ลัทธิครูอาจารย์ [ตาบอดจนกว่าจะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า]
ผู้ที่เห็นโทษของความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราซึ่งก็คือ สักกายทิฏฐิ และเห็นประโยชน์ของ ปัญญาที่จะรู้ว่าธรรมไม่ใช่เราซึ่งตรงข้ามกับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ความเห็นถูกจะค่อยๆ รู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา
สักกายทิฏฐิ
สก (ของตน) + กาย (ที่ประชุม) + ทิฏฺฐิ (ความเห็น) ความเห็นว่าเป็นกายของตน , ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน หมายถึง ความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาพธรรม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒- หน้าที่ 81
อัตตานุทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐
ด้วยคำถามว่า ทิฏฐิอะไร แก้ว่า คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ด้วยคำถามว่า ทิฏฐิเท่าไร แก้ว่า ทิฏฐิ ๖๒ มีสักกายทิฏฐิ เป็นประธาน อนึ่ง สักกายทิฏฐินั้นแล ท่านกล่าวว่า อัตตานุทิฏฐิ โดยคำสามัญ ว่า นั่นเป็นตัวตนของเรา เมื่อกล่าวถึงอัตตานุทิฏฐินั้น ก็เป็นอันกล่าวถึงแม้ ทิฏฐิที่ปฏิสังยุตด้วยอัตตวาท
แต่ก่อนที่จะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคนก็มีศาสดาของตน (ลัทธิครูอาจารย์) แต่ลืมศาสดายิ่งใหญ่ไม่มีใครเทียบได้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอาจารย์ของแต่ละคน ไม่ได้กล่าว คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่อ้างคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง กล่าวตู่บ้างโดยที่พระองค์ก็ไม่ได้ตรัส เพราะฉะนั้นเป็นการไม่ไตร่ตรองว่าความจริงต้องเป็นความจริง ถ้าใครพูดความจริงตรงตามที่ทรงแสดงไว้ก็คือ เดี๋ยวนี้มีจริง เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เสียง รส คิด ติดข้อง โกรธ ล้วนมีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้กับ คำ ที่ได้รับฟัง ต้องตรงกันที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจ คำจริงนั้น ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าถ้าใครพูดคำอื่นที่ไม่ได้ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ฟังทำไม? แต่ก็ฟังมาเยอะ เพราะว่า ตาบอด จนกว่าจะรู้ว่า ถ้าไม่มี คำ ที่ต่างจากคำของคนอื่นทั้งหมด ไม่ว่าเทวดา พรหม มนุษย์หรืออาจารย์ใดๆ ทั้งสิ้น คำนั้นคือ คำของผู้เดียวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนนั้นก็เริ่มรู้ว่าสิ่งที่มีค่าคือ ได้ฟังคำที่ใครก็พูดไม่ได้ถ้าไม่มีความเข้าใจจากการได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ พระธรรมที่ให้ความเข้าใจ เป็นไปด้วยการสิ้นทุกข์
..กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหานวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ..