ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๐

 
khampan.a
วันที่  10 ก.พ. 2562
หมายเลข  30466
อ่าน  1,863

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๐


~ เห็นความต่างกันของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์กับผู้ที่เป็นบรรพชิต ถ้าใครจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศสูง ต้องรู้ตัวว่า สามารถที่จะมีอัธยาศัยที่จะ อบรมเจริญปัญญาในเพศนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุว่า นับตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่า (ตนเองเป็น) คฤหัสถ์ ไม่มี ชีวิตเดิมที่เคยเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ ไม่มี

~
เกิดมาทั้งชาติ ทุกชาติๆ หวั่นไหวมากเหลือเกินในเรื่องสุขและทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระที่ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ ก็ลองคิดดูว่า เมื่อไรจะถึงอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

~
ไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด ในโลกมนุษย์ก็เห็นมนุษย์เยอะ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็มีภูมิอื่นอีกภูมิหนึ่ง คือ สัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ตาม ชื่อว่า สัตวโลก เพราะอรรถว่าเป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป

~
จะเห็นได้ว่า สัตว์บางชนิด เช่น สัตว์เลี้ยงบางตัว นอนเตียงทองคำ เพราะฉะนั้น ผลของบุญไม่ว่าจะอยู่ในกำเนิดใดทั้งสิ้น ก็เหมือนกับมิตรและพวกพ้องทั้งหลายย่อมยินดีต้อนรับคนที่จากไปนานแล้วกลับมา ฉันใด บุญทั้งหลายของตนๆ ย่อมต้อนรับประคับประคองบุคคลที่ทำบุญไว้ผู้จากโลกนี้ไปปรโลก (โลกหน้า) ฉะนั้น

~
ในขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก (ผลของอกุศลกรรม) แต่ว่าจิตที่เกิดหลังจากนั้นอาจจะเป็นกุศลก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาในขณะนั้น

~
สำหรับภัยของชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็ประสบอยู่ทุกคน แต่อาจจะไม่ได้สังเกต เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะประสบภัยเพียงเล็กน้อย แต่บางท่านก็อาจจะประสบภัยของชีวิตที่ร้ายแรง สำหรับเหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่พบกันอยู่ทุกวัน ก็ได้แก่ ความไม่สะดวกสบายต่างๆ นี่เป็นภัยของชีวิตเหมือนกัน เพราะเหตุว่าทุกคนอยากจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย ไม่ต้องการพบกับความไม่สะดวกสบายใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่ประสบกับความไม่สะดวกสบายแม้เพียงเล็กน้อย ทำให้เห็นภัยของชีวิตว่า นี่คือ ภัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน

~ การที่ได้ฟังพระธรรมก็เหมือนกับเป็นการเกิดใหม่ ที่จะทำให้จิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละคลายอกุศล ซึ่งแตกต่างจากก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม

~
มีข้อที่น่าคิดว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วยังไม่คิดที่จะพากเพียรเพื่อที่จะละอกุศลต่างๆ เหล่านี้แล้ว ฟังพระธรรมทำไม?

~
คนที่โกรธจัดๆ พอหายโกรธแล้ว จะรู้ได้เลยว่า เมื่อกี้นี้อยู่ที่ไหน ทำอะไร ไม่ได้มีปัญญาที่จะเห็นโทษของการกระทำที่เกิดจากความโกรธเลย

~ อกุศล (ความชั่ว) ก็เป็นธรรม กุศล (ความดี) ก็เป็นธรรม ตราบใดที่ยังมีปัจจัย ที่จะให้อกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เกิดก็ต้องเกิด จนกว่าจะมีปัจจัยทำให้กุศลและปัญญาเจริญขึ้นเห็นตามความเป็นจริง ก็ค่อยๆ ละอกุศล ไม่ใช่เราละ หรือไปกั้น หรือไปทำอะไร แต่ความเห็นถูกต่างหากที่รู้ว่า ทางนั้นผิด ทางนั้นไม่มีประโยชน์ ทางนั้นเป็นโทษ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็นำไปสู่ทางที่เป็นประโยชน์

~ พระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรมของพระองค์ จะต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนี้ ก็ไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

~ เมื่อไหร่จะหวนกลับมาเห็นค่าของพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และศึกษาให้เข้าใจว่า อะไรถูก อะไรผิด ซึ่ง ถูก เป็นถูกไปตลอด ไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นผิด และผิด ก็ต้องเป็นผิด จะกลับมาเป็นถูกได้อย่างไร, เกิดแล้วเป็นกุศล ก็เป็นกุศล เกิดแล้วเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล จะเอาอกุศลมาเป็นกุศลได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็คือ หายนะ (เสื่อมจากคุณความดี)

~ ตราบใดที่ยังมีอกุศล ก็ยังต้องมีทุจริต

~ ถ้าพระธรรมไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะมีใครรู้ตัวบ้างว่า ไม่ดีเลยไม่ดีอย่างมากมายทีเดียว คนอื่นที่กล่าวว่าท่านไม่ดี ยังไม่รู้ความจริงแท้ของใจของท่านซึ่งไม่ดีมากยิ่งกว่าที่คนอื่นเห็นหรือคนอื่นรู้ คนอื่นอาจจะเห็นเพียงบางครั้ง บางโอกาส บางเหตุการณ์ แต่ว่าใจของท่านเอง ท่านสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สะสมความไม่ดีไว้มากกว่าที่คนอื่นจะเห็น และผู้ใดยอมรับความจริงที่รู้ว่าตนเองไม่ดี ผู้นั้นก็เริ่มที่จะอบรมเจริญกุศล ที่จะขัดเกลาอกุศลทั้งหลายให้เบาบาง แต่ตราบใดถ้ายังคิดว่าดีแล้ว อกุศลก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุว่า ไม่คิดที่จะละอกุศลเพราะเข้าใจว่าดีแล้ว

~ เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเป็นผู้ที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรมซึ่งมีอยู่ในตนได้ เพราะเหตุว่ามักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ว่าผู้ที่ฉลาดจะต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน


~ ถ้าเกิดหิริ ความรังเกียจในอกุศลกรรม แล้วก็เกิดโอตตัปปะ การเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลกรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น

~ การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้กิเลสอ่อนกำลังในการที่จะก่อตัวขึ้น คือ ไม่มีใครชนะกิเลสได้จริงๆ แต่ว่าการสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้กิเลสอ่อนกำลังได้ในการที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ช้าลง หรือแทนที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรง ก็ทำให้การก่อตัวนั้นลดกำลังลงได้

~ พระธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ประมาท เพื่อเข้าใจถูกว่า กิเลสมีมาก และการค่อยๆ เข้าใจธรรม เป็นหนทางดีที่ทำให้สามารถละกิเลสได้ ถ้าใครคิดว่า ละได้โดยไม่เข้าใจธรรม ผู้นั้นเข้าใจผิด

~ ธรรมเป็นเรื่องตรง และเป็นเรื่องอุปการะทุกชีวิตที่สามารถเจริญขึ้นในกุศลธรรม ด้วยปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้องเพราะไม่รู้ ก็ทำทุกอย่างด้วยความไม่รู้ เพราะด้วยความไม่รู้จึงเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นอกุศลประเภทต่างๆ บ้าง

~ ฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรม จนกว่าจะเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

~ ทุกคนมีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็มีความเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลสเหมือนกัน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะมีความเข้าใจและก็เห็นใจ และอภัยให้คนที่ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด และตัวเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าอภัยให้ได้

~ กุศลเป็นสภาพของจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีมานะ (ความสำคัญตน) ไม่มีทิฏฐิ (ความเห็นผิด)


 ~ ในเรื่องการเจริญกุศลแล้วขาดวิริยะ (ความเพียร) ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะต้องฝืนกระแสของอกุศล ฝืนความพอใจ ความสะดวกสบายทุกประการ เพื่อที่จะให้กุศลนั้นๆ สำเร็จ

~ การเจริญกุศลทุกประการด้วยความเคารพ คือ เมื่อเคารพความดีงามของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ยอมสละอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่เคารพในกุศลธรรมจริงๆ ก็จะยอมสละอกุศลธรรมได้

~ ในขณะที่กุศลก็ค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย อกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่กำลังขัดเกลากิเลสจึงเห็นกิเลส แล้วก็ขัดเกลากิเลส แล้วก็เห็นกิเลส แล้วก็ขัดเกลากิเลส ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

~ สำหรับผู้มีปัญญา จะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำในคำพูดของบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์

~ ถ้าจะไม่ให้ความโกรธเกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล มีเหตุปัจจัยที่ความขุ่นเคืองหรือความโกรธจะเกิด ก็เกิด แต่ความโกรธหรือความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นนั้น ดับ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะผูกโกรธ ถ้ามีเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็คือรู้ว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนเหมือนกัน มีความผิดพลาด ไม่ใช่ว่าเราเท่านั้นที่จะเป็นคนที่ไม่ผิด แต่ว่าเราก็ต้องผิดเหมือนกัน และเวลาที่เราผิด คนอื่นอภัยให้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นผิด เราก็อภัยให้เขาได้เหมือนกัน

~ ถ้าสามารถที่จะอดทนได้ในขณะนั้น โทสะก็ไม่เกิด วาจาที่ไม่ดีก็ไม่มี แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงวาจาที่รุนแรง แม้แต่เพียงคำเล็กน้อยที่เกิดจากใจที่โกรธ ก็ไม่มี

~ ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น แล้วอดทน ดีไหม แต่ถ้าอดทนได้ ดีไหม? ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น

~ ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่นำทุกข์โทษภัยมาให้ใครทั้งหมด แม้แต่ตนเองและผู้อื่น

~ จะชำระเครื่องเศร้าหมอง (เครื่องเศร้าหมองในที่นี้ คือ กิเลสอกุศลทั้งหลาย) ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง จริงใจ และเป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เป็นไปเพื่ออย่างอื่น

~ ความเข้าใจถูกเห็นถูกต่างหากที่ละคลายความไม่รู้และความเข้าใจผิด

~ ประโยชน์ที่ดีที่สุดที่เกิดมาเป็นคนนี้ คือ ได้เข้าใจธรรม

~ อกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี แม้เพียงเล็กน้อย ก็อย่าเห็นว่า ไม่เป็นไร แต่เป็นสิ่งที่ควรรังเกียจ.

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๙


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 10 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
siraya
วันที่ 11 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
mammam929
วันที่ 11 ก.พ. 2562

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และอาจารย์วิทยากรทุกท่านที่เมตตาเกื้อกูลในการถ่ายทอดพระธรรมให้ได้ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกต้องค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 11 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
panasda
วันที่ 11 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 11 ก.พ. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 13 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 13 ก.พ. 2562

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
raktukonka
วันที่ 15 ก.พ. 2562

กราบขอบพระคุณ และอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kukeart
วันที่ 15 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
s_sophon
วันที่ 20 ก.พ. 2562

~ ทุกคนมีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็มีความเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลสเหมือนกัน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะมีความเข้าใจและก็เห็นใจ และอภัยให้คนที่ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด และตัวเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าอภัยให้ได้
" และเวลาที่เราผิด คนอื่นอภัยให้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นผิด เราก็อภัยให้เขาได้เหมือนกัน"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ