ศีลบารมี - ศีลของพระโพธิสัตว์ ตอนที่ 11-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]

 
wittawat
วันที่  17 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30946
อ่าน  684

ด้วยหนทางนี้ศีลจึงบริสุทธิ์ (บริสุทธิ์ด้วยอัธยาศัย ด้วยสมาทาน ด้วยการไม่ก้าวล่วง การแก้ไขให้เป็นปรกติเมื่อมีการก้าวล่วง) ข้อความต่อไปใน[เล่มที่ 74] คัมภีร์จริยาปิฎก หน้าที่ 628 แสดงเรื่องศีลของพระโพธิสัตว์ ดังนี้

"เมื่อ (พระโพธิสัตว์) พูด ก็พูดคําพอประมาณ เป็นคําจริง (คำพูด) มีประโยชน์ (คำพูดที่) น่ารัก และกล่าวธรรมตามกาละ. ไม่โลภ ไม่พยาบาท ไม่ (มีความ) เห็นวิปริต ประกอบด้วยกัมมัสสกตญาณ มีศรัทธามั่นคงในการปฏิบัติชอบ มีความรักมั่นคงในที่ทั้งปวง (มีศรัทธาและความรักที่มั่นคงในความสัณโดษ และสมณะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชอบ) ...

เพราะไม่พูดเท็จจึงเป็นประมาณของสัตว์ทั้งหลาย (คำพูดของพระโพธิสัตว์จึง) เป็นที่เชื่อถือได้ ไว้ใจได้มีถ้อยคําควรถือได้. ท่านเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของทวยเทพ. มีปากหอม ท่านได้รักษากายสมาจาร วจีสมาจาร. ย่อมได้ลักษณะวิเศษ. และตัดวาสนาอันเป็นกิเลสได้

เพราะไม่พูดส่อเสียด (ให้ร้าย) จึงมีกายไม่แตกแยก มีบริวารไม่แตกแยก แม้ด้วยความพยายามของคนอื่น (เพราะท่านเป็นผู้ไม่มีคำพูดให้ร้าย ท่านจึงได้บริวาร และผู้ที่ติดตามที่ไม่สามารถแตกแยกได้ด้วยการรุกรานของผู้อื่น) . มีเสียงไม่แตกแยกในพระสัทธรรม (ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงไม่เป็นอื่นไปจากพระธรรมที่เป็นจริง) . มีมิตรมั่นคง เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว ดุจสะสมไว้ในระหว่างภพมากด้วยความไม่เศร้าหมอง (ราวกับว่าสัตว์เหล่านั้นได้คุ้นเคยกับพระโพธิสัตว์ในชาติก่อนๆ และพระโพธิสัตว์ก็เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับการดับกิเลส)

เพราะไม่พูดหยาบ จึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย มีปกติอยู่เป็นสุข พูดเพราะ น่ายกย่อง. เสียงของเขาประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมเกิดขึ้น.

เพราะไม่พูดเพ้อเจ้อจึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าเคารพ น่ายกย่องของสัตว์ทั้งหลาย มีถ้อยคําควรเชื่อถือได้ พูดพอประมาณ. มีศักดิ์และอานุภาพมาก. ฉลาดในการแก้ปัญหาด้วยปฏิภาณฉับพลัน (มีทักษะสูงในการตอบแก้ปัญหา) . สามารถในการแก้ปัญหามากมายของสัตว์ทั้งหลาย หลายภาษาด้วยคําคําเดียวเท่านั้นในพุทธภูมิ (เมื่อท่านบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ท่านสามารถที่จะตอบปัญหามากมายของสัตว์ทั้งหลายได้ด้วยการตอบเพียงครั้งเดียว) ...

เพราะ (พระโพธิสัตว์) เป็นผู้ไม่โลภ จึงมีลาภตามที่ต้องการ. ได้ความชอบใจในโภคะมากมาย (ได้ทรัพย์อย่างเลิศตามที่ท่านปรารถนา) . เป็นที่ยอมรับของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น. ข้าศึกครอบงําไม่ได้. ไม่ถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์พิกลพิการ. และเป็นบุคคลหาผู้เปรียบมิได้"

ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Morality - Virtue of Bodhisatta II


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ