จุดเริ่มต้นของการเป็นชาวพุทธ_สนทนาธรรมที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒

 
khampan.a
วันที่  19 มี.ค. 2562
หมายเลข  30570
อ่าน  1,558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น




วันนี้ วันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาพระธรรมวินัย ร่วมกับมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จัดกิจกรรมสนทนาธรรม เรื่อง "พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของชาวพุทธ" ณ ห้องประชุมอาคารนานาชาติ (IUP) ​ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

ก็เป็นโอกาสที่มีค่าที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สนทนาเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมไม่ใช่ชาวพุทธและไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย










ในการสนทนาธรรมครั้งนี้ ก็ได้กล่าวถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด มีค่าหาสิ่งใดเปรียบมิได้ คือ พระสัมมาพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง เป็นพุทธรัตนะ พระธรรมที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ คือ พระอริยบุคคลที่เป็นพระอริยสาวกของพระสัมมาพุทธเจ้า สังฆรัตนะ เป็นหมู่ของบุคคลผู้ขัดเกลากิเลสรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล นอกจากนั้น ไม่ใช่สังฆรัตนะ และการที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้ ก็เพราะมีความเข้าใจพระธรรม ความเข้าใจพระธรรมนี้เองที่ทำให้เป็นชาวพุทธที่แท้จริง เป็นบุคคลผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจุดเริ่มต้นของความเป็นชาวพุทธ ก็คือ ได้เริ่มฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

บางช่วงบางตอนจากการสนทนาในครั้งนี้ อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา [ผู้เรียบเรียงหนังสือ จะบวชหรือจะบาป และ ภิกษุลามก อุบาสกจัณฑาล บริษัทดื้อด้าน วิกฤติพระพุทธศาสนา] ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาท ว่า ควรอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่จะได้มีความเข้าใจพระพุทธศาสนาเถรวาท อันเป็นคำสอนที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นคำสอนที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งให้กับชนรุ่นหลังต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ลูกหลานที่จะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจแล้ว เด็กก็จะไม่สามารถเข้าใจถูกต้องได้เลย ดังนี้ว่า

"ลูกหลาน คงหมดโอกาสที่เขาจะได้มีสิทธิ์ที่จะได้เข้าใจพระธรรมคำสอนที่ถูกต้องจริงๆ ถ้าผู้ใหญ่เรายังไม่เริ่มต้นที่จะหันมาฟังแล้วทำความเข้าใจเพื่อที่จะรักษาพระพุทธศาสนาเถรวาทให้ชัดเจนให้มั่นคงจริงๆ ถ้าขาดตรงนี้ก็คิดว่าลูกหลานของเราต่อๆ ไปก็คงหมดโอกาส ซึ่งตรงนี้เป็นที่น่าเสียดายมาก แม้แต่พวกเราเองที่ได้มีโอกาสที่ได้ยินได้ฟังคำที่ถูกต้องในขณะนี้ ขนาดมาได้ยิน ก็ยังมีความยากมากๆ ที่จะต้องศึกษาต้องทำความเข้าใจต่อๆ ไปในอนาคต ต้องใช้เวลามาก"

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ได้กล่าวถึงความวิบัติที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองและแก่พระพุทธศาสนา นั้น มีต้นเหตุมาจากอะไร เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างนี้ ดังนี้ ว่า

"สิ่งที่ปรากฏออกมาเฉพาะที่เป็นข่าวที่ไม่ดี ก็แสดงถึง บ่งถึงความไม่ได้เป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทเลย เพราะไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย ก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสก็เป็นธรรม กิเลสก็เป็นธรรมดา (ความเป็นไปของกิเลส) เพราะฉะนั้น ที่เกิดความวิบัติทั้งกับพระศาสนาและชาติบ้านเมืองที่เห็นปรากฏกันนี้ ก็เพราะความเป็นธรรมดาของกิเลส แต่ถ้ามีการศึกษาพระธรรมวินัย มีความเข้าใจ ปัญญาก็มีความเป็นธรรมดาของปัญญา (ความเป็นไปของปัญญา) ที่จะเข้าใจถูกและแก้ไขปัญหา การที่จะแก้ไขปัญหา ต้องแก้ด้วยความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนที่เป็นเถรวาท เพราะแม้พระเถระ ท่านยังกล่าวตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วคนอื่นทำไมไม่ฟัง แทนที่จะคิดเปลี่ยนพระวินัย เช่น ยุคนี้ ต้องใช้เงินใช้ทอง ภิกษุอยู่ไม่ได้ ก็ควรจะรับเงิน เปลี่ยนเลย อยากจะเปลี่ยนกันจะแย่อยู่แล้ว ตามกำลังของกิเลส นี่คือ อำนาจของกิเลส แทนที่จะไปคิดเปลี่ยนพระวินัย ก็ควรคิดที่จะศึกษาให้เข้าใจและขัดเกลากิเลสดีกว่า จริงๆ ชีวิตของพระภิกษุในสมัยอดีตกาล ถ้าไม่มีผู้ที่จะสร้างวิหารให้ ท่านก็ไม่อาลัยเลยกับชีวิต ท่านก็อยู่ตามป่าตามเขา แต่เมื่อมีผู้ที่มีศรัทธาสร้างพระอาราม ท่านก็อยู่ก็ได้หรือว่าบางท่าน ท่านก็อยู่ป่า ก็แตกต่างกันออกไปตามชีวิต แต่ท่านก็ไม่ได้มาเป็นผู้สร้างเอง เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเงินเรื่องทอง มีพระพุทธบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ไม่ใช่เรามองว่าสิกขาบทคือบทที่จะต้องศึกษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เหมือนกับกฎระเบียบหรือกฎหมาย แต่เป็นความจริง ถ้าปฏิญาณตนว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิต ก็ต้องรู้ว่าบรรพชิตคือผู้ละทั่ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีชีวิตที่แตกต่างจากคฤหัสถ์ แต่ (ทำไม) เข้ามาแล้วถึงอยากมีชีวิตที่ใช้เงินใช้ทอง ซึ่งสมัยพุทธกาล การสาธารณสุข ความเจริญของเทคโนโลยีก็สู้สมัยนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สมัยนี้ แม้ไม่มีเงินไม่มีทอง ความเป็นอยู่จะสะดวกสบายกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำไป จะอ้างยุคสมัยไม่ได้ แต่ควรจะเข้าใจว่า ถ้าเป็นบรรพชิต ก็จะต้องศึกษาและประพฤติตามพระวินัยอย่างถูกต้อง แต่ (ก็มีผู้ที่) คิดจะเปลี่ยนพระวินัย ด้วยกำลังของกิเลส แล้วคนก็ไม่เข้าใจ อย่างที่มีผู้ที่ปรารภว่าพระภิกษุก็ไม่รู้จักพระภิกษุ คือ พระก็ไม่รู้จักความเป็นพระ คฤหัสถ์ก็ไม่รู้จักความเป็นพระ คฤหัสถ์ก็อยากได้บุญ ชาวบ้านก็เอาเงินไปให้พระ พระก็อยากได้เงิน เพราะนึกว่าต้องใช้เงิน ชีวิตก็จะเสื่อมไปอย่างนี้"

จะเห็นได้ว่า การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สนทนาธรรม มากบ้างน้อยบ้าง ตามโอกาส ตามกาล ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งหมด เป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะไม่ไปทางผิด มีแต่จะเพิ่มพูนความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นต่อไป เพราะเมื่อเห็นประโยชน์เห็นคุณค่า ก็ฟังต่อไป ศึกษาต่อไป ไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิต

สำหรับประเด็นเรื่องผู้ใหญ่ควรศึกษาพระธรรม และ ประเด็นเรื่องเงินทอง ไม่ควรแก่พระภิกษุ เพราะพระภิกษุในพระธรรมวินัยไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง นั้น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็ได้กล่าวไว้ เป็นข้อความที่ปรากฏในหนังสือ เก็บไว้ในหทัย เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง เตือนใจให้ไม่ลืมในความเป็นจริง ดังนี้ ว่า

~ ถ้าผู้ใหญ่เองไม่รู้ธรรมแล้วจะไปนำเด็กได้อย่างไร เด็กก็จะต้องผิด เพราะความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่ ความจริงแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงจะสามารถเกื้อกูลเด็กให้มีความเข้าใจถูกต้องได้

~ ถ้าเห็นว่า “พระพุทธศาสนาดี ควรศึกษา” ผู้นั้นก็ต้องศึกษาด้วย ไม่ใช่อยากให้คนอื่นศึกษา แต่ตนเองไม่ศึกษา โดยเฉพาะอยากให้เด็กศึกษา แต่ผู้ใหญ่ไม่ศึกษา ถ้าผู้ใหญ่ไม่ศึกษาแล้วเด็กจะศึกษาจากใคร

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติว่า “พระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง” แล้วคฤหัสถ์เอาเงินไปให้พระภิกษุ เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

~ พระภิกษุต่างจากคฤหัสถ์ แค่นี้ก็ตอบได้ทุกข้อ เพราะว่าคฤหัสถ์ยินดีในเงินและทอง แต่ผู้ที่จะบวช สละเงินและทอง สละหมายความว่าไม่ยินดี เพราะฉะนั้น ถ้ายังคงยินดีในเงินและทองอยู่ ก็ไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย

~ ตราบใดก็ตาม ที่ยังมีผู้นำเงินไปเกี่ยวข้องกับพระภิกษุ ผู้นั้น ไม่เป็นมิตรกับพระภิกษุแน่นอน เพราะทำให้ผู้กำลังจะละคลายกิเลสกลับต้องหมกมุ่นเพราะกิเลส

~ พระภิกษุในธรรมวินัย อยู่ได้ด้วยปัจจัย (คือ สิ่งที่เป็นที่อาศัยของชีวิต) ๔ อย่าง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหารที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค พอไหมที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อขัดเกลากิเลส แต่ถ้ายินดีในเงินและทอง ก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเงินรับทองหรือเปล่า แล้วพระองค์ทรงมีพระชนม์ได้อย่างไร พระภิกษุซึ่งบวชตามพระธรรมวินัย รับเงินรับทองหรือเปล่า ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอัสสชิ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร พระภิกษุทั้งหลายในครั้งพุทธกาล รับเงินรับทองหรือเปล่า แล้วท่านอยู่ได้อย่างไร อยู่ด้วยคุณความดี


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
papon
วันที่ 19 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 20 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
siraya
วันที่ 20 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nualchan.deesawat
วันที่ 20 มี.ค. 2562

ชัดเจนตามนั้นทุกอย่างค่ะ กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Tathata
วันที่ 25 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ