ผรุสวาจาสามารถเปลี่ยนเป็นปาณาติบาตได้ไหม

 
Tanagon
วันที่  8 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30918
อ่าน  807

เรียนท่านวิทยากรที่เคารพ

มีความสงสัยในเรื่องหนึ่งว่า หากบุคคลกระทำผรุสวาท ปรกติเวลากล่าวผรุสวาท ชาวโลกส่วนใหญ่ก็อาจจะมีการกล่าวด้วยวาจาเป็นต้นว่า "ขอท่านผู้นั้นจงฉิบหาย" บ้าง "จงไปตายเสีย" บ้าง "จงโดนชนเหล่าอื่นฆ่าเสียให้ตาย" บ้าง และย่อมกล่าวด้วยจิตโกรธ พิจารณาวธกเจตนาได้ยาก เพราะโกรธอยู่แล้ว

ก็หากใครคนใดคนหนึ่ง หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ผู้มีเวรกับคนเหล่านั้น หรือมีมิจฉาทิฏฐิ ได้ยินอย่างนั้น ก็ช่วยสงเคราะห์ กระทำความเดือดร้อนต่างๆ ให้ดั่งคำขอ หรือที่สุดจนถึงตาย หรือคนคนนั้นพอได้ยินว่าให้ไปตาย ก็ไปตายจริงๆ

กรรมที่เป็นปาณาติบาต จะตกแก่ผู้กล่าวผรุสวาจาด้วยหรือไม่ พิจารณาอย่างไร พิจารณาที่วธกเจตนาใช่ไหม หรือต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกร่วมด้วย

ขอกราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บาปไม่บาปสำคัญอยู่ที่เจตนา และ เจตนาแต่ละข้อของอกุศลกรรมบถก็แตกต่างกันครับ ปาณาติบาต คือ เจตนาฆ่าผู้อื่น ผรุสวาจา คือ เจตนาด่าว่าผู้อื่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีเจตนาด่าว่าผู้อื่น และกล่าวออกไป เช่น ขอให้เจ้าจงพินาศ มีเจตนาด่าว่า กรรมนั้นเป็นผรุสวาจา ไม่ใช่ปาณาติบาต เพราะ ไม่ได้มีเจตนาฆ่า แม้ผู้นั้นจะตาย เพราะการกระทำของมนุษย์หรือเทวดาที่ได้ยินคำนั้นแล้วฆ่าเขาก็ตาม ส่วนเทวดาและมนุษย์ที่ได้ยินคำนั้นและฆ่าผู้อื่น มีเจตนาฆ่า เทวดาและมนุษย์นั้น ทำกรรมคือปาณาติบาต เพราะมีเจตนาฆ่า ไม่เป็นผรุสวาจาเพราะไม่มีเจตนาด่า ครับ เพราะฉะนั้นควรพิจารณา เจตนา และ องค์ของกรรมบถแต่ละข้อเป็นสำคัญ

แต่หากว่าผู้นั้นมีเจตนากล่าว เพื่อให้คนอื่นได้ยินฆ่าบุคคลนั้น เช่นกล่าวคำเดียวกัน ขอให้เจ้าจงพินาศ ด้วยเจตนาให้คนอื่นได้ยินแล้วฆ่า นี่คือมีเจตนาฆ่าทางวจีทวาร หากบุคคลอื่น มีเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น ได้ยินและฆ่าบุคคลนั้น บุคคลที่กล่าวนั้น ย่อมเป็นปาณาติบาต เพราะมีเจตนาฆ่า ด้วยการกล่าวคำนั้นให้ผู้อื่นฆ่านั่นเองครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศล พอกพูนอกุศลอยู่เนืองนิตย์ ประมาทอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นทางกายทางวาจาหรือแม้ความคิดที่ไม่ดี วันหนึ่งใครจะรู้ได้ว่าอาจจะกระทำอกุศลกรรมหนักเพียงไร อาจจะถึงกับฆ่าผู้อื่นก็ได้ เพราะว่าการที่จะกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ย่อมมาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งขาดความละอายขาดความเกรงกลัว แล้วก็สามารถที่จะกระทำอกุศลกรรมได้ ซึ่งเป็นโทษกับตัวเองโดยส่วนเดียว สามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมายโดยที่ไม่มีใครทำให้เลย เพราะฉะนั้นเรื่องของอกุศลธรรมนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาทเลย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 13 มิ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ