พิษของกิเลส ช่างร้ายกาจเหลือเกิน

 
apiwit
วันที่  3 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30906
อ่าน  1,305

ปกติในชีวิตประจำวัน เราก็อยู่กับกิเลส อยู่กับความติดข้องอยู่แล้วก็ไม่รู้สึกว่ามันมีทุกข์โทษอะไร เวลาอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายๆ รับประทานอาหารอร่อยๆ ก็รู้สึกว่ามีแต่ความสุข ความเพลิดเพลิน จากการได้ยินได้ฟังพระธรรมก็เข้าใจโทษของกิเลสในเบื้องต้นว่า เป็นเหตุให้คนเราติดข้องในสภาพธรรมที่เพียงปรากฏเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วดับไป เป็นเหตุให้คนเราต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ไม่จบไม่สิ้น เพราะหลงไหลติดข้องอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์คือเพียงเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็ดับไป ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจในขั้นฟังแต่ก็ยังไม่เห็นโทษ จนเมื่อกิเลสไม่ได้รับความตอบสนอง ใจมีความดิ้นทุรนทุราย ผมจึงเริ่มเห็นโทษของมัน เพียงแค่เริ่มเห็นเท่านั้นครับ

แต่เวลาที่ได้สนองทุกอย่างตามใจอยาก ก็ไม่รู้สึกว่ากิเลสมีโทษอะไร ยกตัวอย่างเช่น เรื่องกิน เป็นเรื่องที่ทรมานใจมาก คือใจมันตะกละ อยากกินโน้นกินนี้เยอะแยะไปหมดเลย แต่ท้องของผมมันสามารถรับประทานได้นิดเดียว ถ้าทานมากเกินไป อาหารก็จะไม่ย่อย ร่างกายก็เกิดความทรมาน (อันนี้คงเป็นผลของอกุศลวิบาก)

มีอยู่คราวหนึ่งที่ผมรับประทานอาหารจนอิ่มมากแล้ว ความจริงก็ไม่ได้ทานเยอะอะไรเพราะผมเป็นคนทานได้น้อย กระเพาะมันอิ่มมากจนไม่สามารถทานต่อได้แล้ว แต่ใจมันยังอยากกินอยู่ มันไปเห็นขนมที่น่ารับประทานแต่ตัวเองไม่มีปัญญาจะกินแล้ว พอเดินผ่านมันไปเท่านั้น ใจมันเกิดอาการทุรนทุราย มันอยากจะกินให้ได้ ใจหนึ่งถึงกับคิดว่าจะฝืนกินเพื่อจะได้สนองความอยากทั้งๆ ที่กระเพาะมันเต็มแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่ามันคงทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก ซึ่งความจริงมันก็ทำไม่ได้จริงๆ ร่างกายมันเต็มที่แล้ว แต่ใจมันยังตะกละอยู่ ยังอยากรับประทานอยู่ มันรู้ว่ารับประทานต่อไม่ไหวแล้ว ก็เกิดโทสะ ยิ่งเห็นคนอื่นเขาสามารถรับประทานได้เพราะเขาไม่มีข้อจำกัดเหมือนเรา มันก็ยิ่งทุรนทุรายใหญ่ จำต้องตัดใจทั้งที่ใจยังอยากอยู่ คือตอนนั้นกำลังของโลภะมันรุนแรงมากๆ ไม่รู้เป็นอะไร จึงรู้สึกเดือดร้อนขึ้นมาด้วยเรื่องเล็กน้อยเพียงแค่นี้ ขนาดเรื่องเล็กแค่นี้ ยังทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ขนาดนี้

ตั้งแต่นั้น ผมเลยเริ่มเห็นโทษของกิเลสว่ามันมีพิษร้ายอย่างไร มันทำให้เรามีความสุขเวลาเราสนองมัน แต่เมื่อไม่ได้สนอง มันทำให้ใจเราทุกข์ ใจเราดิ้นรน ทุกวันนี้ที่คนเราเบียดเบียน ขโมยของผู้อื่น ก็เพราะกิเลสนี้เอง จะไปพยายามละมันด้วยความเป็นตัวตนก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

คงต้องฟังพระธรรมต่อไปอีกนานมาก กว่าปัญญาสามารถค่อยๆ เข้าใจ จนสามารถละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา กว่ากิเลสจะค่อยๆ เบาบาง ผมเชื่อว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านคงใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ท่านคงจะไม่ต้องดิ้นรนที่จะตอบสนองกิเลสอันเร่าร้อน ท่านไม่ถูกพันธนาการด้วยสิ่งใดๆ ในโลก ท่านคงเป็นอิสระจริงๆ ผมเองก็อยากเป็นแบบนั้นบ้างเหมือนกัน แต่คงเป็นไปไม่ได้

แม้จะยังไม่หมดกิเลส แต่ผมคิดว่าถ้ามีชีวิตอยู่ด้วยความเข้าใจพระธรรม มีพระธรรมเป็นที่พึ่งแม้ในขณะที่ใจกำลังดิ้นรนเพราะกิเลส ก็คงเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ขอให้ท่านอาจารย์โปรดชี้แนะด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นธรรมดาจริงๆ ของบุคคลผู้ยังมีกิเลสอยู่ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และสะสมความดีประการต่างๆ เป็นที่พึ่งต่อไป ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
apiwit
วันที่ 13 มิ.ย. 2562

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tshop4288
วันที่ 13 ก.ย. 2566

เป็นเหมือนกันค่ะลดน้ำหนักนับครั้งไม่ถ้วนค่ะเป็นเพราะเรามีกิเสใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ก.ย. 2566

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถมีปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นคำสอนที่ประเสริฐยิ่ง ที่เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เพื่อให้พุทธบริษัทเห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เพื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่ายังเป็นผู้มากไปด้วยกิเลส ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้ขัดเกลา ละคลาย สลัดสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตให้ตกไป ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย โดยมั่นใจในหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สัตว์โลกพ้นจากกิเลสได้ในที่สุด ไม่มีหนทางอื่น

ที่มา ...

ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๒๔] ธมฺมา กิเลสา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ