สอบถามอานาปานสติสูตร (๑๑๘)

 
gob
วันที่  30 ก.ค. 2562
หมายเลข  31080
อ่าน  1,667

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘)

[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น เฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
gob
วันที่ 30 ก.ค. 2562

คือในพระสูตรนี้ พพจ.ท่านทรงตรัสเกี่ยวกับอาณาปานสติ เสมือนให้ นั่งทำสมาธิ ดูลมหายใจ คือ อธิบายเพื่อนที่ชอบไปสำนักปฏิบัติให้ฟัง เกี่ยวกับมิฉาสมาธิ แต่เขายกพระสูตรนี้ ขึ้นมาอ้างครับว่า นั้นเป็นหนทางอย่างหนึ่งในการเจริญ อาณาปานสติ อยากปรึกษาว่า ถ้าจะอธิบาย ให้คนที่ชอบไปสำนักปฏิบัติ ได้เข้าใจ ถึงความหมายที่ลึกซึ้งของพระสูตรนี้ จะอธิบายเช่นไรครับ

คือปกติ ที่ผ่านมา ผมก็ไม่พยายามห้าม หรืออธิบายอะไรมากให้กับ ผู้ที่ชอบไปบวชเนกขัมมะ ห้าวันเจ็ดวัน ไปนั่งสมาธิสะกดจิตตัวเอง หรือเดินจงกรม เพราะผมเคยผ่านพวกนี้มามาก แม้กระทั่งเคยบวชในสายวัดป่า ที่เน้นปฏิบัติ และเคร่งครัด ในพระธรรมวินัย ในพระไตรปิฏกมากๆ

ผมคิดว่า ถ้าคนที่เขาไปแล้วเขาสบายใจ ถูกจริตถูกอัทธยาศัย ก็ถือว่าดี กว่าไปทำอย่างอื่น ถึงจะรู้ว่าสุดท้ายก็หนีไม่พ้นโลภะ ไปติดกับความสงบ เบาสบาย จมดิ่งลึกสงัด แต่อย่างน้อยระหว่างนั้น ก็ถือว่าได้ถือศีล8

แต่หลังๆ อายุมากๆ กันแล้ว เลยอยากชักนำในทางที่ถูก ให้ได้เข้าใจ สิ่งที่พพจ.ท่านทรงตรัสรู้คืออะไร ถึงผมจะพึ่งมีโอกาสได้ รับฟังคำบรรยาย ของท่านอ.สุจินต์ กับวิทยากรท่านอื่นได้ไม่ถึงปี

แต่ก็ตรงใจ กับสิ่งที่ผมคิดมาตลอด เพราะผม ก็ศึกษา และลองผิดลองถูก มายาวนาน เพียงแต่โชคดี ที่มักจะไปเจอที่ๆ ทำให้ มีความเข้าใจถูกมากขึ้นเรื่อยๆ จนปะติดปะต่อ ความเข้าใจได้ว่าคืออะไร กับประกอบเคยเห็นสภาวธรรม ในขณะ ที่ใช้ชีวิตตามปกติ จึงยิ่งเข้าใจว่า เรื่องสมาธิหลับตา นั้นเป็นมิจฉา (แต่แก้ยากสำหรับคนทั่วไป เพราะถูกฝังหัวภาพของ พพจ.ทรงนั่งสมาธิแล้วตรัสรู้)

เพียงแต่พอได้ฟังท่านอาจารย์แล้ว ได้เข้าใจลึกมากขึ้น และสามารถเรียบเรียงเรื่องราวได้ดีขึ้น ในการอธิบายให้ผู้อื่นทราบนะครับ

สรุป คืออยากรบกวน ปรึกษาครับว่า คนที่ไปสำนักปฏิบัติแล้ว ใช้พระสูตรนี้มาอ้าง ควรอธิบายเช่นไรดีครับ เบื้องต้นผมก็ได้แต่อธิบายว่า อาจต้องพิจารณาว่า พพจ.ท่านทรงตรัสกับใคร และท่านผู้นั้นมีปัญญาบารมีระดับไหน เหมือน กับ เรื่องที่พพจ.ท่านทรง บอกข้อดีของการเดินจงกรมว่ามีอะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นอีกข้อครับ ที่มีคนมาแย้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
gob
วันที่ 30 ก.ค. 2562

แต่ผมก็เคย อธิบายถึง บางพระสูตร ที่มีภิกษุจะไปขออยู่ป่า แล้วพพจ.ท่านทรงตรัสว่า จะไปทำไม แล้วท้ายสุด ท่านก็ทรงอุปมาว่า เหมือนลิง กับกระต่าย เห็นช้างลงเล่นน้ำในลำธาร แล้วจะเอาอย่างโดยไม่ดูรูปร่างตัวเอง

และผมเคย บอกว่าคนที่จะปลีกวิเวกไปอยู่ป่า ต้องระดับพระอนาคามี คือต้องผ่านบททดสอบ การอยู่ในเมืองใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีสารพัดผัสสะที่เป็นอกุศลสารพัด หรือสารพัด โลภะกิเลส เต็มไปหมด ถ้าผ่าน จนถึงระดับพระอนาคามี อย่างนั้นว่าไปอย่าง เหมือนคนที่ตั้งใจจะออกบวช ผมยังคิดว่า อย่างน้อยสุด ต้องระดับโสดาบัน เท่านั้น ถึงควรที่จะบวชได้ เหมือนเช่นหลายวัด ที่กว่าจะยอมบวชให้ ต้องไปอยู่ที่วัด ปฏิบัติเช่นเดียวกับภิกษุทุกอย่าง อย่างเร็ว ๑ ปี จนถึง ๓ ปี เรียกว่าต้องทนกับการขัดเกลาได้ถึง ที่ประชุมสงฆ์ถึงจะ ลงมติอีกทีว่าสมควรรับให้บวชไหม

ขอโทษนะครับ ถามยาวมีนอกเรื่องไปบ้าง

ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ส.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจครับว่า การบรรลุธรรม คือ การบรรลุ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสภาพธรรมที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาสามารถเกิดได้ โดยไม่เลือกสถานที่ ว่าจะต้องเป็นในป่า ในที่เงียบสงัด หรือ ในเมือง เพราะในความเป็นจริง ทั้งในป่าในที่เงียบสงัด และในเมือง ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี เห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี ลิ้มรสก็มี คิดนึกก็มี ไม่ว่าจะในป่า ในที่เงียบสงัด และ ในเมืองล้วนแล้วแต่มีสภาพธรรม ที่ปัญญาจะต้องรู้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ปัญญาที่จะถึงการบรรลุธรรม คือ จะต้องมีการปฏิบัติธรรม อะไรไปฏิบัติ ปัญญานั่นเองที่ปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริง ปัญญารู้อะไรก็รู้สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ในป่า หรือ ในเมือง ก็ไม่ต่างกัน ตรงที่ต่างก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ หากแต่ว่า หากอยู่ในสำนักปฏิบัติ ในที่เงียบสงัด มีในป่า เป็นต้น แต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะการบรรลุธรรมไม่ใช่อยู่ที่สถานที่เงียบสงัด เพราะใจไม่สงัดจากอกุศลเลย แม้อยู่ในที่เงียบแต่ใจก็หวั่นไหวไปแล้วในอกุศลที่เกิดขึ้น คิดถึงเพื่อน คิดถึงญาติ คิดเรื่องอื่นๆ ได้ แม้อยู่ในป่า เพราะฉะนั้นอกุศล ก็เกิดได้แม้อยู่ในที่เงียบสงัด ดังนั้น หากขาดปัญญาเสียแล้ว อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรม

หากขาดความเข้าใจเบื้องต้นในขั้นการฟังแล้ว ว่าธรรมคืออะไรอยู่ในขณะไหน ธรรมเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น (ปริยัติ) แล้ว ปฏิบัติหรือสติและปัญญาจะเกิดได้ไหม ไม่ว่าสถานที่ใดก็ตาม หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น แต่เมื่อมองมุมกลับ คนที่เริ่มมีความเข้าใจธรรมเบื้องต้นขั้นการฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม อยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปหาธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมและเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไมได้ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ว่าอยู่สถานที่ใด ถ้าสติและปัญญาเกิด ก็ธรรมปฏิบัติหน้าที่ สถานที่ที่สติและปัญญาเกิด (สติปัฏฐาน) ที่ที่นั้นเองก็เป็นสัปปายะของบุคคลนั้นเพราะกุศลเกิด (กุศลขั้นสติปัฏฐาน) แต่ถ้าขาดความเข้าใจเบื้องต้นแล้ว ที่ไหนจะเป็นสัปปายะได้เพราะไม่มีปัญญาที่จะเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดครับ

ดังนั้น จากข้อความในพระไตรปิฎก ในมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวว่า ไปแล้วสู่ป่า คือเมื่อไปแล้วสติและปัญญาก็เกิดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปสู่ป่าทุกรูป แต่เป็นคำกล่าวที่ว่า "ไปแล้วสู่ป่า" เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าไปที่ไหน ที่สำคัญไปแล้ว คงห้ามไมได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ต้องไป แต่ไปแล้วมีสภาพธรรมไหม ไม่พ้นจากสภาพธรรมเลย หากไม่มีความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐาน แม้ไปสู่ป่า สติจะเกิดได้ไหม เป็นไปไม่ได้ และแม้ไปในสถานที่ชุมชน ถ้าความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานยังไม่มั่นคง สติจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ ดังนั้น ประการที่สำคัญที่สุดคือปัญญาที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกที่ลิ้งนี้ครับ..

ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง [ปฐมสัปปายสูตร]

ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง [ทุติยสัปปายสูตร]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 1 ส.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความจดจ้องต้องการ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ประการ ไม่ใช่เพียงประการเดียวเท่านั้นการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ข้อสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ หรือ เลือกเจาะจงเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรม แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกายทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ตั้งให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ลมหายใจ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วย เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะ ของสิ่งที่กำลังปรากฏคือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลมเริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง คือ เป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ (คือเป็นรูปธรรม) เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่า เป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

ขอเชิญศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่ หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

การเดินอานาปานสติเป็นวิปัสสนาหรือไม่

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 5 ก.ย. 2562

อานาปานสติเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เช่น พระพุทธเจ้า และ ท่านพระสารีบุตร เป็นต้น คำว่า สติ หมายถึง ระลึกเป็นไปในกุศล ถ้าไม่เข้าใจไปทำก็ผิด แล้วก็ไม่รู้ว่าผิดเพราะอยากสงบเป็นโลภะเป็นอกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ