ทานบารมี - การให้ด้วยความเข้าใจถูก ตอนที่ 13-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]

 
wittawat
วันที่  3 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30903
อ่าน  609

ข้อความใน [เล่มที่ 74] ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ หน้าที่ 371 เรื่องการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีใน ยุธัญชยจริยา ว่าด้วยจริยาวัตรของยุธัญชยกุมารพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระราชโอรส พระนามว่ายุธัญชัยทรงทอดพระเนตรเห็นหยดน้ำค้างที่เหือดแห้งไปเพราะรัศมีของดวงอาทิตย์ และนี่เป็นการเตือนให้พระองค์ทรงทราบถึงความไม่เที่ยงและเป็นเหตุให้พระองค์ทรงหวังที่จะสละออกจากชีวิตทางโลกข้อความในอรรถกถาแสดงว่า ([เล่มที่ 74] จริยาปิฎก หน้าที่ 379)

"ปัญญาเริ่มต้นด้วยการมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง (ปัญญาขั้นเริ่มต้นซึ่งพิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งที่มีอยู่จริง) จนบรรลุอภิญญาเป็นที่สุด และปัญญากําหนดธรรมเป็นอุปการะและไม่เป็นอุปการะแห่งทาน เป็นต้น เป็นปัญญาบารมี"

ทาน หรือการให้ หมายถึงการสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่น เมื่อเราให้สิ่งนั้นไป ก็เป็นการสละติดข้องเห็นแก่ตัว ปัญญาขั้นเริ่มต้นซึ่งพิจารณาความไม่เที่ยงของธรรม ท่านเคยได้คิดถึงขณะที่ให้ซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดยั่งยืนถาวรหรือไม่ แม้กระทั่งทรัพย์สินที่เรายังมีอยู่วันนี้ และยังไม่ได้ให้ออกไปก็อาจจะหายไป ปราศไปก่อนที่เราจะให้สิ่งนั้นไป เพราะความเป็นของไม่เที่ยง แม้กระทั่งอาจจะตายไปก่อนที่จะมีโอกาสที่จะให้ทาน เมื่อพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของทั้งผู้ให้และผู้รับ กุศลจิตอาจจะปรุงแต่งให้มีการช่วยเหลือบุคคลอื่น

เมื่อเราให้สิ่งของไปที่มีประโยชน์ของบุคคลอื่น ด้วยความเข้าใจถึงความไม่เที่ยง ไม่แน่นอนของทุกสิ่ง (ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และไทยธรรม คือทรัพย์ที่ครอบครอง ที่อาจจะปราศไปเมื่อไรก็ได้) ปัญญาบารมีก็สามารถจะเจริญขึ้นได้ ซึ่งรู้ได้ด้วยตนเองว่าขณะนั้นมีการพิจารณาความไม่เที่ยงหรือไม่

เมื่อเราพบผู้ที่ยากไร้ เราสามารถที่จะคิดถึงความไม่น่าพอใจของชีวิต และความไม่เที่ยงก่อนที่จะให้ ในขณะที่กำลังให้อยู่ และหลังจากให้แล้ว ใน 3 ขณะของกุศลเจตนา เกี่ยวกับด้วยการให้

บางท่านรู้สึกเบิกบานใจในเฉพาะทานบางประเภท ไม่ทุกประเภท และเมื่อเขาได้ระลึกถึงทานที่ทำไปจากนั้นไม่นาน เขาก็ยินดี และมีความติดข้องในทานของเขา นี่แสดงว่าอาจจะมีกุศลเจตนาก่อนให้ และขณะที่กำลังให้อยู่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาจจะไม่มีกุศลจิต

เราควรที่จะสังเกตว่าเมื่อเราระลึกถึงทานที่ให้ หลังจากที่ให้ ว่าจิตเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต อาจจะมีความสุขเมื่อพิจารณาว่าเราได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ที่เราได้ช่วยเหลือบุคคลเพื่อที่เขาเหล่านั้นจะพ้นออกจากความทุกข์ ผู้อื่นอาจจะไม่ได้ให้การช่วยเหลือให้บุคคลอื่นเพราะว่าเขาอาจจะไม่ทราบความปรารถนาของผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ เมื่อเราได้ให้ความช่วยเหลือแก่คนอื่นและได้ระลึกถึงกุศลที่ได้กระทำไป เราอาจจะรู้สึกปลาบปลื้มยินดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครทำให้เกิดขึ้นได้ เป็นอนัตตา ความสุขใจอาจจะเกิดขึ้นเพราะการที่มีโอกาสช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดที่ต้องการรับความช่วยเหลือและผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ แต่ว่าถ้าเราอยากที่จะสะสมกุศลเพื่อประโยชน์ของตัวเอง นั่นก็ไม่เป็นทานบารมี ความต่างระหว่างทานที่เป็นบารมี และทานที่ไม่ใช่บารมี จึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก

ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Generosity - Giving with right understanding

สามารถกด tag คำว่า ทานบารมี เพื่ออ่านตอนอื่นๆ เกี่ยวกับบทความนี้


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ