ศีลบารมี - ศีลของอกิตติดาบส ตอนที่ 7-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]
ข้อความใน[เล่มที่ 74] คัมภีร์จริยาปิฎก หน้าที่ 50 แสดงว่า
ท้าวสักกะตรัสถาม "พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก."
ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า "ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ เมื่อราตรีหมดไป ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นเจ้าโลก ของบริโภคอันเป็นทิพย์พึงปรากฏ ผู้ขอพึงเป็นผู้มี ศีล. เมื่ออาตมาให้ของบริโภคไม่หมดสิ้นไป ครั้นให้แล้วอาตมาไม่พึงเดือดร้อน เมื่อให้จิตพึงผ่องใส ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด"
ท้าวสักกะตรัสถาม "พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก."
ท่านอกิตติดาบสกล่าวว่า "ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ ท่านไม่พึงกลับมาหาอาตมาอีก ท่านท้าวสักกะ ขอจงให้พรนี้เถิด"
นี่เป็นพรข้อสุดท้ายที่อกิตติดาบสขอ แสดงให้เห็นว่าท่านไม่ประมาทในอกุศลที่ท่านได้สะสมมาแล้ว ท้าวสักกะทรงประหลาดพระทัยเพราะทุกๆ คนก็ปรารถนาที่จะได้เห็นเทพบุตร เทพธิดา ผู้ที่เป็นชาวสวรรค์
บางท่านถึงกับเจริญกุศลในระดับความสงบ ก็เพื่อที่จะได้เห็นเทพ แต่ท่านอกิตติดาบสปรารถนาที่จะไม่ให้ท้าวสักกะทรงกลับมาหาท่านอีก ข้อความต่อไปแสดงว่า
ท้าวสักกะตรัสถาม " (คนมากมาย) ปรารถนาจะเห็นเทพบุตร หรือเทพธิดา ด้วยการประพฤติพรตเป็นอันมาก อะไรจะเป็นภัยในการเห็น (ข้าพเจ้า) ."
ท่านอกิตติดาบสกล่าวตอบว่า "ตบะพึงแตกไป (ละเมิดการปฏิญานที่จะประพฤติขัดเกลาด้วยตบะ เช่น ดาบส) เพราะเห็นสีสรรของ พวกเทพเช่นนั้น ผู้ล้วนแล้วไปด้วยความสุขสมบูรณ์ในกามนี้ เป็นภัยในการเห็น (ท่าน) ."
"ลําดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า ดีแล้วพระคุณเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ไปข้าพเจ้าจักไม่มาหาพระคุณเจ้าอีกแล้ว ทรงกราบพระดาบสนั้นเสด็จกลับไป พระมหาสัตว์อยู่ ณ การทวีปนั้นตลอดชีวิต เมื่อสิ้นอายุก็ไปบังเกิดในพรหมโลก ในครั้งนั้นพระอนุรุทธเถระเป็นท้าวสักกะ. พระโลกนาถเจ้าเป็นอกิตติดาบส"
ท่านอกิตติดาบส เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ท่านไม่ได้ต้องการเห็นสิ่งที่สามารถที่จะเป็นภัยต่อท่าน เราสามารถที่จะศึกษาจากเรื่องนี้ ว่าควรที่จะพิจารณาบารมีที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน ยังมีหนทางที่ยาวไกลที่จะไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง 4 และการดับกิเลสทั้งหลายจนหมดสิ้น ถ้าไม่ได้เข้าใจว่าบารมีทั้งหลายคืออะไรจริงๆ ก็จะยังไม่มีความมั่นคงที่จะศึกษาธรรมเพื่อมีความเข้าใจถูก เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมด้วยความจริงใจ ซึ่งเป็นสัจจบารมี ควรที่จะศึกษา และประพฤติบารมีโดยไม่มีความหวั่นไหวในโลกธรรม คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ถ้ายังคงหวั่นไหวอยู่โดยโลกธรรมนี้ นั่นคือการเริ่มต้นของการอบรมเจริญบารมีเพื่อที่ว่าบารมีนั้นจะมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ข้อความนี้ถูกแปลจาก...The Perfection of Morality - Ascetic Akitti’s sila VI