ฟังธรรมเพื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง

 
เมตตา
วันที่  1 ก.พ. 2562
หมายเลข  30444
อ่าน  714

ฟังธรรมเพื่อมีความเห็นที่ถูกต้องไม่ใช่ฟังเพื่ออย่างอื่น ถ้าหวังผลอย่างอื่นขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นเราที่หวังผลไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เพราะเมื่อมีความเห็นถูกก็จะละคลายอกุศล อกุศลต่างๆ ไม่สามารถละได้ด้วยความเป็นเรา เพราะว่าเราหรือความเห็นผิดไม่สามารถดับอกุศลทั้งหลายได้ มีเพียงปัญญา ความเห็นถูกเท่านั้นที่ทำกิจของปัญญา ละคลายความไม่รู้ (อวิชชา) ซึ่งอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย ส่วนความเห็นถูกเข้าใจถูกหมายถึงปัญญาที่สามารถเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นมรรคองค์แรกในอริยมรรคมีองค์ ๘ เริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อมีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ อกุศลทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้าที่ 1

มัคคสังยุต

๑. อวิชชาสูตร

ฯลฯ
[๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้งประกอบด้วยอวิชชาความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบ ย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ.

จบอวิชชาสูตรที่ ๑

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้าที่ 7

๒. อุปัฑฒสูตร

ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์

[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสักยะ ชื่อ สักกระ ในแคว้นสักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์เทียวนะ พระเจ้าข้า.

[๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูก่อนอานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.

[๖] ดูก่อนอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ... สัมมาวาจา ... สัมมากัมมันตะ ... สัมมาอาชีวะ ... สัมมาวายามะ ... สัมมาสติ ... สัมสมาธิ ... อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูก่อนอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี ฯลฯ

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่...

สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเกื้อกูลกัน [วิภังค์]

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่..

สัมมาสติเกิดได้เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Selaruck
วันที่ 4 ก.พ. 2562

ขอบคุณและกราบอนุโมทนากับคุณเมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ