ศีลบารมี - ศีล 2 ประเภท ตอนที่ 13-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]

 
wittawat
วันที่  18 มิ.ย. 2562
หมายเลข  30950
อ่าน  764

ศีลนี้มี ๒ อย่าง คือวาริตตศีล ๑ จาริตตศีล ๑. วาริตตศีล หมายถึง การละเว้นจากทุจริต จาริตตศีล หมายถึง ความประพฤติเป็นไปที่ถูกต้องที่บุคคลควรกระทำ เราอาจจะงดเว้นจากอกุศลและไม่กระทำผิดในศีล 5 เป็นต้น แต่ในทางของจาริตตศีล เราก็ควรที่จะพิจารณาความประพฤติของพระโพธิสัตว์ด้วย เพื่อที่ว่ากุศลธรรมจะได้อบรมเจริญขึ้นต่อไป ข้อความต่อไปใน[เล่มที่ 74] คัมภีร์จริยาปิฎก หน้า 631 แสดงว่า

"ส่วนการปฏิบัติในจาริตตศีลพึงทราบอย่างนี้. พระโพธิสัตว์กระทําอภิวาท ต้อนรับ (ลุกรับ) อัญชลีกรรม (หมายถึง การไหว้ กราบ) สามีจิกรรม (หมายถึง การกระทำอันสมควร แก่ผู้อาวุโสกว่า เช่น การหลีกทาง การพัดวี เป็นต้น) แก่กัลยาณมิตรผู้ดํารงอยู่ในฐานะครู (ฐานะของผู้ที่ควรเคารพ) ตลอดเวลา. อนึ่งทําการบํารุงกัลยาณมิตรเหล่านั้นตลอดเวลา. ทําการช่วยเหลือคนไข้ทั้งหลาย. ฟังบทสุภาษิตแล้วทําสาธุการ. พรรณาคุณของผู้มีคุณธรรม อดทนในการทําความเสียหายของคนอื่น. ระลึกถึงผู้ทําอุปการะ. อนุโมทนาบุญ. น้อมบุญของตนเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ. อยู่ในความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดกาล. เมื่อมีโทษเห็นโดยความเป็นโทษแล้ว แจ้ง (โทษของตน) แก่สหธรรมิกเช่นนั้นตามความเป็นจริง. บําเพ็ญสัมมาปฏิบัติ (ความประพฤติที่ถูกต้อง) ให้ยิ่งโดยชอบ.

อนึ่ง เมื่อควรทําสิ่งเป็นประโยชน์อันสมควรของตนแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ถึงความเป็นสหาย (หมายถึง ก็ดูแลสัตว์เหล่านั้นด้วยความเป็นสหาย) . อนึ่ง เมื่อทุกข์มีความเจ็บป่วย เป็นต้น เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร. เมื่อสัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความเสื่อมมีความเสื่อมจากญาติและสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม (หมายถึง ห้ามปรามผู้ที่ควรถูกห้ามปราม ด้วยธรรม) เพื่อให้พ้นจากอกุศลแล้วตั้งอยู่ในกุศล. ยกย่องผู้ที่ควรยกย่องโดยธรรม. กรรมใดที่ทําได้ยากอย่างยิ่ง กว้างขวางที่สุด มีอานุภาพเป็นอจินไตยอันนําประโยชน์สุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว อันพระมหาโพธิสัตว์แต่ก่อนได้ประพฤติแล้ว. โพธิสมภาร (หมายถึง การสะสมความดีเพื่อถึงการรู้แจ้งธรรม) ของพระมหาโพธิสัตว์เหล่านั้นได้ถึงความแก่กล้าโดยชอบด้วยกรรมใด. ฟังกรรมเหล่านั้นแล้วไม่หวาดสะดุ้ง มหาบุรุษแม้เหล่านั้นก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน. มีอัตภาพอบรมเพื่อความบริบูรณ์แห่งการศึกษาตามลําดับ ได้บรรลุถึงบารมีอย่างอุกฤษฏ์ในโพธิสมภารเพื่อถึงพร้อม ด้วยอานุภาพอันยอดเยี่ยมเช่นนั้น. เพราะฉะนั้น แม้เราก็พึงปฏิบัติอย่างนั้นโดยชอบในสิกขามีศีลสิกขาเป็นต้น. ไม่สละความเพียรอันมีศรัทธาเป็นบุเรจาริก (ความเพียรที่มีศรัทธานำหน้า) ด้วยคิดว่า แม้เราก็จะบําเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์ตามลําดับด้วยการปฏิบัติ แล้วจักบรรลุตามถึงบทนั้นโดยส่วนเดียว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทําความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลายโดยชอบ.

อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้ปกปิดความดี เปิดเผยโทษ. มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลี ทนต่อทุกข์ ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ปากร้าย ไม่แส่หาเรื่อง มีอินทรีย์สงบ ใจสงบปราศจากมิจฉาชีพ มีการหลอกลวง เป็นต้น ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท (รับเอา หรือถือเอาข้อประพฤติที่ควรศึกษาเพื่อการประพฤติตาม) ปรารภความเพียร มีตนมั่นคง ไม่คํานึงถึงกายและชีวิต. ไม่ยอมรับ การละบรรเทาความเพ่งในกาย และชีวิตแม้มีประมาณน้อย. ไม่ต้องพูดถึงมีประมาณมากละ. ละบรรเทาอุปกิเลส มีโกรธ และผูกโกรธ (ความอาฆาต การปองร้าย) เป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้งปวง. เป็นผู้ไม่ยินดีด้วยการบรรลุธรรมวิเศษอันมีประมาณน้อย. ไม่ท้อแท้ใจ (แต่) พยายามเพื่อบรรลุธรรมวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป. (ด้วยเหตุนี้) สมบัติตามที่ได้แล้ว (หมายถึง คุณวิเศษที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่ได้ถึงแล้ว จึง) ไม่มีส่วนแห่งความเสื่อมหรือความซบเซา.

อนึ่งมหาบุรุษเป็นผู้นําคนตาบอด บอกทางให้. ให้สัญญาณด้วยนิ้วมือแก่คนหูหนวก อนุเคราะห์ประโยชน์. คนใบ้ก็เหมือนกัน. ให้ตั่ง (เก้าอี้) ให้ยานแก่คนพิการ หรือนําไป (การนำผู้พิการไปส่งให้ถึงที่หมาย) . คนไม่มีศรัทธาพยายามให้มีศรัทธา, คนเกียจคร้านพยายามให้เกิดอุตสาหะ. คนหลงลืมพยายามให้ได้สติ. คนมีใจวุ่นวายพยายามให้ได้สมาธิ. คนมีปัญญาทรามพยายามให้มีปัญญา . คนหมกมุ่นในกามฉันทะ . พยายามบรรเทากามฉันทะ. คนหมกมุ่นในพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะและวิจิกิจฉา พระโพธิสัตว์ก็พยายามให้บรรเทานิวรณธรรม หรือเครื่องกีดขวางเหล่านี้จากบุคคลนั้น. คนไม่ปกติมีกามวิตกเป็นต้น พยายามบรรเทามิจฉาวิตกมีกามวิตกเป็นต้น. อาศัยความเป็นผู้รู้คุณที่ทําแล้วแก่สัตว์ผูัเป็นบุรพการี (ผู้ที่ทำอุปการะไว้ก่อน) จึงพูดขึ้นก่อน (คำพูดที่น่าพอใจ) พูดน่ารัก สงเคราะห์ นับถือ โดยทําการตอบแทนเช่นเดียวกันหรือยิ่งกว่า

มหาบุรุษย่อมติดตามช่วยเหลือสหายในอันตรายทั้งหลาย (หมายถึง มหาบุรุษเป็นสหายในยามที่ประสบทุกข์ภัย) . มหาบุรุษกําหนดรู้ตนและสภาพปกติของสหายเหล่านั้นๆ แล้ว อยู่รวมกับสหายเหมือนที่เคยอยู่ร่วมกันมา (หมายถึง ท่านก็อยู่ด้วยการประพฤติตัวตามที่สัตว์เหล่านั้นต้องการ) . อนึ่ง ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา. ด้วยให้ (สหายนั้น) พ้นจากอกุศลแล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล. มิใช่ให้ตั้งอยู่โดยอย่างอื่น. เพราะการตามรักษาจิตของผู้อื่นของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อความเจริญ (ขึ้นของกุศลธรรม) อย่างยิ่งเท่านั้น. (เพราะอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย) เมื่อเป็นเช่นนั้น (พระโพธิสัตว์) จึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น. ไม่ควรทะเลาะ (ด้วยคำกล่าวร้าย) . ไม่ควรให้ถึงความเป็นผู้เก้อเขิน (หรือ ไม่ควรยุยงให้ผู้อื่นทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือ) เพราะอัธยาศัยนั้น. ไม่ควรให้เกิดความรังเกียจสัตว์อื่น. ควรทักท้วงในฐานะที่ควรข่ม (เมื่อเขาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ) . เมื่อเขาอยู่ต่ํากว่าไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า. ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้. ไม่ควรคบมากเกินไป (หมายถึง คบกับผู้อื่นง่ายเกินไป) . ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ (หมายถึง ไม่ควรคบหากับผู้อื่นอย่างผิดกาลเวลา) .

แต่คบสัตว์ที่ควรคบตามสมควรแก่กาละเทศะ (ทั้งเวลาและสถานที่ ที่เหมาะควร) . ไม่ติเตียนคนที่รักหรือสรรเสริญคนที่ไม่รัก (หมายถึง บุคคลที่คนที่รักนั้นโกรธเคือง) ต่อหน้าผู้อื่น. ไม่วิสาสะกับคนที่ไม่คุ้นเคย. ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม. ไม่แสดงตัวมากไป (ไม่รับการชักชวนมากเกินไป หรือ) . ไม่รับของมากเกินไป"

จาริตตศีล มีความละเอียดลึกซึ้ง และควรที่จะพิจารณาในสิ่งที่มีจริงขณะนี้ด้วยสติ เช่น เมื่อสหายที่รักทำผิด ผู้นั้นอาจจะไม่ปกป้องเขา และตำหนิเขาโดยทันทีต่อหน้าผู้อื่น แต่เมื่อสติเกิดขึ้น ผู้นั้นจะรอคอยโอกาสที่เหมาะสมและพูดกับเขาในภายหลัง นี่แสดงให้เห็นถึงกิเลสว่าจะต้องสึกกร่อนไปครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าที่สุดคือการดับไม่กลับมาอีกเลย

ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Morality - Síla is twofold


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
p.methanawingmai
วันที่ 23 มิ.ย. 2562

สาธุค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ