ขอถามปัญหาธรรมะ - การฝึกสมาธิแบบนี้เป็น สัมมาสมาธิหรือไม่ครับ

 
lokiya
วันที่  9 ม.ค. 2562
หมายเลข  30371
อ่าน  1,252

ขอยกข้อความที่มีผู้สอนไว้

"กำหนดคำบริกรรมภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าว่า “พุท” หายใจออก “โธ” หายใจเข้า “ธัม” หายใจออก “โม” หายใจเข้า “สัง” หายใจออก “โฆ” และให้ระลึกคำบริกรรมภาวนา “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ หน แล้วให้ระลึกเอาคำบริกรรมภาวนาว่า “พุทโธ” แต่เพียงคำเดียว โดยตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้า “พุท” ก็กำหนดรู้ ลมหายใจออก “โธ” ก็กำหนดรู้ สติกำหนดอยู่กับคำบริกรรมภาวนา หากจิตคิดแส่สายไปทางอื่น ก็ดึงจิตกลับมาให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น หากยังไม่ได้ผล ให้เร่งคำบริกรรมภาวนาเร็วๆ “พุทโธๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ”

คำถาม การฝึกสมาธิแบบนี้ถือว่าเป็น สัมมาสมาธิ หรือไม่ครับ เพราะกระผมเห็นว่ามีการระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยคำว่าพุทโธ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าแบบนี้เป็นกุศลจิตหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ม.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอ.สุจินต์ในประเด็นนี้ดังนี้

ท่าน อ.สุจินต์ อย่างท่านที่ใช้คำว่า พุทโธๆ ใช่ไหมคะ แล้วก็ไม่ไดสังเกตสภาพของจิตว่าขณะนั้นสงบไหม การระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีไม่ต้องใช้คำว่า พุทโธ ใช่ไหมคะ อย่างเวลาที่ท่านอ่านพระธรรม พระสูตร พระไตรปิฎก เห็นพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ แล้วจิตของท่านก็สงบ เพราะว่าระลึกถึงคุณของพระองค์ ขณะนั้นมีลักษณะความสงบของจิตปรากฏ โดยที่ท่านไม่ได้ใช้คำว่าพุทโธเลย แต่ว่าสภาพของจิตสงบ แต่เวลาที่ใช้คำว่าพุทโธ โดยจิตไม่สงบก็มี ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า ท่านจะใช้กรรมฐานคือคำว่าพุทโธสำหรับเพ่ง จ้อง กำหนด เพราะว่าอาจจะกระทำด้วยจิตที่ไม่สงบได้ แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เวลาที่เข้าใจพระธรรม เวลาศึกษาพระธรรม อ่านพระวินัย หรือพระสูตร หรือพระอภิธรรม แล้วเกิดความเข้าใจขึ้น ระลึกถึงพระคุณของพระองค์ขณะนั้น เป็นพุทธานุสติ และความสงบของจิต ถ้าขณะนั้น มี ปรากฏ ก็จะสามารถอบรมเจริญความสงบให้มั่นคงพร้อม กับกำลังของสมาธิเพิ่มขึ้น แต่ว่าไม่ใช่ว่าไปท่อง พุทโธ

ในวันนี้ ก็ขอให้ท่านผู้ฟังระลึกถึง ความสงบของจิตของท่านว่าเคยมีบ้างไหมในเมื่อระลึกถึง พระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะเป็นพุทธานุสติ นี้เป็นเรื่องจริง ถ้าจิตจะมีสงบก็จะต้องสงบจริงๆ อาการสงบจะต้องปรากฏ ในขณะที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณ บางท่านอาจจะพรรณนาคุณของพระผู้มีพระภาค ได้ยาว ใช่ไหมคะ เพราะว่าเป็นผู้ที่ศึกษาความหมายของคำว่า พุทโธ หรือว่า อรหังสัมมาสัมพุทโธภควา ท่านสามารถที่จะทราบ อรรถ ความหมายของ อรหัง สัมมาสัมพุทโธภควาว่า แต่ละศัพท์ แต่ละคำ หมายความว่าอย่างไร แต่ว่าขณะนั้นจิตสงบไหม นี่คือจุดสำคัญที่สุด ไม่ว่าท่านจะพูด หรือท่านจะสวดมนต์ หรือท่านจะสรรเสริญพระคุณก็ตาม ในขณะนั้น ถ้าจิตเป็นกุศล ตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่ว่าอาการของความสงบของจิต ปรากฏไหม ถ้าไม่ปรากฏก็หมายความว่า กุศลที่ระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเพราะเหตุปัจจัย มีได้เช่นเดียวกับกุศลขั้นทาน กุศลขั้นศีล เพราะเหตุว่าแม้แต่ ในขณะที่ระลึกที่จะให้ ก็ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ระลึกที่จะวิรัติทุจริตก็ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่สภาพจิตที่ระลึกนั้น สงบไหม ถ้าอาการของความไม่สงบ ไม่ปรากฏ ผู้นั้นก็ยังไม่ชื่อว่า เจริญสมถภาวนา โดยพุทธานุสติ เพราะเหตุว่า เป็นเพียงกุศลจิตซึ่งมีความสงบ ขั้น ๑ เช่นเดียวกับ ทานและศีล แต่ว่าอาการของความสงบ นี่คะ ไม่ปรากฏให้ปัญญารู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพความสงบที่ จะสงบขึ้นพร้อมกับความตั้งมั่นคงในอารมณ์นั้น จนถึงสมาธิขั้นต่างๆ

ผู้ถาม แต่ขณะที่ท่องพุทโธๆ จะสงบหรือไม่สงบก็แล้ว แต่ แต่ว่าขณะนั้นก็มีสติ

ส. ขอประทานโทษ สติเป็นสภาพธรรม ที่เป็นโสภณเจตสิก ที่ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่มีการที่จะเข้าใจความหมายของ พุทโธ สอนชาติไหนภาษาไหนหรือ เด็กวัยไหนให้พูดคำว่าพุทโธก็ได้ แต่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตของเด็กคนนั้น เป็นกุศลในขณะที่กล่าวคำว่า พุทโธ เรื่องของกุศลจิต และ อกุศลจิตไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับคำ ขึ้นอยู่กับสภาพลักษณะของจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล อาการที่สงบปรากฏ ให้รู้ในขณะนั้น หรือว่าไม่ปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏก็เป็นเพียงขั้นศีล ทางกาย ทางวาจาเท่านั้น เวลาที่สวดมนต์ก็ดี กราบพระก็ดี เป็นขั้นศีลเพราะอะไร เพราะเหตุว่า ขณะนั้นสภาพของจิตไม่ได้เจริญความสงบขึ้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 10 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Somporn.H
วันที่ 12 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ