ภิกษุรับเงิน ไม่ปลงอาบัติ สึกก่อน มีโทษอย่างไรครับ?

 
peeraphon
วันที่  3 พ.ค. 2562
หมายเลข  30830
อ่าน  1,115

กราบสวัสดีท่านอาจารย์ทุกท่านครับ

มีได้ยินได้ฟังตอนหนึ่งที่มีท่านอาจารย์สุจินต์ สนทนาธรรม กับอาจารย์คำปั่น ครับ กล่าวไว้ว่า ภิกษุผู้ที่ทำผิดพระธรรมวินัย เช่นการรับเงินรับทอง และยังคงความเป็นภิกษุอยู่ คือไม่ได้สึก อบายภูมิคือสิ่งที่หวังได้

อย่างไรก็ดี หากเป็น ภิกษุบุคคลที่ประพฤติมิชอบ ผิดพระธรรมวินัย แต่ได้ทำการสึกก่อน แต่ไม่ได้ปลงอาบัติ ในข้อนี้ พระไตรปิฏกมีกล่าวไว้ว่าอย่างไรครับ? มีโทษหรือไม่ครับ?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๙๙

อาบัติ ๗ กอง (ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต) ที่ภิกษุจงใจล่วงละเมิดแล้ว ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ อาณาวีติกกมะ (การก้าวล่วงพระวินัยบัญญัติ) . แม้อาณาวีติกกมันตรายิกธรรมเหล่านั้น ย่อมกระทำอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุต้องอาบัติแล้วยังปฏิญญาตนว่าเป็นภิกษุอยู่ก็ดี ไม่อยู่ปริวาสกรรมก็ดี ไม่แสดงอาบัติก็ดี
เบื้องหน้าแต่นั้น หากระทำอันตรายไม่.

--------------------------

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๓๖

หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี
ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด

ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น.

--------------------------

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๑๙

...ฝ่ายภิกษุนอกนี้ ถ้าไม่พึงได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ไซร้ เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็จะพึงต้องอาบัติสังฆาฑิเสสบ้าง ปาราชิกบ้าง ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว คิดว่า พระพุทธศาสนา ช่างขัดเกลาจริงหนอ พวกเราไม่สามารถจะบำเพ็ญข้อปฏิบัตินี้ตลอดชีวิตได้ จำเราจักลาสิกขา บำเพ็ญอุบาสกธรรม จักพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้แล้ว จึงพากันสึกไปเป็นคฤหัสถ์. ชนเหล่านั้น ตั้งอยู่ในสรณะ ๓ รักษาศีล ๕ บำเพ็ญอุบาสกธรรม บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลกแล. พระธรรมเทศนาได้มีผลแม้แก่ภิกษุเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้. อนึ่งหมู่เทพได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว ได้เที่ยวไปบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่ได้ฟังทุกรูปทีเดียว. ภิกษุทั้งหลายฟังแล้ว คิดว่า ท่านผู้เจริญ การประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิต ในพระพุทธศาสนาทำได้ยาก ภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง ๑๐๐ รูปบ้าง บอกลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ไปทันที.

--------------------------

พระวินัยบัญญัติแต่ละสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นๆ อันจะเป็นไปเพื่อฝึกหัดกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าไม่ได้ศึกษา พระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบท ก็ย่อมจะมีได้มาก ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผล นิพพาน และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ถ้าได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว ย่อมไม่เป็นเครื่องกั้น

สำหรับ อาบัติ (การล่วงละเมิดพระวินัย มีโทษ) นั้น ใช้เฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น เมื่อภิกษุลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์แล้ว คำว่าอาบัติหรือกิจที่ต้องปลงอาบัติ ย่อมไม่มี แต่อกุศลจิต หรือ อกุศลกรรม มีอยู่ กล่าวคือ การก้าวล่วงสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ด้วยอกุศลเจตนา เป็นการกระทำที่มีโทษ บางครั้งเป็นถึงอกุศลกรรมบถ ก็มี เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดเท็จ เป็นต้น ซึ่งเป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อลาสิกขาแล้ว ไม่มีอาบัติก็จริง แต่อกุศลกรรมที่กระทำไว้ไม่หายไปไหน คือ ย่อมสามารถเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้

เพศบรรพชิตเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง เมื่อไม่สามารถจะดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตได้ ก็สามารถลาสิกขาได้ทันที เมื่อใด ก็ได้ บอกใครก็ได้ ที่รู้เนื้อความว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ดังนั้น เมื่อได้ลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์แล้ว ก็สามารถเป็นคนดี ในเพศคฤหัสถ์ได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องอาบัติเพราะเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีอาบัติ ไม่ใช่เพศบรรพชิต อีกต่อไป ก็ควรที่จะเป็นคนดี และศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peeraphon
วันที่ 12 พ.ค. 2562

อย่างนี้นี่เอง ที่อาจทำให้ภิกษุบุคคล คิดว่าบวชเข้าไปรับเงินรับทอง และ เมื่อสึกออกมา ก็ออกมาพร้อมทรัพย์สินจำนวนมหาศาล แบบไม่ต้องมีสัมมาอาชีพเลย

ดังนั้น ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกไหมครับว่า คฤหัสที่ ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับอาบัติ แล้วเห็นว่า รับเงินผิดพระวินัย แต่เมื่อสึกออกไปแล้ว ก็จะพ้นผิดได้ ก็จะไม่มีความผิดใดๆ ติดตัว ผู้ที่คิดแบบนี้ ก็จะแห่ไปบวชกันและ รับเงินและก็สึกออกมา

ไม่มีพระธรรมวินัย หรือ กฎข้อไหนหรือครับ ที่อาจกล่าวถึง ความผิดที่ทำขณะดำรงเพศบรรพชิต ที่จะมีโทษมากกว่า ที่อันตรายมากกว่า การกระทำอกุศลกรรมในขณะที่เป็นเพศคฤหัส?

ทางผมเอง พยายาม อธิบาย ให้กับคนใกล้ตัว ที่เคยบวช และรับเงินรับทองในขณะที่บวช เค้ามีการแก้ว่า เค้าสึกออกมาแล้ว ไม่ผิด และ กรรมที่ทำนั้นไม่ได้ให้ผล เพราะอาจคิดว่า ญาติโยมให้เงินเอง ไม่ได้ผิด ศีล 5 แม้ว่าจะผิดพระวินัยก็ตาม

ขอความอนุเคราะห์ท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างในหัวข้อนี้ครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ค. 2562

เรียน ความคิดเห็นที่ ๓ ครับ

เจตนาจงใจที่จะกระทำในสิ่งที่ผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่า ผิด ก็เป็นอกุศล ที่เกิดแล้วสะสมแล้วในขณะนั้น ก็ลองคิดดูว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุด ทรงเห็นกิเลสอย่างละเอียด ทรงบัญญัติพระวินัยทุกสิกขาบท เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาของเพศบรรพชิต แต่ผู้นั้น กลับย่ำยีสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ความไม่เคารพยำเกรงในพระองค์ การทำลายพระวินัยของพระองค์นั้น นั้น ก็เป็นอกุศลที่หยาบคายมากๆ แล้ว เป็นโทษ สามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ แม้ว่าจะสละเพศออกมาเป็นเพศคฤหัสถ์แล้วก็ตาม เพราะอกุศลที่ก่อเอาไว้ ไม่หายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต และ ยิ่งถ้าบวช เพื่อลาภสักการะ บวชเพื่อได้เงินทอง ก็เท่ากับว่าเป็นมหาโจร ปล้นพระพุทธศาสนา เอาเพศบรรพชิต เอาพระพุทธศาสนา มาบังหน้า ย่อมเป็นอันตรายมาก ทีเดียว เท่ากับว่ากำลังทำทางให้ตนเองไปเกิดใบอบายภูมิ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ถ้าอยากจะได้เงิน อยากมีเงิน ก็เป็นคฤหัสถ์ ทำงาน ประกอบอาชีพต่างๆ ก็ย่อมหาเงินได้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาเพศที่สูงยิ่งมาปิดบังความชั่วของตนเองเพื่อลาภสักการะ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 6 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ