จะนำหลักธรรมมาปรับใช้อย่างไรกับโลกที่อยู่ยาก ให้เราอยู่อย่างมีความสุข

 
apiwit
วันที่  15 เม.ย. 2562
หมายเลข  30646
อ่าน  848

โลกของเรานั้นอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ คนเราทำอะไรก็ต้องแข่งขันกันที่หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณพ่อท่านเป็นผู้ที่สอนผมในเรื่องของการทำงานทุกอย่างบนโลกใบนี้ว่าไม่ควรทำได้ต่ำกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ คนที่ทำงานได้ต่ำกว่าร้อยก็ยากที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้ ยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่ผมกลับมองว่าหากคนเราใช้ชีวิตอย่างจริงจังแบบนี้จะอยู่อย่างไรให้มีความสุข ถ้าโลกภายนอกมันแข่งขันกันแบบนั้นจริงๆ มีอยู่คราวหนึ่งที่ผมกำลังช่วยพ่อเช็ดรถ ผมเหลือหยดน้ำอยู่ประมาณสองสามหยด ผมก็ถูกท่านตำหนิ หลายครั้งที่ผมพิจารณาในสิ่งที่ท่านสอนแต่ผมสงสัยว่าถ้าคนเราเป็นผู้ที่จริงจังกับทุกสิ่งทุกอย่างเราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร สิ่งที่พ่อสอนผมมันทำให้ผมรู้สึกว่าโลกนี้อยู่ยาก ทำอะไรก็ต้องแข่งขันกับคนอื่นไม่ให้ทำงานได้ต่ำกว่าร้อยเปอร์เซนต์ โลกนี้มันสวนทางกับธรรมะที่สอนว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ทำอะไรก็ให้เป็นเรื่องสักแต่ว่า เหมือนอย่างเห็น ได้ยินก็เป็นเรื่องสักแต่ว่า แต่ในทางโลกที่ผมใช้ชีวิตอยู่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันมีแต่ความกดดัน มีแต่การแข่งขัน แล้วผมก็ถูกสอนมาตลอดเรื่องการทำงานให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมสงสัยว่าจะนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตทางโลกได้อย่างไร ผมรู้สึกสับสนวุ่นวายไปหมด ทางธรรมนั้นสอนว่าสิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่น แต่ทางโลกมันอีกอย่าง มันสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง คำถามก็คือเราจะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกที่มันเป็นแบบนี้ จะเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้อย่างไรให้เราใช้ชีวิตท่ามกลางโลกใบนี้อย่างมีความสุขเมื่อเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงคนรอบข้างหรือโลกใบนี้ได้ ในฐานะที่ท่านอาจารย์เป็นผู้เข้าใจพระธรรม ขอท่านอาจารย์เมตตาชี้แนะด้วยครับ ผมขอโทษที่รบกวนเวลาท่านอาจารย์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 เม.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้นเหตุของทุกปัญหาหรือความเดือดร้อนต่างๆ ก็คือ ความไม่รู้ จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อเป็นความรู้จริงๆ เพราะถ้าแต่ละคนเข้าใจธรรม รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วจริงๆ อะไรถูกอะไรผิดจริงๆ ความรู้นั้นต่างหากที่จะนำชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง ในทางที่เป็นกุศล ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยืนหยัดในความถูกต้องในทางที่เป็นกุศลที่ดีงาม จะไม่ทำชั่วเพราะมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง

เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไก้ไขให้คนทั้งโลกมาเป็นคนดีเหมือนกันทั้งหมด เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่เราสามารถทำกิจที่ควรทำสำหรับตนเองได้ ด้วยการสะสมกุศล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป และมีโอกาสที่จะเกื้อกูลผู้อื่นได้ ก็เกื้อกูลเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรให้ดีที่สุด ด้วยการพูด ด้วยการแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

https://www.dhammahome.com/audio/topic/9863

(ธรรมกับชาติบ้านเมือง)

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
apiwit
วันที่ 19 เม.ย. 2562

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์ที่เมตตาครับ แต่ผมอยากกราบเรียนถามอีกคำถามหนึ่งซึ่งก็คงจะสืบต่อมาจากประเด็นแรก คือ พูดถึงการนำมาปรับใช้กับการทำงานในทางโลก เราจะสามารถนำความเข้าใจธรรมะมาปรับใช้กับการทำงานทางโลกได้อย่างไรให้เราทำงานแบมีความสุขไม่เคร่งเครียด แล้วงานก็ออกมาดี เพราะทุกวันนี้โลกเรามันแข่งขันการทำงาน เวลาทำงานก็ต้องทำแบบเอาจริงเอาจังเพื่อให้ผลงานออมาดีแต่มันก็ก่อเกิดเป็นความเครียดความกดดันทีหลัง ซึ่งทางธรรมท่านก็สอนว่าทุกอย่างให้เป็นสักแต่ว่าไป ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นธรรมะไม่ใช่เรา ดังนั้นในการทำงาน ผมก็เข้าใจว่ามันควรเป็นเรื่องสักแต่ว่าด้วย ไม่ควรที่จะไปจริงจังอะไร เพราะพระพุทธองค์บอกสิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดถือ การทำงานก็จะไม่เคร่งเครียดไปด้วย แต่พอถึงสถานการณ์จริงมันนำไปปรับใช้ม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมมันบีบบังคับให้เราต้องทำงานแบบจริงจัง ถ้าเราไม่ตั้งใจทำงานเราก็อาจถูกเจ้านายดุ ขนาดผมอยู่บ้านเช็ดรถแบบสักแต่ว่า ผมยังโดนพ่อดุว่าทำงานไม่รอบคอบ ก็ในเมื่อพระองค์บอกทุกอย่างให้สักแต่ว่า ไม่ยึดถือ ผมก็ทำไปแบบไม่ยึดถือ ทำแบบสักแต่ว่า ผมมเลยนึกไม่ออกจริงๆ ครับว่า จะนำหลักคำสอนพระพุทธองค์ไปปรับใชกับการทำงานได้อย่างไรที่เราจะทำงานอย่างมีความสุขแล้วงานก็ออกมาดี ในความหมายสักแต่ว่าของพระพุทธองค์นั้นคืออย่างไร ขอท่านอาจารย์หรือเพื่อนร่วมสนทนาธรรมท่านใดก็ได้ช่วยเมตตาอธิบายด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2562

สืบเนื่องจากความคิดเห็นที่ ๓

ทุกขณะก็ไม่พ้นจากธรรมอยู่แล้ว ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่จะไปน้อมนำอะไรมาปรับใช้ได้ เพราะธรรม เป็นธรรม เกิดเพราะเหตุปัจจัย สำหรับการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะในเรื่องใด ก็ตาม ก็ควรตั้งใจทำให้ดีที่สุด เป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมทั้งหมดเลย

แม้แต่ที่กล่าวถึง ปล่อยวาง หรือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นแจ้งในความเป็นธรรม จึงละคลายความไม่รู้ ละความติดข้องความยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่ใช่ตัวตนที่ปล่อยวาง ไม่ใช่ว่าเราอยากจะคลายอยากจะละก็ละหรือคลายได้ กิเลสจะละกิเลสไม่ได้ ซึ่งจะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ความเข้าใจพระธรรม จะนำพาชีวิตไปสู่ทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้น ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่มีทางที่ปัญญจะเกิดขึ้นได้เลยไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
apiwit
วันที่ 20 เม.ย. 2562

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์ที่เมตตาสละเวลาเพื่อไขข้อข้องใจครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
worrasak
วันที่ 21 เม.ย. 2562

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ