ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๘
~ พระภิกษุ ไม่มีเงินทอง ไม่มีอาคารบ้านเรือนเหมือนอย่างที่เคยมีในเพศคฤหัสถ์ มีแต่การรู้คุณของพระธรรมและอุทิศชีวิตเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสโดยการที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง
~ ความเป็นภิกษุ ต้องหมายความถึงสภาพของจิตที่สามารถจะสละความเกี่ยวข้องในเรื่องของบ้านเรือน ในเพศของคฤหัสถ์ ไม่มีการดูโทรทัศน์หรือว่าเรื่องรื่นเริงบันเทิงต่างๆ ต้องเป็นผู้สามารถตัดความผูกพันนั้นได้จริงๆ เพราะเหตุว่า ความเป็นภิกษุ ก็เป็นสภาพจิตที่สูงกว่าคฤหัสถ์
~ ก้าวแรกของการที่จะศึกษาพระธรรม ต้องจริงใจ แล้วต้องไตรตรอง คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ ลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้ ต้องค่อยๆ ศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
~ เข้าใจพระธรรม จากการฟังก็จะเป็นการสะสมให้ความเข้าใจนั้นเพิ่มขึ้น เพราะว่าใครก็ไม่สามารถทำให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ นอกจากการได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไตร่ตรองจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
~ เห็นคุณของพระธรรม ว่า อนุเคราะห์ให้ชีวิตทั้งชีวิต ซึ่งเกิดมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ได้มีโอกาสได้รู้ความจริงซึ่งยากที่จะรู้ เมื่อรู้แล้วก็เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ได้เบื่อหน่าย ไม่ได้ท้อถอย แต่รู้ว่าชีวิตควรจะดำเนินไปอย่างไร ที่ขาดไม่ได้คือการที่จะได้เข้าใจธรรม เท่าที่จะมีโอกาสตามเหตุตามปัจจัย ทำความดีทุกขณะที่สามารถจะกระทำได้ อย่างนั้นก็จะเป็นผู้ที่ได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ กับการที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ล้ำค่าเพราะสามารถที่จะทำให้สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ค่อยๆ เบาบางลงจนกระทั่งสามารถเป็นผู้ที่ไวในกุศล
~ เคยโกรธใคร จะไม่ให้อภัยคนนี้แล้ว แต่ธรรมเตือนใจ มาแล้ว ความโกรธเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นอกุศล เกิดแล้วจะสะสมสืบต่อไปทุกชาติ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น อภัยเลยทันทีหรือยัง?
~ อกุศลทั้งหลาย เป็นโทษกับตนเอง และถ้าหากมีกำลังมากขึ้นก็ทำร้าย เบียดเบียนผู้อื่น เป็นโทษแก่ผู้อื่นอีกด้วย
~ ถ้ามีแต่เพียงวิชาความรู้ซึ่งเป็นอาชีพ แต่ถ้าขาดความประพฤติการดำเนินชีวิตที่ดีถูกต้อง ความรู้ในวิชาอาชีพก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความพินาศได้
~ ความโกรธเป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตรายของตนเอง คนที่ถูกโกรธไม่เดือดร้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้น กิเลสของตนเองที่เกิดกำลังทำร้ายตนเอง และจะสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เป็นผู้โกรธต่อไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาจจะผูกโกรธเอาไว้นานด้วย และอาจจะถึงขั้นที่ไม่ยอมให้อภัย ถ้ารู้โทษของอกุศลอย่างนี้จริงๆ ขณะนั้น เมื่อเห็นโทษแล้ว สติที่ระลึกได้ก็จะทำให้ขณะนั้นปราศจากความโกรธ หรืออาจจะเกิดมีความเมตตาแทนที่จะโกรธก็ได้
~ คนที่เป็นไข้ เวลาสร่างไข้แล้วก็ย่อมกำเริบขึ้นได้อีก เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อไข้อยู่ ฉันใด ผู้ที่สะสมความโกรธไว้ เวลาที่ความโกรธไม่ปรากฏ ก็เหมือนกับเป็นคนที่ไม่โกรธ แต่เวลามีเหตุปัจจัยแล้ว ความโกรธก็ย่อมเกิด
~ บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเอง
~ จะเป็นคนนี้ในชาตินี้ อย่างไร? อย่างคนดี หรือ อย่างคนชั่ว?
~ ถ้าสามารถที่จะช่วยให้คนใดคนหนึ่ง แม้เพียงหนึ่งคน ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะช่วยให้คนนั้นออกจากสังสารวัฏฏ์
~ เห็นโทษของอกุศล ว่า โทษนั้น ไม่ได้เป็นโทษของคนอื่นทั้งสิ้น แต่เป็นของตัวเองทั้งนั้น แล้วยังจะเพิ่มโทษให้กับตนเองทุกวันหรือ?
~ ไม่มีอย่างอื่นใดทั้งสิ้นที่จะกล้าสู้กับกิเลสหรือจะทำลายกิเลสได้ นอกจากความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามความเป็นจริง ไม่ลืมกำลังของปัญญา แต่ต้องมีปัญญา ไม่ใช่ไม่มีปัญญาแล้วไปคิดถึงกำลังของปัญญา
~ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงขยายพระธรรมเทศนาให้ละเอียดโดยประการต่างๆ ก็เพื่อให้หันกลับเข้ามาที่ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
~ การฟังพระธรรม เป็นการเก็บเล็กเก็บน้อย จนกว่าจะปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ฟังพระธรรมทุกครั้ง เพื่อเข้าใจขึ้น
~ เกิดมาทั้งทีและก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วย แล้วโอกาสแห่งการฟังพระธรรมก็มาถึงด้วย ก็ควรที่จะได้ฟัง ไม่ควรผ่านไป
~ มีโลกของความรู้ กับ ความไม่รู้ แล้วจะอยู่ฝั่งไหน ถ้าอยู่ฝั่งของความรู้ก็จะต้องมีความอดทน ความเพียร ความจริงใจ ความตั้งใจมั่นที่จะฟังพระธรรมต่อไป
~ พรุ่งนี้อาจจะเป็นชาติหน้าก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรประมาทที่จะสะสมความดีและความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นต่อไป
~ การที่จะช่วยใครให้พ้นจากทุคตินั้น เป็นประโยชน์ไหม? เพราะสามารถที่จะทำให้มีความเข้าใจถูกได้ เพราะเหตุว่า ความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อยก็จะแพร่ระบาดไปได้ เพราะเข้าใจผิดเร็วมาก ในเมื่อมีอวิชชา (ความไม่รู้) อยู่แล้ว
~ ถ้าเป็นผู้ที่มีความหวังดี มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน พูดเพื่อเกื้อกูล แล้วจะกลัวอะไร? จะเกรงอะไร? ไม่มีสิ่งที่น่ากลัวเลยในเมื่อเป็นความจริง แต่ถ้ามีจิตอื่นที่หวังร้าย เบียดเบียน ไม่คิดที่จะช่วยให้คนอื่นมีความเข้าใจถูก อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
~ ถ้ามีทางใดที่ใครจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและพ้นจากความเห็นผิดที่จะติดตามไปทุกชาติ ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะถ้าเห็นผิดในชาตินี้แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นผิดติดตามไปอีกประมาณไม่ได้เลยใครก็ช่วยไม่ได้
~ พูดเพื่อประโยชน์ จะเสี่ยงอะไร ในเมื่อคำนั้นเป็นคำจริง เป็นประโยชน์ และเป็นความหวังดี เพื่อที่จะให้ระลึกได้ ให้วิเคราะห์อย่างถูกต้อง ให้สำนึกได้ ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร
~ สะสมอกุศลมากมาย ความไม่รู้นิดนึงๆ ขยายไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็หนาแน่นเหนียวแน่น เมื่อสะสมมาอย่างนี้ สิ่งที่จะขัดเกลาละคลายได้ ก็ต้องด้วยความเข้าใจพระธรรม, แม้จะมีอกุศล มาก แต่ก็ยังดีที่มีโอกาสได้สะสมปัญญา ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมอบรมไป
~ มีโอกาสที่ดีแล้วที่จะได้ฟังความลึกซึ้งของพระธรรม ซึ่งไม่ใช่ฟังเพียงแค่วันนี้วันเดียวแล้วจะเข้าใจโดยตลอดหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมไป ขณะนี้ก็ยังเป็นโอกาสของผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา ที่จะได้ฟังได้ศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป
~ เพียงหนึ่งขณะจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ที่เรียกว่าตาย ไม่นานเลย แค่หนึ่งขณะจิตนี้เกิดขึ้นแล้วดับ จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อเป็นชาติหน้าต่อไปทันที ไม่มีทรัพย์สมบัติที่เคยมีในชาตินี้ ไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเข้าใจว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้น ใครจะแสวงหาสักเท่าไหร่ก็ตาม ไม่มีทางที่จะเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย และพร้อมที่จะจาก คือ หมดสิ้นไปเมื่อไหร่ได้หมดเลย
~ ทุกคนมีกรรมเป็นของตน แม้ว่าคนอื่นจะทำกรรมที่ไม่ดีกับเรา แต่เรามีกรรมดี เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเดือดร้อนกับกรรมไม่ดีที่คนอื่นกระทำกับเรา เพราะว่าใครทำกรรมอย่างใดก็ได้อย่างนั้น แล้วเราจะไปคิดที่จะพยาบาทเบียดเบียนเขาทำไม ในเมื่อรู้ว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน แล้วความพยาบาทไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเก็บให้มีมากๆ เลย เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ในขณะที่เกิดขึ้นด้วย
~ อกุศลทั้งหลายไม่มีทางที่จะนำสิ่งที่ดีมาให้ได้เลย และก็มีความมั่นใจมั่นคงว่า กุศลทั้งหลายซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ก็ต้องนำมาซึ่งสิ่งที่ดีได้ ถ้ามีความมั่นใจอย่างนี้ก็จะทำให้ทำความดีเพิ่มขึ้น
~ แสดงความไม่จริง ไม่เบียดเบียนหรือ? ให้เขาเข้าใจผิด ไม่เบียดเบียนหรือ? เบียดเบียนประโยชน์ที่เขาจะได้รับในชาตินั้นและในชาติต่อๆ ไปด้วย
~ ถ้ามีความเห็นผิดแล้วไม่ทิ้งความเห็นผิด ความเห็นผิดนั้นก็จะตามไปทุกชาติ
~ ใครชวนให้ไปทำอย่างอื่น ไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โทษระดับไหน? โทษระดับที่ทำลายคำสอนซึ่งกว่าแต่ละคำจะให้คนอื่นได้ฟังถูกต้อง ให้หมดไป แล้วทำลายคำสอนที่คนทั้งโลกทั้งจักรวาลสมควรที่จะได้ฟังความจริง ก็กลับทำให้ความจริงนั้นหมดสิ้นไปด้วยความเข้าใจผิดของตนเอง แล้วยังกล่าวชักชวนคนอื่น (ให้เห็นผิด) ด้วย
~ ถ้าเน้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของพระธรรมซึ่งเป็นแก่นเป็นหลักของแต่ละชีวิต ก็จะทำให้แต่ละชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกต้องขึ้น.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๗
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...