖
๕. ปฐมอนายุสสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น และอายุยืน
[๑๒๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้น
๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑ เป็นผู้เที่ยวในกาลไม่สมควร ๑ ไม่ประพฤติประเสริฐ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุสั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ๑ เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร ๑ เป็นผู้ประพฤติประเสริฐ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน
จบปฐมอนายุสสสูตรที่ ๕
อรรถกถาปฐมอนายุสสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอนายุสสสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อนายุสฺสา ได้แก่ เข้าไปตัดอายุ คือไม่ทำให้อายุยืน
จบอรรถกถาปฐมอนายุสสสูตรที่ ๕
๖. ทุติยอนายุสสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น และอายุยืน
[๑๒๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุ สั้น ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑ เป็นคนทุศีล ๑ มีมิตรเลวทราม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุ ให้อายุสั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ มีมิตรดีงาม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน
จบทุติยอนายุสสสูตรที่ ๖
แม้ในทุติยอนายุสสสูตรที่ ๖ ก็นัยนี้เหมือนกัน