เรื่องชื่อของ จิต และหน้าที่

 
ํํญาณินทร์
วันที่  4 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30907
อ่าน  2,796

ขอเรียนถามแรื่องของจิต จิตนี้มีชื่อเรียกอยู่ 10 ชื่อ และทำหน้าที่ต่างกัน ผมอยากทราบรายระเอียดว่า ลำดับชื่อ และหน้าที่ของจิตแต่ละประเภท ครับ ขอขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พยัญชนะหลายพยัญชนะที่แสดงสภาพความเป็นจริงของจิต ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีดังนี้ คือ “จิต มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ? จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันสมกัน ในสมัยนั้น อันใด นี้ ชื่อว่าจิต มีในสมัยนั้น”

-จิต ในความหมายว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ จิตทุกประเภท ย่อมรู้แจ้งอารมณ์ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ และจิต เป็นธรรมที่วิจิตร ด้วย คือ ต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน ความต่างกันของจิต นั้น ก็โดยอำนาจของธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือ เจตสิกประการต่างๆ

-จิต ชื่อว่า มโน หรือ มนะ ในความหมายว่า รู้อารมณ์ คำว่า อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้น สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น เรียกว่าเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เสียงมีจริงเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อสิ่งที่แข็งกระทบกันก็เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าในขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น เสียงนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่จิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ ฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นอารมณ์ของจิตก็ต่อเมื่อจิตรู้สิ่งนั้น

-มานัส หรือ มนัส มีความหมายเดียวกันกับ มนะ คือ รู้อารมณ์

-หทย หรือ หทัย เป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน จิตจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า หทย หรือ หทัย เพราะมีความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน ทำให้เข้าใจได้ว่าจิตไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ภายนอก แต่ความหมายของภายใน ในที่นี้ คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นภายนอก สิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นเป็นภายนอก เพราะเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้ แม้เจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ก็ยังเป็นภายนอก เพราะสิ่งที่อยู่ภายในที่สุด คือ จิต

การศึกษาเรื่องจิต เป็นการพิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่เคยคิดเลยว่าจิตอยู่ที่ไหน ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะมีจิต แต่ไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน ในขณะเห็น จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก สีสันวรรณะที่กำลังปรากฏเป็นภายนอก จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน คือ ที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี้คือการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็หาจิตไม่พบ ไม่สามารถจะรู้ได้ว่านั่นแหละคือจิต ที่ว่ามีจิตนั้น ก็ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวันเลย ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นปรากฏภายนอก ส่วนสภาพที่กำลังเห็นนั้นเป็นจิต จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา นอกจากนั้นแล้ว ในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ทั้งหมดนี้คือความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน

-ปัณฑระ หมายถึง ขาว, บริสุทธิ์ เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต ถ้ากล่าวถึงเฉพาะจิตโดยไม่รวมเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแล้ว จิตทุกประเภท เป็นปัณฑระ คือ ขาว บริสุทธิ์ แม้แต่อกุศลจิต ก็เป็นปัณฑระ เพราะจิตเป็นสภาพมีลักษณะรู้อารมณ์เท่านั้น จึงเป็นสภาวะที่บริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นกิเลสประการต่างๆ จิตจึงเศร้าหมอง

-มนินทรีย์ จิตเป็นเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน คือ รู้แจ้งอารมณ์ ไม่มีสภาพธรรมใดที่จะเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ได้เหมือนจิตได้เลย จิตจึงเป็นมนินทรีย์

-มนายตนะ จิตเป็นมนายตนะ เพราะเป็นที่ประชุมของสภาพธรรมทั้งหลาย ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ จิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีอารมณ์ที่จิตรู้ในขณะนั้น

-วิญญาณ อีกพยัญชนะ คือ วิญญาณ เป็นอีกคำหนึ่งที่เป็นชื่อของจิต วิญญาณเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ วิญญาณคือจิตไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง ไม่มีการร่อนเร่ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตหรือวิญญาณประเภทนั้นๆ เช่น จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เกิดขึ้นรู้สี โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) เกิดขึ้นรู้เสียง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน จึงไม่ปราศจากจิตหรือวิญญาณเลยแม้แต่ขณะเดียว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก จิตเกิดเป็นอกุศล จิตเกิดเป็นกุศล ล้วนแล้วแต่เป็นวิญญาณคือจิต แต่ละชนิดๆ เกิดแล้วดับไป ไม่ปะปนกัน วิญญาณไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่มีเราแทรกอยู่ในวิญญาณและธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริง ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของธรรมใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น

-วิญญาณขันธ์ ขันธ์คือสิ่งใดที่เกิดแล้วดับไป จิตทุกขณะทุกประเภท เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

-มโนวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุ เป็นธาตุรู้ จิตบางประเภท เป็นมโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นธาตุที่รู้อารมณ์ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางใจ และจิตบางประเภทที่เป็นมโนวิญญาณธาตุนั้น ก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารใดๆ ก็มี

ทุกขณะของชีวิตคือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต และที่สำคัญ จิต ไม่ใช่เรา จิต เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต้องมีที่เกิด มีอารมณ์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล อย่างสิ้นเชิง

ส่วน กิจของจิต มีทั้งหมด ๑๔ กิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาไป
เมื่อว่าโดยชื่อของกิจ ๑๔ กิจ มีดังนี้ ครับ

ปฏิสนธิกิจ (จิตที่ทำกิจสืบต่อเฉพาะจากจุติจิตของชาติที่แล้ว)

ภวังคกิจ (จิตที่ทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้)

อาวัชชนกิจ (จิตที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์)

ทัสสนกิจ (จิตที่ทำกิจเห็น)

สวนกิจ (จิต ที่ทำกิจได้ยิน)

ฆายนกิจ (จิต ที่ทำกิจได้กลิ่น)

สายนกิจ (จิต ที่ทำกิจลิ้มรส)

ผุสสนกิจ (จิตที่ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย)

สัมปฏิจฉันนกิจ (จิตที่ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากเห็น ต่อจากได้ยิน เป็นต้น)

สันตีรณกิจ (จิตที่ทำกิจพิจารณาอารมณ์)

โวฏฐัพพนกิจ (จิตที่ทำกิจตัดสินอารมณ์ คือ กระทำทางให้ชวนะเกิดขึ้นทาง ๕ ทวาร)

ชวนกิจ (จิตที่ทำกิจชวนะ)

ตทาลัมพนกิจ (จิตที่ทำกิจรับรู้อารมณ์นั้นๆ ต่อจากชวนะ)

และจุติกิจ (จิตที่ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ คือ ตาย)

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kullawat
วันที่ 24 มิ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ