เชตวนสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

 
มศพ.
วันที่  24 ม.ค. 2562
หมายเลข  30416
อ่าน  831

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

จาก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๕๗

๘. เชตวนสูตร

(ว่าด้วยสัตว์บริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕)

[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหาร นี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณ อยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรม โดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ ในธรรมเหล่านั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ ประเสริฐ ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่าน พระสารีบุตรนั้นเป็นเยี่ยม

จบเชตวนสูตรที่ ๘


อรรถกถาเชตวนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเชตวนสูตรที่ ๘ ต่อไป :-

ในบทว่า อิทํ หิ ตํ เชตวนํ ความว่า อนาถบิณฑิกเทวบุตร มากล่าวอย่างนี้ เพื่อชมเชยพระเชตวันและพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

บทว่า อิสิสํฆนิเสวิตํ ได้แก่ อันหมู่แห่งภิกษุอยู่อาศัยแล้ว อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น ครั้นกล่าวชมเชยพระเชตวันด้วยคาถาที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะกล่าวถึงอริยมรรค จึงกล่าวคำว่า กมฺมํ วิชฺชา เป็นต้น แปลความว่า กรรม ๑ วิชชา๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรม โดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ ในธรรมเหล่านั้น

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ ได้แก่ มรรคเจตนา

บทว่า วิชฺชา ได้แก่ มรรคปัญญา

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมทั้งหลาย อันเป็นฝ่ายสมาธิ

บทว่า สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ อธิบายว่า เทวดานั้น ย่อมแสดงชีวิตอันสูงสุดของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ

บทว่า ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีล นี้ เป็นชีวิตสูงสุด

บทว่า เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้

บทว่า ตสฺมา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยมรรค เหตุใดเพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่บริสุทธิ์ได้ด้วยโคตร และด้วยทรัพย์

บทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ อธิบายว่า พึงวินิจฉัยธรรมอันเป็นฝ่ายสมาธิ โดยอุบาย

บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ เลือกธรรมนั้นอย่างนี้ ย่อมหมดจดได้ด้วยอริยมรรค

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ได้แก่ พึงวินิจฉัยธรรม ๕ กองโดยอุบาย

บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ ย่อมบริสุทธิ์ ในสัจจะ ๔ เหล่านั้น ได้อย่างนี้

บัดนี้ อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น เมื่อจะกล่าวชมเชยพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำว่า สาริปุตฺโตว เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาริปุตฺโตว นี้ เป็นคำกล่าวถึงตำแหน่ง อธิบายว่า อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น ย่อมกล่าวว่า พระสารีบุตรเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยธรรมเหล่านี้มีปัญญาเป็นต้น

บทว่า อุปสเมน ได้แก่ ความสงบจากกิเลส

บทว่า ปารคโต แปลว่า ผู้ถึงพระนิพพาน. อธิบายว่า เทวดานั้น ย่อมกล่าวว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งบรรลุพระนิพพาน ภิกษุนั้นเป็นเยี่ยม คือว่า ชื่อว่า เยี่ยมกว่าพระสารีบุตรเถระ ย่อมไม่มี ดังนี้. คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล

จบอรรถกถาเชตวนสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 24 ม.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

© ข้อความโดยสรุป ©

เชตวนสูตร

(ว่าด้วยสัตว์บริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕)

อนาถปิณฑิกเทพบุตร (เทวดาในสวรรค์ชั้นดุสิต) ลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลชมเชยพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งท่าน (เมื่อครั้งเป็นอนาถปิณฑิกเศรษฐี) ได้สร้างถวายสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระสาวกทั้งหลาย อันเป็นที่ทำให้ท่านเกิดปีติเป็นอย่างยิ่ง ต่อจากนั้น ท่านได้กราบทูลว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ ประการ มิใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์

คุณธรรม ๕ ประการ มีดังนี้ คือ

๑. กรรม ได้แก่ มรรคเจตนา

๒. วิชชา ได้แก่ มรรคปัญญา : สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)

๓. ธรรม ได้แก่ ธรรมอันเป็นฝ่ายสมาธิ : สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งมั่นชอบ)

๔. ศีล ได้แก่ สัมมาวาจา (วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ)

๕. ชีวิตอันอุดม ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีล

ในตอนท้าย ท่านอนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ศีล และ ความสงบจากกิเลส

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

อนาถปิณฑิกเทพบุตร มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า [อนาถปิณฑิโกวาทสูตร]

อริยมรรค

อริยมรรคมีองค์ ๘

ภาวนาธิษฐานชีวิตัง

อะไรคือประโยชน์สูงสุดของชีวิต

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nataya
วันที่ 2 ก.พ. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 17 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ