จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้หรือไม่

 
fueng
วันที่  13 มี.ค. 2550
หมายเลข  3048
อ่าน  1,782

จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้หรือไม่ กรุณาช่วยอธิบายด้วยครับ เพราะไม่เข้าใจจริงๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 14 มี.ค. 2550

จิตเป็นธรรมชาติรู้ รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มีจริงและสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง สิ่งที่มีอยู่จริงเรียกว่า ปรมัตถธรรม ๔ สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง คือ บัญญัติ เป็นสิ่งที่สมมติกันขึ้นเพื่อใช้สื่อสารเพื่อให้เข้าใจในกลุ่มชน เช่น ชื่อของคนวัตถุสิ่งของ เป็นบัญญัติ เมื่อจิตคิดถึง ชื่อ คำสมมติ อักษร ตัวเลข ต่างๆ ขณะนั้นจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 14 มี.ค. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
fueng
วันที่ 14 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 14 มี.ค. 2550

จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ และจิตมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ได้เหมือนกัน แม้แต่พระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้าก็ยังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ บัญญัติเป็นสมมติใช้เรียกชื่อคน เช่น ชื่อพระสารีบุตร ชื่อพระอานนท์ ถ้าไม่มีบัญญัติก็เรียกไม่ถูก จะเรียกขันธ์ ๕ โน้น ขันธ์ ๕ นี้หรือ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อิคิว
วันที่ 14 มี.ค. 2550

ทั้งพระอภิธรรมและพระสูตรได้แยกแม่บทหรือกระทู้ธรรมออกเป็นสองฝ่ายที่แตกต่างกัน ผู้ที่อ่านพระไตรปิฏกโดยเฉพาะพระสูตร ถ้าไม่ทราบหลักธรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนาในเรื่องของอนัตตาแล้วจะต้องเข้าใจว่าพระสูตรเป็นเรื่องของอัตตาเป็นบัญญัติ

๑. ธัมมสังคณี ว่าด้วยการ " รวมกลุ่มธรรมะ " คือจัดระเบียบธรรมะต่างๆ ที่กระจายกันอยู่มากมายมาไว้ในหัวข้อสั้นๆ เทียบด้วยการนำเครื่องประกอบต่างๆ ของนาฬิกามาคุมกันเข้าเป็นนาฬิกาทั้งเรือน มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๔. ๑. แม่บทหรือมาติกา แม่บทหรือมาติกานี้ แบ่งออกเป็น ๒ หัวข้อใหญ่ คือ อภิธัมมมาติกา ได้แก่ แม่บทหรือกระทู้ธรรมที่เป็นฝ่ายอภิธรรมอย่างหนึ่ง. สุตตันตมาติกา ได้แก่ แม่บทหรือกระทู้ธรรมที่ฝ่ายพระสูตร คือนำ ธรรมะจากพระสูตรมาตั้งเทียบเคียงให้ดูอีกอย่างหนึ่ง. แม่บทฝ่ายพระสูตรไม่มีหัวย่อย คงกล่าวถึงชื่อธรรมะต่างๆ แต่ต้นจนจบ ส่วนแม่บทฝ่ายอภิธรรม แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ๑๔ หัวข้อเฉพาะเล่มที่ ๓๔ ซึ่งมีชื่อว่า " ธัมมสังคณี

" (รวมกลุ่มธรรมะ) นั้น แบ่งออก เป็น ๕ หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้ :

๑. หัวข้อที่เป็นกระทู้ธรรมหรือแม่บท (มาติกา) เท่ากับเป็นแก่นหรือ สาระสำคัญของ ธัมมสังคณี แต่มีย่อมาก จึงจำเป็นต้องมีหัวข้ออื่นๆ ต่อๆ ไปอีก ๔ ข้อ เพื่อช่วยขยายความ.

๒. คำอธิบายเรื่องจิตว่าเกิดขึ้นอย่างไร (จิตตุปปาทกัณฑ์) เป็นคำ อธิบายเพียงบางส่วนของมาติกาหรือแม่บท เฉพาะที่เกี่ยวกับจิตกับธรรมะที่เนื่องด้วยจิต (ที่

เรียกว่าเจตสิก) จัดว่าเป็นคำอธิบาย ที่พิสดารที่สุดกว่าหัวข้อทุกๆ หัวข้อ.

๓. คำอธิบายเรื่องรูปคือส่วนที่เป็นร่างกาย (รูปกัณฑ์) เมื่อแยกพูด เรื่องจิตและเจตสิกไว้ใน ข้อที่ ๒ แล้ว จึงพูดเรื่องรูปหรือกายไว้ในข้อที่ ๓ นี้.

๔. คำอธิบายแม่บทหรือมาติกาที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่ง หมดทุกข้อ (นิกเขปกัณฑ์) เป็นการอธิบายบทตั้งทุกบทด้วยคำอธิบายขนาดกลาง ไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นเกินไป. ไม่เหมือนกับข้อ ๒ และข้อ ๓ ซึ่งอธิบายเฉพาะบทตั้งเพียงบางบทอย่างพิสดาร.

๕. คำอธิบายแม่บทหรือมาติกาที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่งแบบรวบรัดหมดทุกข้อ (อัตถุทธารกัณฑ์) ๒ หัวข้อนี้อธิบายอย่างย่อมาก.
ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในแม่บทของเล่มที่ ๓๔ นี้ แบ่งหัวข้อหรือแม่บทใหญ่ออกเป็นฝ่ายอภิธรรมกับฝ่ายพระสูตร เพื่อให้เทียบเคียงกันดู. แม่บทฝ่ายอภิธรรมมี ๑๒๒ หัวข้อ (หัวข้อละ ๓ ประเด็น มี ๒๒, หัวข้อละ ๒ ประเด็น มี ๑๐๐) ส่วนแม่บทฝ่ายพระสูตร มี ๔๒ หัวข้อ (หัวข้อละ ๒ ประเด็น) แต่ไม่มีคำอธิบายแม่บทฝ่ายพระสูตร คงนำมาตั้งไว้ให้ทราบเท่านั้น

ตัวอย่างของแม่บทฝ่ายพระอภิธรรม

๑. กุสลติกะ กุสลา ธมฺมา ธรรมเป็นกุศล อกุสลา ธมฺมา ธรรมเป็นอกุศล อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมเป็นอัพยากฤต
๒. เวทนาติกะ สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา ธรรมสัมปยุตด้วยสุขเวทนา ทุกฺขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา ธรรมสัมปยุตด้วยทุกขเวทนา อทุกฺขมสุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา ธรรมสัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา ตัวอย่างแม่บทฝ่ายพระสูตร สุตตันตมาติกา ๔๒ ทุกะ คืออธิวจนทุกะ ธรรมคือ คำร้องเรียก, ธรรมคือทางแห่งคำร้องเรียก นิรุตติทุกะ ธรรมคือภาษาพูด, ธรรมคือทางแห่งภาษาพูด ปัญญัติติทุกะ ธรรมคือบัญญัติ, ธรรมคือทางแห่งบัญญัติ ขอเจริญในธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อิคิว
วันที่ 14 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนา

อารมณ์บัญญัติ เป็นธาตุอะไร จัดอยู่ในขันธ์อะไร เป็นอายตนะภายในหรือภายนอก มีอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด เป็นปรมัตถ์ธรรมอะไร เราจะรู้ว่ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ทางทวารไหน มีลักษณะของอารมณ์เป็นอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
devout
วันที่ 14 มี.ค. 2550

บัญญัติไม่เป็นธาตุ ไม่เป็นขันธ์ ไม่เป็นอายตนะ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะไม่มีสภาวะ คือลักษณะที่เป็นจริงที่ปรากฎให้รู้ได้ แต่บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ คือรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น ตามการปรุงแต่งของสัญญาและสังขารขันธ์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อิคิว
วันที่ 15 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนาเมื่อจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ และจิตมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ได้รวมทั้งบัญญัติอารมณ์นี้เป็นธรรมารมณ์ที่รู้ได้ทางมโนทวาร อารมณ์นี้จะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือเป็นทั้งสองอย่างได้ไหมครับ (ผมต้องกราบขออภัยที่ต้องซักถามหลายประเด็น เพียงเพราะผมต้องการกำหนดรู้ให้ชัดในอารมณ์นี้ ผมเพิ่งจะทราบชื่อบัญญัตินี้ในกระทู้นี้ได้ไม่นาน หาได้มีเจตนาอื่นแต่ประการใด)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
study
วันที่ 15 มี.ค. 2550

อารมณ์ของจิตเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นอัพพยากตะก็ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 11 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ