ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๑๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๑๔
~ เพราะความไม่รู้ จึงทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความไม่รู้ แต่ถ้ามีความรู้ คือ ปัญญาเพิ่มขึ้น จากที่ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรผิด อะไรถูก ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ถูกที่ควร คล้อยตามปัญญาที่ ค่อยๆ เจริญขึ้น ทำให้พ้นจากความประพฤติที่จะเป็นเหตุนำความทุกข์มาให้
~ ตราบใดยังเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของพระธรรม แม้ว่าชาตินี้อาจจะได้เข้าใจธรรมขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่ถูก ต่อไปข้างหน้าก็จะไม่หลงผิด ไม่ไปทางผิด และก็รู้ว่าสามารถอบรมเจริญปัญญาต่อไปได้
~ ขณะใดที่กุศลมีกำลัง ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ แต่กำลังก็ต้องค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้น แม้แต่กำลังที่จะมาฟังธรรม มีแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดที่ไม่ได้มาฟังธรรม หรือ ไม่ได้ฟังธรรม อะไรมีกำลัง ก็คือ อกุศลมีกำลัง แล้วทั้งกุศล และ อกุศล มาจากไหน ก็ต้องมาจากการที่ค่อยๆ เกิดค่อยๆ มี เพิ่มมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
~ คนที่มีกิเลสมากๆ แล้วกิเลสลดน้อยลง หรือ สามารถดับได้อย่างเด็ดขาด ด้วยอะไร? ต้องเป็นปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก
~ เสียเวลาจริงๆ เสียประโยชน์ของตนเองจริงๆ ในขณะที่โกรธคนอื่น ตนเองเท่านั้นที่เดือดร้อนเพราะความโกรธของตนเอง
~ ทำไมต้องหวังร้ายกับคนร้ายๆ เพราะว่าคนร้ายๆ ทำสิ่งร้ายๆ เขาก็ต้องได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว ทำไมให้อกุศลจิตของเรา เกิด ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่จะทำให้กรรมของเขา (เป็นเหตุให้) ได้รับผลมากขึ้นหรือน้อยลง แต่ขณะนั้นจิตของผู้ที่เป็นอกุศลจิต ไม่รู้ตัวเลยว่า ทำให้เกิดสภาพธรรมที่ไม่ดีงามเพิ่มขึ้นกับตนเอง
~ ให้ทราบว่า กิเลส ละเอียดมาก ที่ปรากฏให้เห็นในแต่ละวัน ที่เรารู้ว่ามากมายมหาศาล ยังน้อยกว่าความเป็นจริง เหมือนกับสิ่งที่อยู่ใต้มหาสมุทร เมื่อไม่โผล่ ก็ไม่เห็น
~ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลจริงๆ ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย วันต่อๆ ไป อกุศลก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
~ ไม่ว่าจะพูดหรือทำ ล้วนเป็นไปในอำนาจของจิต ถ้าจิตใจดี มือเท้าก็เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ มีการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น กระทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นต้น แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต คิดร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มือเท้าก็ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
~ ถ้าเราเป็นเพื่อนกับใคร จะสังเกตได้เลยว่า เราคิดถึงแต่จะให้ประโยชน์กับเขา ไม่เคยคิดที่จะเบียดเบียนทำร้ายเลย นั่นคือลักษณะของเพื่อนจริงๆ
~ เรื่องของอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่มีมาก และถ้าไม่ทราบจริงๆ ว่า ตัวท่านมีอกุศลมากเพียงไรแล้ว การที่จะละกิเลสย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลธรรมหลายประการ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีอกุศลธรรมที่จะต้องละคลาย ขัดเกลาจนกว่าจะดับสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ การดำเนินชีวิตปรกติประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไปโลกหน้า แต่ว่าจะไปอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตเป็นปรกติประจำวันนี่เอง
~ กิเลสมากมาย เหนียวแน่น หนาแน่น และติดแน่นด้วยอยู่ในจิตเลย ที่จะเอาออกไปได้ไม่ใช่วิสัยของอกุศล แต่ต้องเป็นปัญญาด้วยที่มีความเข้าใจถูกต้อง และอบรมคุณความดีทุกอย่าง
~ การกล่าวถึงสิ่งที่ผิดว่าผิด การกล่าวถึงสิ่งที่ถูกว่าถูก เป็นการอนุเคราะห์คนอื่น ด้วยความเป็นมิตรด้วยความหวังดีที่จะให้เขาเข้าใจได้ถูกต้องว่าอะไรถูก อะไรผิด
~ ถ้าใครสักคนหนึ่งมีโอกาสที่จะพ้นภัยจากความไม่รู้และประพฤติผิดทั้งทางธรรมและพระวินัย แล้วเราสามารถให้เขาเข้าใจถูกได้ ไม่ต้องตกลงไปในเหว ไม่ต้องสะสมความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลายมากมายเพิ่มขึ้นอีกตลอดชาติ จะดีไหมที่เราได้มีโอกาสช่วย แม้สักคนเดียว แต่ถ้าช่วยได้มากๆ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ ที่เราจะต้องช่วยกันทุกคน
~ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูก กล้าพูดไหม ถ้าพูดสิ่งที่ถูก ผิดอย่างไร เป็นโทษอย่างไร คนฟังแล้วเข้าใจถูก เป็นประโยชน์หรือเปล่า?
~ กล้าที่จะทำผิด กิเลส (สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง) แน่ กล้าที่จะผิดต่อไป ก็เป็นกิเลส
~ ถึงเวลาที่จะให้ทุกคนที่ไม่รู้พระธรรมวินัยได้เข้าใจถูกต้องว่าอะไรถูก อะไรผิด เมื่อเป็นผู้ที่ตรง ก็จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งที่ถูกต้อง คือ สิ่งใดที่ผิดจากพระธรรมวินัย ก็ไม่ส่งเสริม ทุกคนถ้าเข้าใจถูก ก็พูดถูก ทำถูก
~ ถ้ารู้จักว่าพระภิกษุคือใคร จะไม่มีผู้ใดให้เงินแก่พระภิกษุเลย ไม่ใช่เงินอย่างเดียว ทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด ไม่ควรแก่ผู้ที่เป็นภิกษุ เพราะเหตุว่า ภิกษุคือผู้ที่สละความติดข้องในชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหมด สละทรัพย์สมบัติ สละมารดาบิดาวงศาคณาญาติ ความรื่นเริงอย่างคฤหัสถ์ สู่เพศที่สงบ
~ กิเลสของท่านมีมากมายเหลือเกิน เมื่อท่านรู้ว่า กิเลสของท่านมีมาก มีทั้งอย่างบาง อย่างเบา อย่างละเอียด อย่างแรง เป็นไปตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วว่า ปัญญา น้อยเสียเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้สะสมอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นที่จะละกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
~ เมื่อมีกาย มีวาจา มีการที่จะต้องกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ากระทำในทางที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าเพียงผิดนิดเดียว ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นอกุศล
~ กุศล กับ อกุศล ก็มีความแตกต่างกัน ถ้าใครก็ตามที่สละกุศล สละความถูกต้อง นั้น แสดงว่าเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เห็นคุณของกุศล แต่ถ้าใครก็ตามที่สละอกุศลเพื่อเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นก็เป็นเพราะการเป็นผู้เห็นคุณของกุศล เห็นคุณของความดีประการต่างๆ
~ การที่กุศลจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณจริงของกุศลธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุล จึงไม่ว่างเว้นจากโอกาสที่จะได้สะสมความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของความดีประเภทใดก็ตาม
~ พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัดวาอาราม ไม่ได้อยู่ที่สิ่งก่อสร้างใดๆ แต่อยู่ที่ความเข้าใจของพุทธบริษัท ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ธรรมก็ลบเลือนแล้ว เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ จะถามว่า พระพุทธศาสนา อันตรธาน (ลบเลือน หายไป) หรือยัง? อันตรธานจากผู้ไม่ฟังพระธรรม เมื่อไหร่ที่ไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการฟังพระธรรมต่อไป ก็ไม่มีผู้ใดเลยที่จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
~ การทำความดี ไม่มีใครรู้เลย ว่า ทุกครั้งที่ทำ เป็นการสละความไม่ดี และอยากไม่ดี น้อยลงไหม ก็มีหนทางเดียว คือ ทำดีขณะใด สละความไม่ดี ขณะนั้น
~ เกิดมาแล้ว ตายแน่นอน ไม่มีเราอีกต่อไป สิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเราด้วย เมื่อตายแล้ว อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลยที่นำติดตัวไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายก็ไม่สามารถนำเอาติดตามไปได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะสะสมสิ่งที่ไม่ดีมากยิ่งขึ้น เมื่อตายไป ก็หอบเอาสิ่งที่ไม่ดี คือ กิเลสซึ่งเปรียบเสมือนขยะ ไปด้วย
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ ทำให้ค่อยๆ มีความเห็นที่ถูกต้อง เกิดปัญญา มีความรู้ ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรหรือไม่ควร ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่า ถ้าหลงเข้าใจ ว่า สิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ดี คนนั้นก็ทำชั่ว ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เลย.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๑๓
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...