ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๘
~ ไม่เกี่ยงให้คนอื่นศึกษาธรรม แต่...แต่ละคนเมื่อเห็นประโยชน์แล้วก็ศึกษา ถ้าเป็นอย่างนี้ ทั้งประเทศก็ศึกษาธรรม ไม่ใช่ว่า พระพุทธศาสนาดีมาก แก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง ให้คนอื่นเขาศึกษา ให้เด็กๆ ศึกษา แต่ตัวเองก็ไม่ได้ศึกษา อย่างนั้นเป็นผู้ที่ไม่ตรง ไม่จริงใจ ถ้ารู้ว่าสิ่งใดประเสริฐ เห็นค่าจริงๆ เพราะฉะนั้น ทั้งชีวิต ควรจะเป็นอย่างไร เพื่ออะไร (เพื่อศึกษาพระธรรม เข้าใจพระธรรม)
~ ถ้าใครจะทำอะไรดูออกจะใช้กำลังหรือดูออกจะเหนื่อยมาก หรือว่าอาจจะเสร็จช้า ถ้าท่านช่วยสักหน่อยหนึ่งก็อาจจะเสร็จเร็วขึ้นแล้วก็ไม่เหนื่อยเท่าไร อย่างนั้นควรไหมที่จะช่วย หรือว่าก็คงยังนั่งเฉยๆ ดูดายต่อไป? ถ้าผู้ใดมีเมตตาจิต ก็สามารถที่จะเจริญกุศลได้มาก
~ ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ก็คือ ชนะกิเลสของตนเองในขณะนั้น แล้วก็เห็นโทษจริงๆ ว่า บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธก่อน เพราะเหตุว่า คนผู้โกรธเป็นคนเลว เพราะมีอกุศลจิตเกิดขึ้น แต่บุคคลผู้โกรธตอบ ก็เป็นผู้ที่ทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นอกุศล ก็ยังมีอกุศลจิตเกิดด้วย
~ ไม่ว่าจะได้ลาภ ไม่ว่าจะเสื่อมลาภในวันหนึ่งวันใด ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้าสติระลึกรู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้น ก็จะไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
~ สิ่งใดควรประพฤติตาม แล้วก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ ท่านสามารถที่จะประพฤติตามเพื่อขัดเกลาได้ ท่านก็ประพฤติตามได้ เพราะเหตุว่าไม่เป็นโทษเป็นภัยในเรื่องของกุศลจิต
~ กิเลสมีมากเหลือเกินในใจ เมื่อยังไม่ได้ศึกษา ก็ไม่ทราบเลยว่า เป็นกิเลสประเภทใดบ้าง อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ประการใด แต่ถ้าศึกษาจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียด ท่านจะทราบได้ว่า กิเลสของท่านยังมีมาก ยังหลงเหลืออยู่ในลักษณะใดบ้าง ที่ควรจะขัดเกลายิ่งขึ้น
~ การพูดในสิ่งที่ไม่จริง ทำให้คนอื่นเสียหายและเสียประโยชน์ และทำให้คนอื่นเข้าใจผิดด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีโทษมากทีเดียว
~ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ รู้ทุกอย่างเลย อกุศลมีอะไรบ้าง โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ล้วนแต่เป็นอกุศลที่ไม่ดีทั้งนั้น รู้ทั้งรู้ แต่ว่าเมื่อมี เหตุปัจจัยก็เกิดได้ แล้วก็เกิดอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ก่อนที่ทันจะระลึกได้
~ ถ้าบุคคลใดไม่มีความเห็นถูก การปฏิบัติก็ไม่ถูก การรู้แจ้งธรรมก็ถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกเป็นเบื้องต้นทีเดียว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง
~ เมื่อหลงลืมสติ ก็สะสมกิเลสไว้มาก การขัด การละก็ยากขึ้น แล้วก็โอกาสที่จะเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรม ที่จะไปสู่กำเนิดอื่นก็มีมาก แต่ว่าผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม แล้วก็เห็นประโยชน์ของการเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่ละเว้นโอกาสที่จะศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม
~ การที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้น เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ใช่กุศลกรรม การเกิดในนรกก็เป็นผลของอกุศลกรรม แต่ไม่มีผู้ใดทราบความวิจิตรว่ากรรมที่ท่านได้กระทำแล้ว หลังจากจุติจิตสิ้นสุดความเป็นมนุษย์ในโลกนี้แล้ว อกุศลกรรมนั้นจะทำให้ปฏิสนธิในนรก หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ว่า เหตุคือ อกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น มีอยู่ ถ้าให้ผลทำให้ปฏิสนธิ ก็จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ
~ ถ้าตราบใดที่ทุจริตกรรม อกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ มี เมื่อจุติจากมนุษย์ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ไม่นานเลย ผู้นั้น จะต้องได้รับการทุกข์ทรมานมาก เป็นระยะเวลาที่นานกว่าการเป็นมนุษย์ในโลกนี้มากทีเดียว
~ ความไม่รู้ ไม่สามารถดับกิเลสได้
~ สะสมความดีไว้ เพื่อจะได้ไม่เป็นคนเลวในวันข้างหน้า
~ ความสงบสุข ต้องเกิดจากคุณความดี
~ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา นี้ เป็นหนทางที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน) จนถึงที่สุด
~ ใครจะว่าอะไรเรา เราก็ไม่ต้องไปเสียใจ เพราะขณะที่เขาว่าเรา กิเลสอยู่ไหน ต้องไม่ลืมว่ากิเลสไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่คนที่คิดไม่ดีกับเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราโกรธ เราก็ไม่ดีเหมือนอย่างเขา
~ ถ้าบุคคลนั้นกระทำกายทุจริตหรือวจีทุจริตก็ตาม ทำไมเราจะต้องโกรธ ในเมื่อที่จริงแล้วบุคคลนั้นน่าสงสารที่สุด ที่ว่าเขาจะต้องได้รับผลของกรรม ถ้านึกถึงภาพของบุคคลนั้นที่จะต้องอยู่ในนรก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จะเกิดความกรุณาในผู้กระทำกายทุจริตและวจีทุจริต ในขณะนั้นท่านก็จะไม่โกรธเหมือนกัน เพราะรู้สึกเห็นใจ สงสารจริงๆ
~ ถ้าท่านจะถูกประทุษร้าย เบียดเบียนในปัจจุบันชาตินี้ แทนที่จะนึกโกรธหรือมุ่งร้ายต่อบุคคลซึ่งกระทำต่อท่าน ก็ควรที่จะมนสิการ (ใส่ใจ) ถึงกรรมของท่านเองที่ได้กระทำแล้ว ว่ามีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ผลดังนี้จึงได้เกิดกับท่าน ถ้านึกอย่างนี้จะเป็นประโยชน์
ก็คงจะทำให้ละคลายการผูกโกรธ
~ ถ้าใครทำกุศลกรรม ถึงคนอื่นจะไปขอร้องไม่ให้กุศลกรรมให้ผล ก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าถ้าใครทำอกุศลกรรม ถึงใครจะไปช่วยกันอ้อนวอน ขอร้องอย่าให้บุคคลนั้นได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เป็นไปไม่ได้เลยเหมือนกัน
~ ความไม่ดีทั้งหมด ความไม่เป็นสุขทั้งหมดมาจากไหนก็มาจากใจซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส และถ้ายังคงมีกิเลสมากๆ ไม่มีทางเลยที่จะเป็นสุขกันได้ ตั้งแต่ตนเองและคนอื่นทั่วหน้า เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ผู้ที่ทรงตรัสรู้ ทรงรู้ว่ากิเลสเบาบางลงเท่าไหร่ ความผาสุก ความเจริญ ก็จะมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น
~ อกุศล กับ กุศล เกิดพร้อมกันได้ไหม? ไม่ได้, ถ้ามีเหตุที่อกุศลจะเกิด อกุศลเกิดแน่นอน กุศลเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟังธรรม ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็ค่อยๆ สะสมทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น
~ เขาทำให้เราเสียหาย แต่ใครทำให้ใจของเราเสียหาย (กิเลสของเราเอง) เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคง ใครก็ทำร้ายเราไม่ได้ เป็นความจริงแน่นอน นอกจากกิเลสของตนเอง กิเลส ยังมี ก็ถูกกิเลสทำร้ายทุกวัน
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลมากทีเดียว เพื่อให้เห็นโทษ ถ้าใครที่ยังไม่เห็นโทษของอกุศล ก็ยังประมาทอยู่เพราะคิดว่า มีกุศลพอแล้ว แต่ถ้าเห็นโทษของอกุศลมากๆ ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท
~ ถ้ารู้ตัวเองว่า "กุศลใดๆ ที่ทำ ยังไม่พอ ยังน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับอกุศล" ก็จะเป็นกำลังใจที่จะทำให้มีศรัทธาที่จะทำกุศลมั่นคงขึ้น
~ เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศล ก็ไม่ละเลย แต่ว่าพากเพียรที่จะเจริญกุศลขึ้น ก็จะทำให้มีอุปนิสัยในทางกุศลเพิ่มขึ้น อาศัยแต่ละขณะจิตซึ่งกุศลจิตเกิด จะทำให้ทางฝ่ายอกุศลจิตเบาบางลง
~ การทุจริตในวงการต่างๆ ในการค้าในการเมืองทั้งหลาย มาจากอะไร ถ้าไม่รู้ ก็ยังต้องเป็นอย่างนี้แล้วจะแก้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว คนที่ไม่มีความรู้ ก็พยายามคิดที่จะแก้อย่างคนไม่มีความรู้ ยิ่งยาก ยิ่งยุ่ง ยิ่งไม่สำเร็จ เพราะยิ่งไม่รู้เพิ่มขึ้นแต่ถ้ารู้ (มีปัญญา) ก็สามารถที่จะทำให้ปัญหาน้อยลง
~ ทุกท่าน... ไม่มีเครื่องหมายที่จะให้รู้เลยว่า ชีวิตของใครจะอยู่ต่อไปถึงพรุ่งนี้ หรือว่าเดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ว่า จากที่นี้ไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นสุข หรือว่าจะเป็นทุกข์ จะประสบกับอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) หรืออนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) จะมีอุบัติเหตุ หรือไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าชีวิตไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ ก็รู้ไม่ได้
~ เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็แสนยาก แล้วจะเป็นพระภิกษุที่ดี จะยากกว่าสักแค่ไหน
~ ชีวิตที่ไม่สงบของภิกษุมาจากการรับเงินและทอง เพราะเหตุว่า การสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นผู้ที่สละซึ่งทุกอย่างที่จะทำให้ไม่สงบ เพราะฉะนั้น เงินและทอง เป็นจุดเริ่ม ของการที่จะมีความประพฤติที่เต็มไปด้วยกิเลสและไม่สงบ
~ พระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่ได้ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยการไม่ศึกษาและไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นชาวพุทธที่จะดำรงพระศาสนา ก็ต้องเห็นตามความเป็นจริง ว่า ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ พระพุทธศาสนาก็ล่มสลาย อันตรธาน (สูญสิ้น)
~ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ก็ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ช่วยกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๗
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของอาจารย์คำปั่น ครับ
พระวินัย แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกิเลส
ถ้าภิกษุไม่รักษาพระวินัย ก็แสดงว่าไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ได้ว่าใคร แต่กล่าวตามจริง ใช่ไหมครับอาจารย์คำปั่น
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของอาจารย์คำปั่น ครับพระวินัย แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกิเลส
ถ้าภิกษุไม่รักษาพระวินัย ก็แสดงว่าไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ได้ว่าใคร แต่กล่าวตามจริง ใช่ไหมครับอาจารย์คำปั่น
ถูกต้องชัดเจนครับอาจารย์ธนพล ครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ