การบรรลุธรรม ..ผมพยายามที่จะเข้ามาศึกษาธรรมในที่นี้
ผมพยายามที่จะเข้ามาศึกษาธรรมในที่นี้ เพราะผมก็เห็นด้วยว่า เราควรจะอ้างอิงจากพระไตรปิฎก แทนที่จะยึดถือหลวงพ่อต่างๆ เป็นแนวทาง แต่เมื่อสัมผัสจริงกลับ ไม่ใช่อย่างที่ผมคิด เพราะที่นี่ ไม่ยอมรับความเห็นจากนักปฏิบัติเลยว่า เขามีความเข้าใจธรรมอย่างไร. แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผมจะจากไปอย่างผิดหวัง ผมใคร่ขอแสดงความเห็นว่า การเข้าถึงธรรมหรือการบรรลุธรรมนั้น วิธีการคิด เป็นแค่สื่อเท่านั้น ไม่อาจจะบรรลุได้จากการคิดคือ วิธีบัญญัติกับการเกิดขึ้นของอารมณ์ มันแตกต่างกัน การเข้าถึง หรือการบรรลุมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งค่อนข้างจะไม่ใช่การใช้เหตุผล แต่มันเป็นเรื่องของอารมณ์ หรือ อารมณะปัจยะ เมื่อเข้าถึงแล้วมันคนละเรื่องเลยกับสิ่งที่อธิบาย ลองไปดูการบรรลุธรรมของพระอานนท์ ว่าบรรลุธรรม ขณะที่ล้มตัวลงนอนหลังจากคร่ำเคร่งจนเหนื่อยอ่อน แท้จริงคือการที่จิตละวางจากการยึดมั่นนี่เอง และตรงนี้เองคือ ความแตกต่างของแต่ละศาสนาคือ มีวิธีการเข้าถึงแตกต่างกัน เพราะวิธีการ กับการเข้าถึงมันคนละเรื่องนั่นเอง พระอานนท์จะถือว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสได้สดับฟังมากที่สุด ด้วยซ้ำไปแต่ไม่อาจจะเข้าใจธรรมได้ ก็ขอชี้แจงเพื่อไปพิจารณาดู เพื่อประโยชน์ในการศึกษาธรรมเพื่อการเข้าถึงธรรม
การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ
สุตมยปัญญา
จินตามยปัญญา
ภาวนามยปัญญา
ท่านพระอานนท์ ท่านได้ฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านก็สะสมปัญญามานานแสนนาน เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง การบรรลุธรรมไม่ใช่การคิดเอาเองหรือการไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจก่อน ตามลำดับขั้น ตั้งแต่ธรรมะคืออะไร ปัญญาเริ่มจากการฟัง และจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับ ความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนะครับ
ก็ถูกนะครับ ที่พระอานนท์ สั่งสมปัญญามานาน เหมือนพูดถึงการบรรลุธรรม ในฐานะชาวพุทธ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ก็อาจจะละการอธิบายในเบื้องต้นออกไปได้ แต่มาเน้นตรงที่ไม่เข้าใจเท่านั้น การบรรลุธรรม ไม่ใช่การคิดแบบอรรถ แต่เป็นการสัมผัสที่จิต เกิดความเข้าใจ เหมือนเราสงสัยว่าวิทยุมันร้องเพลงได้ยังไง การอธิบายให้เข้าใจก็จะช่วยให้เกิดความรู้ และนำไปปฏิบัติได้ ก็เป็นความเข้าใจเช่นเดียวกัน คือดับทุกข์ได้
ขออนุโมทนาคำตอบของคุณ kusala ครับ ผมมีความเห็นว่า การศึกษาธรรมนั้น ไม่ควรตั้งต้นด้วยความต้องการบรรลุธรรม อันจะนำไปสู่ความคิด และการกระทำต่างๆ ที่คิดว่า จะช่วยให้ได้รับในสิ่งที่อยากได้นั้น แต่ผู้ศึกษาควรมีความตั้งใจที่จะศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระธรรม ด้วยความศรัทธา ในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยความนอบน้อม และเคารพในธรรม เมื่อเหตุสมควรแก่ผลนั่นคือ ความเข้าใจที่สะสมมามากเพียงพอ เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะบรรลุธรรมได้ โดยปราศจากความต้องการใดๆ
ผมเองก็หมั่นสำรวจใจตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า ทุกวันนี้ศึกษาพระธรรม เพราะต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเปล่า เมื่อเรามีความเข้าใจในขั้นต้นแล้ว ก็จะรู้ว่าตัวเองมีความเข้าใจที่สะสมมามากน้อยเพียงใด และความเข้าใจหรือปัญญาที่มีอยู่นั้น เป็นเหตุที่สมควรกับผลอันประเสริฐ คือการบรรลุธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงปัญญาที่ ยังเล็กน้อยและไม่มั่นคงพอ โดยทราบได้จากการสอบทานกับท่านผู้รู้ ซึ่งได้ศึกษาพระธรรมมาเป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้บังคับใคร ให้ทำหรือไม่ทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะทุกคน ย่อมทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบกับพระธรรม คำสอนอันทรงคุณค่า และมีกัลยาณมิตรที่มีความเข้าใจอันลึกซึ้ง พร้อมที่จะแนะนำให้แก่ผู้ที่สนใจ แต่กลับไปสนใจกับสิ่งอื่น ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งครับ
การบรรลุธรรม ผมพยายามที่จะเข้ามาศึกษาธรมในที่นี้ พุทธศาสนา เป็นศาสนาของวิญญูชน ปัญญาสำคัญที่สุด และเป็นเรื่องของการละ ไม่ใช่อยาก ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องละ ความอยากเป็นเครื่องกั้น และเครื่องเนิ่นช้าของการบรรลุธรรม ธรรมทั้งหลายย่อมมาแต่เหตุ สร้างเหตุปัจจัยของการบรรลุธรรมดีกว่า คือ ฟังธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ เพราะเราเป็นสาวกๆ แปลว่าผู้ฟัง ฟังมากๆ จนเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป อย่างดีจริงๆ แล้วจะเป็นเหตุปัจจัยให้ สัมมาสติเกิด ระลึก จิต เจตสิก รูปนั้น ไปเรื่อยๆ ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย จนบรรลุ เรียกว่าเหตุต้องสมควรกับผล แต่อย่าลืมว่า การอบรมเจริญปัญญานี้นานมาก เรียกว่า จิรกาลภาวนา ไม่รู้กี่ชาติ ดังนั้นการบรรลุธรรม ต้องศึกษาและอบรมเจริญนานมาก ที่สำคัญต้องถูกต้องจริงๆ อย่าอยาก และอย่าใจร้อน
ผมเองก็เป็นผู้หนึ่ง ที่สนใจธรรมะ ยังไม่ทราบด้วยช้ำไปว่าคืออะไร ในเบื้องต้นก็พยายามตั้งหลัก ให้ทราบก่อนว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้นคืออะไร เท่าที่ปัญญาปุถุชนคนธรรมดา ที่เต็มไปด้วยกิเลสอย่างผม พอจะได้เข้าใจได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อย
ผมตั้งต้นจาก การสอบถามปัญหา ในหัวข้อ 02657 เริ่มศึกษาธรรมะควรทำอย่างไร ก็มีผู้มีจิตใจเมตตาจำนวนมาก ได้แสดงความเห็นอันเป็นประโยชน์ แต่มีข้อสังเกตบางประการ ที่ผมเห็นว่ามีบางส่วนที่ผู้แสดงความเห็นในที่นี่ มีความเกรงใจในการถามตอบปัญหา ชึ่งผมไม่เคยชินมากนัก เช่น เมื่อผมปลอบใจคุณติ๊ก ในหัวข้อ 02780 รอเพื่อนช่วยตอบที ผมก็แสดงความเห็นไปตามประสบการณ์ ที่ได้รับจริง ก็เกิดความเข้าใจผิด และตัดเฉพาะข้อความส่วนหนึ่ง ที่ผมแสดงความเห็น และตั้งหัวข้อว่า ใครรู้อย่างนี้ 02965 ซึ่งผมก็ได้ยอมรับว่า ไม่สมควรแสดงความเห็นดังประโยคดังกล่าวที่ว่าไว้ ทำให้รู้สึกว่าวัฒนธรรมองค์กรบางอย่าง ในที่นี้ ต่างไปจากที่ผมคุ้นเคย
ความจริงแล้ว ผู้ถามน่าจะตอบผมอย่างตรงไปตรงมาเลยก็ได้ ว่าต้องเปลี่ยนคำพูดบางประการ แต่ดูเสมือนหนึ่งว่า ผมเป็นผู้อวดอ้างตนเอง ทั้งที่ผมบอกเสมอว่าเป็นเพียงผู้ที่เริ่มศึกษา และเต็มไปด้วยกิเลส ผมไม่โกรธเลยนะครับ แต่ที่ยกตัวอย่างมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความหวังดีของท่าน ถ้าไม่ตอบผู้ไม่ทราบโดยตรง แล้วกลับไปตั้งกระทู้ใหม่ โดยการ post ข้อความของบุคคลนั้น เหมือนเจอหน้าผมไม่พูด แต่ไปพูดในอีกทีหนึ่ง ตามความจริงแล้ว ผมพร้อมและน้อมรับความเห็นทุกท่าน เพราะที่ post ก็เพื่อจุดประสงค์นี้อยู่แล้ว ผมอาจจะพูดตรง แต่ก็จำเป็น เพื่อให้การสนทนาที่จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะความเห็นของผู้เริ่มศึกษาธรรมะอย่างผม จะได้ไม่ต้องอ้อมค้อมอีกต่อไป ถ้าเป็นเช่นนี้ได้จะเป็นการดีมาก เพราะในโอกาสแรก ที่ท่านเห็นว่าผมขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอให้ชี้ได้ตรงๆ เลยครับ ผมถือว่าท่านเป็นกัลยาณมิตรที่ดี
แต่อย่างไรก็ตาม ผมจะไม่ไปศึกษาแนวทางอื่น เพราะผมมั่นใจว่าแนวทางที่มูลนิธิฯ ดำเนินการอยู่ น่าจะตรงและชัดเจนที่สุดแล้ว ไม่มีแนวทางอื่น ที่จะศึกษาธรรมะได้ดีไปกว่า ศึกษาธรรมะจากผู้ตรัสรู้ในเรื่องนี้ อย่าได้ท้อแท้ไปเลยครับ คุณ praisin ท่านเดินทางมาในทางอันที่ควรแล้ว ปัญหาอื่น น่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมในองค์กรมากกว่า เป็นเพียงกระพี้ เหมือนที่ผมแสดงความเห็นในย่อหน้าแรกๆ ผมยังคงจะศึกษาในแนวทางนี้ต่อไป และมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ผมพูดไปตามสิ่งที่ประสบมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่แสดงความเห็น เพราะทุกท่านเป็น เพื่อน พี่ น้อง ของผมทุกท่าน
ก่อนที่พระพุทธองค์ จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงตรัสกับท่านพระอานนท์เถระให้พุทธบริษัทยึด พระธรรมพระวินัย เป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ ส่วนคำสอนของหลวงพ่อต่างๆ ถ้าท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมแล้ว คำสอนท่านย่อมต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย และเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ยิ่งถ้าท่านเป็นพระอริยบุคลแล้ว ยิ่งต้องเคารพเทอดทูน พระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมอย่างยิ่งท่านย่อมไม่กระทำ หรือสอนในสิ่งที่ขัดแย้ง หรือหักล้าง พระธรรมวินัยแน่นอน เพราะแม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังทรงเคารพพระธรรม ส่วนการบรรลุธรรมนั้น ต้องอาศัยอินทรีย์บารมี ที่สั่งสมมา ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นสัดส่วนของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธของแต่ละบุคคล ที่จะทำให้ถึงมรรคผลจึงไม่เท่ากัน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ ทรงเปรียบเทียบบุคคล กับบัว ๔ เหล่า แต่เมื่อไรที่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการบริบรูณ์ ก็จะบรรลุอรหันต์ได้เหมือนกัน ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน ก็ต้องยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก เพราะไม่แปรเปลี่ยนตามอารมณ์ของคน
คุณกล่าวว่า ที่นี่ไม่ยอมรับความเห็น จากนักปฏิบัติ ขอรบกวนถามหน่อยว่า ปฏิบัติคืออะไรคะ
ผมรู้จักเว็บนี้จากหนังสือมติชน เอาไปลงข่าวว่า มีการศึกษาพระธรรมตามแนวของไตรปิฎก แต่พอพูดถึง "การบรรลุธรรม" กลับมีอาการแปลกๆ กันเหมือนกับว่า พระไตรปิฎก ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย ก็น่าเสียดายนะครับ ถ้าคิดว่าผมเพี้ยน ลองดูข้อความนี้ พระมหากัสสปเถระ (ปิปผลิ) พระพุทธองค์ ประทานโอวาท ๓ ข้อแก่ปิปผลิ คือ
๑. กัสสปะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปถึงความละอาย และเกรงใจไว้อย่างแรงกล้า ในภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะและผู้เป็นมัชฌิมะ
๒. เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความ แห่งธรรมนั้น
๓. เราจักไม่ละสติ ไปในกาย คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ซึ่งเรียกว่าโอวาท “ปฏิคคหณูปสัมปทา” หลังจากอุปสมบท และได้บำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอประมาณ ๗ วัน ในวันรุ่งขึ้น เช้าวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
ด้วยโอวาท ๓ ข้อนี้กัสสปะก็บรรลุธรรม เรื่องนี้มาจากไตรปิฎก แล้วทำไมเราไม่พิจารณาว่า กัสสปะเข้าใจอะไรจึงบรรลุธรรม ที่ผมผิดหวังอย่างหนึ่งก็คือบอกว่า ที่นี่ศีกษาธรรมตามแนวทางจากไตรปิฎก แล้วทำไม่ไม่พิจารณาธรรม ให้รู้แจ้งในจิตเหมือนท่านกัสสปะละครับ แต่เรามักทำเฉไฉไปจากไตรปิฎก นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกผิดหวัง
มีคำหนึ่งที่ผมต้องการอธิบาย คือการที่ผมบอกว่า เราต้องมีความอ่อนน้อมนั้น ต้องเป็นอาการที่เกิดขึ้นทางจิต และกระทบต่อทางกายนะครับ ไม่ใช่การนึกคิดเท่านั้น เช่นเดียวกับท่านกัสสปะ ก็คงต้องเริ่มที่การนึกคิด เพื่อให้เกิดผลทางการกระทำ เกิดเป็นอาการภายใน ความรู้ไม่ได้เกิดผลทางจิตโดยตรง แต่เกิดเป็นอาการ หรืออารมณ์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายใน มันอาจจะเป็นคำพื้นๆ แต่ถ้ากระทบใจ และเกิดเป็นอาการสิ่งนั้น จึงจะเกิดผลได้ แต่ถ้ามันไม่มีอาการเกิดขึ้นมันก็คือคำอธิบายพื้นๆ เท่านั้นเอง คำเดียวกัน แต่เราสัมผัสด้วยอารมณ์ต่างกัน ก็จะเกิดผลต่างกัน มันมีระดับลึกนั่นเอง คือสิ่งที่ทำให้เข้าใจยาก
ดังนั้นการที่จะทำให้อารมณ์ละเอียดอ่อนลงได้ คือการอ่อนน้อมอยู่เสมอนั่นเอง อ่อนน้อมต่อตนเอง อ่อนน้อมต่อคนอื่น อ่อนน้อมแม้กระทั่งต่อปัจจัยสี่ ซึ่งฟังดูแปลกๆ ใช่ไหมครับว่า ทำไมเราต้องอ่อนน้อมต่อปัจจัยสี่ด้วย ถ้าลองทำดูเสมอๆ จะเห็นความยึดมั่นอยู่ในอาการของเราตามปกติ เราจะขัดเกลาตนเองออกจากการยึดมั่น โดยการอ่อนน้อม ไม่ใช่การลัดขั้นตอนเลยครับ วิธีเดียวกันนี้แหละ แต่ผลที่เกิดขึ้นจะต่างกัน
การศึกษาธรรมนั้น ไม่ควรตั้งต้น ด้วยความต้องการบรรลุธรรม อันจะนำไปสู่ความคิด และการกระทำต่างๆ ที่คิดว่าจะช่วยให้ได้รับในสิ่งที่อยากได้นั้น แต่ผู้ศึกษาควรมีความตั้งใจ ที่จะศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระธรรม ด้วยความศรัทธาในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและด้วยความนอบน้อมและเคารพในธรรม เมื่อเหตุสมควรแก่ผล นั่นคือความเข้าใจที่สะสมมามากเพียงพอเมื่อใด เมื่อนั้น ก็จะบรรลุธรรมได้ โดยปราศจากความต้องการใดๆ
ท่านพระกัสสปะ ท่านได้ฟังธรรมจาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านก็สะสมปัญญามานานแสนนาน เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ท่านก็บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง การบรรลุธรรมไม่ใช่การคิดเอาเอง หรือการไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจก่อนตามลำดับขั้น ตั้งแต่ธรรมะคืออะไร ปัญญาเริ่มจากการฟัง และจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับความเข้าใจ ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนะครับ
ยังมีท่านที่บรรลุธรรมเร็วกว่า ท่านพระกัสสปะ นะครับ ทำไมท่านพาหิยะ จึงบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว ท่านพาหิยะฟังธรรมเพียงสั้นๆ แต่ทำไมจึงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้อย่างรวดเร็ว ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพียงฟังก็บรรลุทันที ไม่ต้องนำไปประพฤติปฏิบัติ
ดังข้อความจากพระสูตรนี้ ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ พาหิยสูตร
เพราะท่านได้สะสมบุญบารมีมาพร้อมแล้วจึงบรรลุเร็ว โปรดอ่านประวัติของท่านโดยขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ พระพาหิยทารุจิริยะ
ขอบคุณทุกๆ ท่านนะครับ ที่ให้คำแนะนำ พอดีข้อความขึ้นมาช้าเลย ไม่ทราบว่าแต่ละท่านพูดถึงอะไรบ้าง ผมก็ต้องการวัดความเข้าใจของตนด้วยเช่นกัน จุดประสงค์คือต้องการหาความจริง เกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะการเริ่มต้น ศึกษาธรรมะของผม เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว เริ่มจากคำถามว่า เรามาทำอะไรกันบนโลกใบนี้ เหมือนงานเลี้ยง ที่จะต้องมีการเลิกรา ในที่สุด เราก็จะต้องกลับบ้านของแต่ละคน แต่บ้านของเราอยู่ที่ไหน มันทำให้เกิดความวังเวงต่อคำถามนี้ แม้จะรู้ว่าแท้จริง เราเป็นเพียงปรากฎการณ์ตามธรรมชาติเท่านั้น คือเกิดขึ้นและดับไป แต่ก็ยังหาทางออกจากกองทุกข์นี้ไม่ได้ มันวนเวียนอยู่ จนมาพิจารณาโอวาท ๓ ข้อนี้ จึงรู้ว่า เพราะเราไม่ทำตัวเองให้อ่อนน้อม
มีความแข็งกระด้าง ในความคิดและการกระทำ จึงทำให้มันวนเวียนอยู่ พอน้อมเอาธรรมมาไว้ในใจ มีความอ่อนน้อมตามที่กล่าวนั้น จึงพบว่าเราต้องทำตัวเราเองให้มีความเป็นธรรมปรากฎอยู่ จึงพบจุดสิ้นสุดลง ผมเลยเห็นว่า ทำไมเราจึงไม่ศึกษาธรรม ตามที่พุทธสาวกปฏิบัติกันทั้งๆ ที่มีอยู่ในพระไตรปิฏก นี่คือสาเหตุทั้งปวง และผมยืนยันว่า ความทุกข์จะหมดไปด้วยการทำตัวเอง ให้มีธรรมเกิดขึ้นในกาย ในใจ มีความรู้สึกเหมือนเตรียมพร้อม ที่จะกลับบ้านอยู่เสมอโดยไม่สนใจว่า สิ่งนั้นคืออะไร ขอแต่ให้ดับทุกข์ได้แท้จริงก็พอ
ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งครับ
ตกลงว่าท่านจะทำ เราจะทำ ทำตัวเองให้มีธรรมเกิดขึ้นในกาย ก็เราทั้งนั้นที่จะทำ อนัตตา ที่พระพุทธองค์ทรงสอนหายไปไหน? สัพพเพธัมมาอนัตตา หายไปไหน? เมื่อเริ่มด้วยความมีตัวตน มีเราที่จะทำ ก็อย่าพึงหวังที่แม้จะเห็น หนทางสู่พระนิพพาน ท่านพูดเรื่องการบรรลุธรรม ธรรมคืออะไรก่อน ท่านเริ่มการศึกษาเมื่อ 3 ปีก่อน ท่านศึกษาอะไร แม้ว่าท่านอ่านพระไตรปิฎก็อย่าเพิ่งสำคัญว่าท่านได้อ่านแล้ว ท่านเข้าใจอรรถในแต่ละคำที่อ่านอย่างไร ทุกอย่างในพระไตรปิฎก ต้องสอดคล้องตรงกัน ไม่ใช่ไปคลำเอาหัวช้าง ขาช้าง หรือหางช้าง มาอ้างอิงนะครับ
การที่ทุกท่านสนใจในธรรมของพระพุทธองค์ เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา แต่ก็พึงศึกษาโดยละเอียด ตามลำดับ ไม่ข้ามขั้น ดังท่านอาจารย์เคยเปรียบเทียบว่า เราเริ่มศึกษาธรรม ก็เปรียบเสมือนเริ่มเรียนชั้นอนุบาล ต้องค่อยๆ ศึกษาไปเป็นลำดับ จะใจร้อน พอเริ่มศึกษา ก็จะเอาด็อกเตอร์เลยนั้น จะเป็นผลที่สมควรแก่เหตุหรือ? ขอท่านพิจารณาดู ให้ถ่องแท้นะครับ ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้คงไม่ง่าย ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้อง ทรงบำเพ็ญพระบารมี ถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษานะครับ ในที่นี้ก็กำลังศึกษากันอยู่ทั้งนั้น เราศึกษาเพื่อละความไม่รู้ครับ ไม่ได้ศึกษาเพื่อต้องการสิ่งใด
สวัสดีครับคุณ praisin ก่อนอื่นขออนุโมทนา คือยินดีด้วย ในกุศลจิต คือสภาพรู้ที่เป็นฝ่ายดีเป็นประโยชน์ในการใฝ่ที่จะศึกษาความจริง เพื่อรู้ความจริง เพื่อละความไม่รู้ที่มีมากมาย และรู้สึกประทับใจ ที่ท่านสนใจในการศึกษา ที่อ้างอิงแหล่งสำคัญคือพระไตรปิฎก
หากธรรมเป็นของง่าย ที่ใครๆ ก็รู้ได้โดยง่าย ก็คงจะไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง สี่อสงไขยแสนกัป เพื่อที่จะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง ซึ่งการตรัสรู้หมายถึงรู้จริงๆ ด้วยการประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ด้วยการนึกคิด คาดคะเน อนุมานประมาณการณ์ หรือเดา เมื่อทรงตัสรู้แล้วก็ทรงอนุเคราะห์ด้วยการแสดงธรรม ถึง 45 พรรษา จิต เจตสิก รูป นิพพาน คือความจริงแท้ 4 ประการ ที่เป็นที่มาของพระไตรปิฎก ชื่อที่คุ้นเคยคือ ปรมัตถธรรมสี่ ในขั้นความเข้าใจรู้เรื่อง (สุตมยปัญญา)
หากไม่มีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ ปัญญาคือเจตสิกฝ่ายดี ที่จะทำหน้าที่ประหารกิเลสก็เจริญขึ้นในขั้นสูงต่อไปไม่ได้ แล้วจะเอาอะไรไปดับกิเลส ... ... ที่จะนำไปสู่คำว่า ... "บรรลุธรรม" ... เมื่อเหตุไม่สมควรแก่ผล โปรดพิจารณาว่าจะเป็นไปได้อย่างไร การศึกษาธรรมนั้น สำคัญคือเพื่อการ "ละ" ลำดับแรกคือ ละความไม่รู้จากสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน หากเพื่อการที่จะ "ได้" สิ่งหนึ่งสิ่งใด พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า โลภะคือความติดข้องความต้องการนั้น เป็นเครื่องเนิ่นช้า และโลภะก็ชอบแม้แต่ชื่อที่เรียกว่า "บรรลุธรรม" การศึกษาที่ไม่ถ่องแท้ เป็นเรื่องอันตราย ...
ความอ่อนน้อม.. ที่ท่านกล่าวถึง โดยปรมัตถธรรมแล้วคือเจตสิกฝ่ายดี ประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก จึงทำหน้าที่ละกิเลสไม่ได้ ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านละความเห็นผิดว่า มีตัวตนได้ หากมีความเห็นว่าเป็นตัวตนที่จะไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ใช่สภาพธรรมแต่ละประเภท แต่ละชนิด ปฎิบัติกิจของธรรม แต่ละอย่างแล้ว ก็ปิดประตูที่จะประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงตั้งแต่ต้น อีกประการสำคัญ เมื่อสมัยพุทธกาล คือในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมเป็นกาลสมบัติคือมีผู้ที่สะสมบุญบารมี สะสมปัญญามามากพอ พร้อมที่จะบรรลุธรรมตามที่ทรงแสดงได้จำนวนมาก และท่านเหล่านั้นก็มีปรกติเจริญสติปัฎฐาน ในชีวิตประจำวัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีพระอริยบุคคลจำนวนมาก แล้วปัจจุบัน ที่ล่วงพุทธกาลเข้าพันปีที่สาม ท่านเห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันนี้เป็นผู้ฝักใฝ่สนใจธรรม กระทำบุญกุศลมากหรือน้อย เข้าใจถูกมากหรือน้อย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะสามารถบรรลุธรรมได้โดยเร็วไว
ขอเป็นกำลังใจให้ศึกษา ให้เข้าใจมากขึ้น ถึงความแตกต่าง ของปรมัตถธรรมทั้งสี่ ให้เข้าใจบัญญัติและปรมัตถ์ ... .ความคิดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นบัญญัติหรือปรมัตถ์ ... ... ..ความอ่อนน้อมเป็นธรรมฝ่ายดีที่ควรเจริญ แต่เป็นธรรมที่ประหารกิเลส หรือว่าเป็นหน้าที่ของปัญญา แล้วปัญญาจะเจริญได้อย่างไร ... ..
ผมเองเริ่มมีความเข้าใจธรรมบ้าง ในขั้นการฟัง แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรมใดๆ ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้น และมีความตั้งใจที่จะศึกษาธรรม ฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติตามกำลังสติปัญญา เพื่ออบรมเจริญปัญญา โดยไม่สนใจว่าเมื่อไหร่จะบรรลุธรรม เพราะพอรู้ว่าเป็นระยะเวลาอีกยาวนานมากๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ และเมื่อบางครั้งเกิดความคิดเพี้ยนๆ ที่อยากจะบรรลุธรรมขึ้นมา ก็เตือนตนเองว่านั่นไม่ใช่เหตุ แต่เป็นเครื่องเนิ่นช้า ทำให้เสียเวลาพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผล เมื่อเหตุไม่พอ ถึงจะอยากอย่างไรก็ไร้ผล ... .ขอให้โชคดีครับ
ถ้าต้องทำให้ตัวเรามีธรรม คงไม่ต้องมั้งคะ เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่ได้ยินทางหู ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปทำหรอกค่ะ เพราะสภาพธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ อยู่เฉยๆ ก็มีธรรมปรากฏอยู่ตลอด ไม่ต้องไปสร้างอะไร ขึ้นมา เพราะความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ มีธรรมะอยู่ท่วมหัวท่วมหู แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม พยายามทำให้เป็นธรรม ก็จะกลายเป็นตัวตนเรื่อยๆ นะคะ ลองค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ อ่านให้เข้าใจจริงๆ ไม่ต้องหวังว่าจะตรงกับความเห็นของตนหรือไม่ หวังเพื่อเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อละคลาย ก็พอนะคะ
.....ขอน้อมรับในคำแนะนำและท้วงติง แต่ผมยังรู้สึกว่าที่เข้าใจกัน ไม่ได้อยู่ตรงการใช้ภาษา...
.....ผมยกเอากรณีของท่านกัสสปะมาเป็นแนวทาง และผมชี้ให้เห็นว่า เรามีความไม่เข้าใจตนเองอยู่อย่างไร ก็ขอโอกาสอธิบายอีกทีนะครับ ข้อ1. ผมจินตนาการตามไปเองว่า การเกรงใจอย่างแรงกล้าก็คือการอ่อนน้อมนั่นเอง ผมอ่านข้อความนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาด้วยซ้ำไป แต่ไม่กระดิกหู แต่เมื่อจำเป็นต้องค้นหาความหมาย เพื่อการดับทุกข์ ผมจึงเข้าใจเพราะมันกระทบเข้าใป ในความรู้สึก ผมนึกถึงพระบ้านนอกหลายองค์ ไม่น่าศรัทธาเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นจะให้อ่อนน้อมได้อย่างไร ตรงนี้เองที่ผมสังเกตเห็น ความแข็งกระด้างของตนเองว่า ยังเข้าไม่ถึงเศษเสี้ยวของธรรมเลย ยังมีอัตตาอย่างแรงกล้า พอเห็นจุดอ่อนของตนเองอย่างนี้มันก็เกิดการปล่อยวางขึ้น (ขอย้อนไปเปรียบเทียบกับ กรณีของ พระอานนท์ที่บรรลุธรรม ขณะล้มตัวลงนอน คือการปล่อยวางจากความเพียร)
เมื่อผมเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้น ผมก็เห็นว่าความอ่อนน้อมนั่น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่เราเข้าใจ แต่มันยังขยายไปในเรื่องของการอ่อนน้อมในตนเอง อ่อนน้อมต่อผู้อื่น และอ่อนน้อมต่อปัจจัยสี่ ความจริงคำบรรยายนี้คืออาการภายใน แต่แท้จริงคือปรมัตถธรรม การอ่อนน้อมต่อตนเอง ก็คือ ให้ความเคารพสังขาร ไม่ยึดมั่นตามใจเหมือนที่เคยเป็น แต่ถ้าบอกว่า อย่างยึดมั่นในสังขารเราจะไม่เข้าใจ ก็เลยเลือกการใช้คำว่า ให้เคารพหรืออ่อนน้อม ก็คือให้ระวังอริยาบทนั่นเอง ควรอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย
ความจริงอธิบายยังไม่จบนะครับ ไม่ทราบว่าทำไมเกิดการหยุดขึ้นมาเฉยๆ ขอต่ออีกนิดหนึ่งนะครับ
ความอ่อนน้อมต่อผู้อื่น คงไม่ต้องอธิบาย คือความเกรงใจนั่นแหละครับ มาต่อการอ่อนน้อมต่อปัจจัยสี่ ก็คือการไม่ยึดเอาอะไร มาเป็นของตนแบบเหนียวแน่น ให้รู้เพียงแต่ว่าได้อาศัยเท่านั้น จะขบจะเคี้ยวจะฉัน จะนั่งจะนอน ก็ให้นึกแต่ว่า ได้อาศัยเท่านั้น
ส่วนที่ว่า ต้องทำตัวเองให้เป็นธรรม คือการมีความคิดความอ่าน การมีความเห็นที่เหมาะสมแก่กาล ไม่ใช่ใส่อารมณ์เข้าไป ให้มันสะใจ อย่างนี้ถือเป็นความเห็นที่หยาบเป็นทุกข์ ดังนั้นเราจึงต้องมีความคิดความเห็น ที่พอเหมาะ ไม่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ เมื่อไม่มีปัจจัยที่จะเกิดทุกข์ ทุกข์มันก็ไม่เกิด นี่คือสิ่งที่ผมพบ จากการพิจารณาธรรม ตามแนวทางของพระไตรปิฏก ในกรณีของท่านกัสสปะ แต่จะไม่ตรงบัญญัติอย่างไร ก็เพราะเหตุนี้ที่ผมเข้ามาศึกษาธรรมในเว็บนี้ ... ..ถ้าอันนี้ไม่ใช่การบรรลุธรรม ก็ไม่เป็นไร
ความจริง ผมอธิบายแล้วนะครับ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือการเข้าไปมีอาการเป็นเจ้าของ เช่นกินอาหาร ก็อย่าไปเพลิดเพลินอยู่ในรส ถ้านอนก็ให้กลัวว่า เตียงมันจะหนัก (ประมาณนี้) จะปิดประตูก็ค่อยๆ ใส่เสื้อผ้าก็ให้ถือเสียว่าได้อาศัยเท่านั้น ถ้าเป็นพระ ก่อนจะนุ่งห่มท่านให้อาราธนา เหมือนขออนุญาต (วัดทางอีสาน)
เรื่องนี้คงจบเพียงแค่นี้นะครับ แต่จะยังไง ผมก็ยังคิดว่า คงจะเปลี่ยนความเห็นไปจากนี้ไม่ได้ เพราะคิดว่าดีที่สุดแล้ว ในการที่จะปฏิบัติต่อชีวิต แต่ก็จะพยายามศึกษาตามคำแนะนำครับ เพื่อว่าอาจจะมีสิ่งที่ผมยังไม่เข้าใจอยู่
สมัยพุทธกาล ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องเริ่มมาจาก การได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวก แปลว่า ผู้ฟัง ผู้ที่จะบรรลุ มรรคผล นิพพาน มีหนทางเดียว คือ การเจริญวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่คิดเอาเอง และการบรรลุธรรมนั้น ขั้นแรกต้องเริ่มจากการ ละความเห็นผิด คือละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เริ่มจากการละความติดข้อง จะกินอาหารอะไร ก็คิดว่าไม่ไปเพลิดเพลินในรสอาหาร แต่จริงๆ แล้วละความติดข้องพอใจได้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงคิด
ได้อ่านความเห็นของคุณวันชัย ในกระทู้อื่น คิดว่าน่าจะเป็นข้อคิด ที่เป็นประโยชน์ จีงขอนำมาให้อ่าน..
แน่นอนว่า ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง อาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจตนเอง ว่านี่เรามาทำอะไรกันอยู่ ชีวิตนี้มีเพียงแค่นี้ละหรือ? ซึ่งก็เป็นคำถามที่เคยเกิดขึ้นกับผมในใจ แน่นอนว่า เราทุกคนเมื่อมีคำถามเช่นว่านั้น เมื่อความอยากรู้ ความสงสัยมีกำลังมาก ก็ย่อมเสาะแสวงหาหนทาง เพื่อตอบคำถาม ที่เกิดขึ้นภายในใจ แล้วอะไร ใคร หรือ ผู้ใด ที่สามารถที่จะตอบปัญหา ให้คลายความสงสัย และข้อข้องใจต่างๆ เหล่านั้นได้ เมื่อก่อนเคยมีความสงสัยนานัปปการ แต่หลังจากที่ได้ฟังเสียงบรรยายธรรม ทางสถานีวิทยุของสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนในชีวิต ท่านกล่าวว่า ไม่มีตัวตนไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล อ้าว แล้วเรา เป็นใครกันนี่? เคยอ่านหนังสือของ ท่านพุทธทาสมาก็หลายเล่ม ว่าอย่ายึดมั่นถือมั่น ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ก็เห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เคยแจ่มชัดในเหตุผลที่ว่า เมื่อไม่ใช่ตัวเรา แล้วเป็นใคร? ละหรือ จนเมื่อมาสะดุดกับคำบรรยายธรรมของ สตรีท่านที่ว่านั้น (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร) ตอนท้ายรายการ มีเสียงบอกว่า dhammahome.com เอาละ computer ที่มีอยู่ก็เพื่อลูกๆ ไหนป๊ะป๋าขอลองเล่นหน่อยปะไร? เปิดเข้าครั้งแรกที่หน้าฟังธรรม มึนไปหลายตลบ แต่พอเข้าใจได้ และเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนในชีวิต ว่าอ้อ..นี่เองที่ท่านว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นเพียงนามธรรม รูปธรรมเท่านั้น ซึ่งแยกออกเป็นปรมัตถธรรมสี่ มี จิต เจตสิก รูปนิพพาน โอ้โฮ... นี่ไง สงสัยมาตั้งนาน...ที่แท้ ที่ว่าไม่ใช่เรา เพราะอย่างนี้นี่เอง นี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นในความเห็นถูก ย้ำเป็นจุดเริ่มต้นของความเห็นถูก เพราะหากเป็นเราในการศึกษาธรรมะ ย้ำว่า หากเริ่มต้นด้วยความเป็นเรา ก็เลิกพูดถึงหนทางในการดับทุกข์ ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ได้เลย ไม่ต้องพูดหรืออธิบายหรือทำอะไรๆ ต่อให้เสียเวลา เอาละครับ ขอแค่นี้ก่อน คงสมประสงค์ของท่าน ผู้ตั้งกระทู้พอควร เรื่องที่ว่าจะถูกใจท่านหรือไม่นั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้เล่าเลย ขออนุโมทนา
ผมว่าจะจบกระทู้ยี้ แล้วแต่มีการมาต่อท้ายอีก ในฐานะเจ้าของบ้านก็คงต้องต้อนรับแขกนะครับ
ท่าน asdfg............ความจริงผมก็เห็นอย่างนั้นนะครับ และผมสรุปว่า แท้จริงเราคือปรากฎการณ์ ทางธรรมชาติเท่านั้น ปัญหามันเกิดขึ้น เพราะเราไปยึดว่าเป็นตัวเรา มันเลยปรุงแต่งไปตามสัญชาตญาณ แต่ผมไม่เล่าตรงนี้ เพราะว่ามันเป็นความรู้ แต่ว่าไม่กระทบใจคือละทุกข์ไม่ได้นั่นเอง และมันอยู่ในจินตนาการมากกว่า ผมติดอยู่ตรงนี้ตั้งนานเป็นปีเลยครับ จนผมท้อว่าคงไม่สามารถเข้าใจได้ ที่สุดผมก็ปลงตกว่าอะไรก้อได้ขอให้ดับทุกข์ได้ แม้แต่ทำความรู้สึกให้เหมือนก้อนหิน แต่แท้จริงแล้วเราต้องปรับอารมณ์ของเรา ให้อ่อนโยนลง จนมันปรุงแต่งไม่ได้ จึงเข้าใจได้ว่าตนเองติดขัดอยู่ตรงไหน........ที่ผมสรุปว่าเราต้องมีความอ่อนน้อมนั่นเอง ลองเรียกผมว่าอาจารย์ดูสิครับ แล้วคุณจะรู้ว่า คุณทำไม่ได้ เพราะอะไรนั่นคือปัญหา การเข้าใจธรรม เพราะเรามีความรู้สึกที่แข็งกระด้างอยู่นั่นเอง
ท่านsutta..........ดูเหมือนกับท่านไม่ได้ถามอะไรนะครับ แต่ผมกำลังอธิบายความรู้สึกของผมตามโอวาท 3 ข้อนะครับ จะเรียกว่าเป็นธรรมหรืออะไรก็แล้วแต่ เริ่มแรกทีเดียว คงไม่มีบัญญัติอะไร แต่จากการบรรลุธรรม ของพุทธสาวก ที่แตกต่างกัน (ตามอนุพุทธประวัติ) ก็เลยนำมาสรุปว่ามีแนวทางอย่างไร ซึ่งก็สรุปได้ว่า แนวทางนั้นคือปรมัตถธรรม คือความไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ จึงต้องปล่อยวางเพราะที่เป็นอยู่คือการยึดมั่นเท่านั้น
ส่วนที่ผมยกตัวอย่างการกินอาหาร ว่าคือควรนอบน้อมต่อปัจจัยสี่ คือกินอาหารก็อย่าไปเพลิดเพลินในรสชาติของมัน ความจริง เราควรขอขมาด้วยซ้า ดังที่พระท่านต้องพิจารณาอาหารก่อนฉันว่า ไม่ใช่เพื่อความอร่อย ความจริงที่ว่า ต้องนอบน้อมนั้นคือไม่ให้มีความรู้สึกว่า ใครจะกินใคร ถ้าเราไม่ระวังก็เหมือนกับว่า เกิดความมีตัวตนว่ามีคนหนึ่ง กำลังจะกินอีกคนหนึ่งอยู่ จึงให้ระวังกิริยานั่นเอง มันคือแนวทางที่จะทำให้ตนเองพ้นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากเจตนานั่นเอง เราจึงต้องระวังเจตนา ที่จะวกเข้ามาหาผู้กระทำ
แท้จริง เราคือความเป็นธรรมชาติเท่านั้นเอง ถ้าให้กระทบใจจริง ต้องปฎิบัติให้ได้ด้วยคือความสิ้นทุกข์ แต่ถ้ายังฝืนๆ อยู่ หรือพยายามอยู่ไม่ใช่นะครับ ถ้าข่มใจอยู่ก็คงไม่จำเป็นต้องบรรลุ เพราะใครก็ทำได้ ความสิ้นทุกข์ ต้องปรากฎให้เห็นเป็นความแตกต่างจากปกติอย่างชัดเจน เป็นความรู้ภายใน ที่บัญญัติเข้าไม่ถึง.....
กระทู้นี้ถูกsave ไว้แล้วนะครับถ้าข้อความหายไปจะดูไม่ดี
อ่านเรื่องของการบรรลุธรรม จากความเห็นต่างๆ ในกระทู้นี้แล้ว มีหลายความเห็นที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมะ ขอนำมารวบรวมสรุปสั้นๆ เพื่อง่ายต่อการอ่าน
การบรรลุธรรม ไม่ใช่การคิดเอาเอง หรือการไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจพระธรรมคำสอนของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจก่อนตามลำดับขั้น ตั้งแต่ธรรมะคืออะไร ปัญญา เริ่มจากการฟังและจะค่อยๆ เจริญขึ้น ตามระดับความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ไม่ควรตั้งต้นด้วยความต้องการบรรลุธรรม อันจะนำไปสู่ความคิด และการกระทำต่างๆ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล คือ ความเข้าใจที่สะสมมามากเพียงพอเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะบรรลุธรรมได้ โดยปราศจากความต้องการใดๆ
หมั่นสำรวจตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า ทุกวันนี้ศึกษาพระธรรม เพราะต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเปล่า เมื่อมีความเข้าใจในขั้นต้นแล้ว ก็จะรู้ว่าตัวเองมีความเข้าใจที่สะสมมามากน้อยเพียงใด และความเข้าใจ หรือปัญญาที่มีอยู่นั้น เป็นเหตุที่สมควรกับผล อันประเสริฐ คือการบรรลุธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงปัญญา ที่ยังเล็กน้อยและไม่มั่นคงพอ
ผมขออนุญาตบ้านธัมมะและท่านสมาชิกทุกท่านขอพูดคุยแบบสบายๆ นิดหนึ่งนะครับ
เรียน คุณpraisin ผมขออนุโมทนาในความสนใจในธรรมของ คุณpraisin และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีผู้สนใจในธรรม ที่ได้แสวงหาหนทางที่ถูก จนพบ (จริงๆ แล้ว ก็ไม่อยากพูดเองว่า ที่นี่เป็นหนทางที่ถูก อยากให้ท่านเป็นผู้พิจารณา ตัดสินด้วยตัวท่านเองดีกว่า)
ขอความกรุณาว่า ในการพูดคุยสนทนากันในนี้ เมื่อมีผู้post ความเห็นใดๆ เข้ามา หากว่าความเห็น หรือคำพูดใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว ก็ย่อมต้องได้รับการท้วงติง ชี้แจงให้เข้าใจในหนทางที่ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ โดยซื่อตรงและสุจริตจริงๆ โดยไม่มีความรู้สึกใดอื่นแอบแฝงอยู่เลย เป็นแต่เพียงการท้วงติง ชี้แจง อธิบายรวมทั้ง การยกข้อความในพระไตรปิฏก อันเนื่องด้วยเหตุและผลนั้นๆ ด้วยความซื่อตรง และด้วยมีเมตตาเป็นอย่างยิ่ง
ท่านจะสังเกตได้เอง เมื่อได้อ่านข้อความของ ท่านกัลญาณมิตรทุกท่านที่อยู่ในกระดานสนทนานี้ ว่าสิ่งไหนตรง และถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ ทรงสั่งสอน ทุกท่านย่อมอนุโมทนาในความถูก และตรงนั้นๆ ตามคำสอน แต่ถ้าสิ่งไหนไม่ถูกไม่ตรง ท่านผู้กัลญาณมิตรทั้งหลาย ย่อมไม่ปล่อยให้เลยไป โดยความเข้าใจผิด ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เป็นการอนุเคราะห์แก่ทุกท่านโดยแท้ โดยความบริสุทธิ์ใจ อันปราศจากอคติใดๆ
อนึ่ง ในที่นี้ผมก็ขออนุโมทนากับ คุณ chakapong ด้วย ที่ท่านมีความมั่นคงในหนทางในการศึกษา แม้ว่าจะได้มีความรู้สึก บางประการ ซึ่งอาจมีกันได้ แม้ตัวกระผมเอง ซึ่งเคยมีอยู่บ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชนเช่นเราๆ แต่ก็หาใช่เรื่องสลักสำคัญ อะไรที่ควรค่าแก่การระลึกถึง พระธรรมเท่านั้น ที่เลิศที่สุด ที่เราทั้งหลายได้ค้นพบหนทางแล้ว ขอทุกท่าน มีความอาจหาญร่าเริงในธรรมนั้น โดยทั่วกัน และขออนุญาตที่จะหวังว่า หัวข้อสนทนานี้จะจบลงเพียงนี้
ขออนุโมทนาทุกท่านในอันที่จะฟังธรรมให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยกัน พร้อมๆ กันนะครับ ขอบคุณทุกท่านครับ
ก็คงจะจบได้นะครับ ผมก็จะได้ save ความเห็นทั้งหมด ไว้ไตร่ตรองพิจารณา ผมก็ระลึกอยู่เสมอว่า การใช้ความเป็นอัตตา ในการแสดงความเห็น ไม่ใช่ความถูกต้องตามเส้นทางสายนี้ ถ้ามีสิ่งที่ผิดพลาด ก็จะได้เกิดการแก้ไขต่อไป บางที่ผมอาจจะเข้าใจผิดอยู่ก็ได้ เพราะถ้าดับทุกข์ไม่ได้จริง ก็ต้องพิจารณาต่อไปอีก
ขอบคุณทุกๆ ท่านครับ
ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ การเปิดอกพูด (ในภาษาที่ผมคุ้นเคย) เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ หรือมีความเห็นเรื่องนี้เป็นเช่นไร ขอความอนุเคราะห์ท่านผู้รู้ด้วยครับ
คำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ขัด เกลาสิ่งไม่ดีทั้งกาย วาจา ใจ แม้พูดก็ให้เหมาะแก่กาล สำคัญที่มุ่งประโยชน์ต่อผู้ฟัง การสนทนาธรรมก็เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของแต่ละท่านว่า ถูกต้องและตรงตาม พระธรรมวินัยหรือไม่ พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งง่ายต่อการเข้าใจผิด ผู้น้อม ศรัทธา หิริและโอตตัปปะ มีสัจจะ คือ กายจริง วาจาจริง ใจจริง เห็นโทษของ ความไม่ตรง ย่อมเป็นผู้เจริญในธรรมวินัยนี้
ขออนุญาตต่ออีกหน่อยนะครับ ก็คำถามของคุณ chakkapong โดนใจ
ประสพการณ์ของผมเมื่อแรกเข้าบ้านธัมมะเป็นความรู้สึกแปลกๆ ที่ว่าแปลกคือ แปลกจากสังคมที่เราเคยพูดคุยแบบธรรมดาๆ อยากพูดอะไรก็พูด อยากแสดงความ เห็นอะไรก็แสดง อยากใช้คำใดๆ ก็ใช้ตามความรู้สึกคิดนึกเดิมๆ ออกไปเลย ดังนั้น เมื่อขณะแรกเข้าบ้านผมจึงระมัดระวังที่จะอ่านและฟังโดยมาก ซึ่งมานึกดูก็เป็นเรื่องที่ สมควรอยู่ที่ไม่ควรสุ่มสี่สุ่มห้าทำอะไรโดยอำเภอใจในบ้านคนที่เราเพิ่งรู้จัก
ประกอบกับการได้ฟังธรรมะจากท่านอาจารย์อยู่เนืองๆ (ขณะแรกเข้าบ้านเรียกได้ว่าเกือบจะทั้ง วันเลยทีเดียว เว้นเวลาหลับเท่านั้น) ก็ได้เข้าใจด้วยความมั่นคงที่ว่า ท่านอาจารย์ บอกว่า อย่านำความหมายภาษาบาลีที่เคยใช้อยู่ในภาษาไทยมาใช้กับการอธิบาย ธรรมะที่เรากำลังศึกษาอยู่ เช่น คำว่ามานะที่เราใช้ทั่วไปว่าหมายถึง ความมีมานะ พยายามอะไรแบบนั้น ซึ่งต่างกับความหมายของมานะที่พระพุทธองค์ทรงใช้ ซึ่งมี ความหมายว่า สำคัญตน (ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบายเพิ่มด้วยก็ดีนะครับ) เป็นต้น
โดย เฉพาะอย่างยิ่งที่ท่านอาจารย์เน้นย้ำอยู่เสมอคือ การที่เรากล่าวถึงคำๆ ใด ต้องเข้าใจ ด้วยว่า คืออะไร มีความหมายหรือเข้าใจในความหมายของคำนั้นๆ โดยแท้จริงหรือ ไม่ ไม่ใช่นึกจะใช้คำไหนก็ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ความเข้าใจของเรา ต่อพระธรรมคำสอนไขว้เขวไปได้ ท่านสามารถสังเกตได้ในปัจจุบันนี้เองที่ผู้ที่นับถือ พระพุทธศาสนาทั้งหลาย จีงมีความเข้าใจในพระธรรมที่คลาดเคลื่อนไปเป็นอันมาก กลายเป็นความเห็นผิด ปฏิบัติผิดในวงกว้าง นี่เป็นความสำคัญมาก
สิ่งหนึ่งที่ผมได้ พบ และอนุโมทนาในบ้านหลังนี้เป็นอย่างยิ่ง นี่แหละเป็นสาเหตหลักที่ท่านสมาชิก ใหม่ๆ ที่เข้ามา หากมีคำพูดใดที่ผิดไปจากความหมายที่แท้จริงหรือแสดงความเห็นใดๆ ที่ผิดไปจากคำสอน หรือใช้คำใดๆ ผิดไปจากความหมายที่พระพุทธองค์ทรงแสดง จะ ได้พบการท้วงติงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปโดยเจตนาดีและโดยสุจริตใจดังที่ได้ กล่าวแล้ว โดยไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไป อันอาจทำความเข้าใจผิดได้ ขออนุโมทนาทุก ท่านอีกครั้งที่ได้มาพบกันในบ้านที่เป็นสังคมอุดมปัญญาอย่างแท้จริง (ในความหมาย ทางพระพุทธศาสนา)