สภาวะที่เกิดมันคืออะไร ตอนนั่งทำสมาธิ

 
Ubonrat
วันที่  5 ก.ย. 2562
หมายเลข  31150
อ่าน  2,419

รบกวนเรียนถาม 2 เรื่องนะคะ

1. ตนเองนั่งสมาธิใช้กำหนดการหายใจเข้าออก เมื่อก่อนใช้พุทโธ ฝึกมานานพอควรแต่ไม่ต่อเนื่อง ทำบ้างหยุดบ้าง จนเมื่อปลายเดือน ส.ค. 62 ได้มีโอกาสเข้าคอร์สปฏิบัติ ได้มีอาจารย์มาสอนเรื่องการปฏิบัติให้เกิดสภาวะรู้ ตนเองก็ทำตามโดยใช้การกำหนดการหายใจเข้าออก ดูการเคลื่อนไหวของหน้าอกตามจังหวะการหายใจ ดูกาย ดูจิต สักพักรู้สึกสมาธิตั้งมั่น แล้วร่างกายก็รู้สึกซ่าร้อนวาบไปทั้งตัว ตาที่หลับอยู่รู้สึกถึงการกระพริบถี่ๆ รู้สึกหัวใจเต้นแรงขึ้น รู้สึกที่ศีรษะมีอาการเต้นตุ๊บๆ ตามจังหวะของหัวใจ อาการเหล่านี้คืออะไร พอเข้าไปดูอาการเหลานี้ก็จะหายไป

2. ตอนนั่งทำสมาธิ จะใช้การกำหนดการหายใจเป็นหลัก ในช่วงแรกจะทำสมถะ สักครู่จึงเริ่มพิจารณา กาย โดยพิจารณาการนั่งอยู่ของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจนถึงขา บางครั้งอยากพิจารณา ดูจิต แต่ไม่ทราบว่าจะดูอย่างไร บางครั้งมีความคิดก็พิจารณาแค่รู้ ว่าคิด พอรู้ชั่วแวบเดียวความคิดหายไป การทำแบบนี้ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ก.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การนั่งสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ปฏิบัติผิด ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นได้เลย เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่รู้ความจริง จึงมีความประพฤติปฏิบัติที่ผิดตามความเห็นที่ผิด ปฏิบัติธรรมนั้น สำคัญคือความเข้าใจ และเป็นชีวิตปกติ

จะเห็นได้จริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิดให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน
สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป ไม่มีใครบังคับให้สมาธิเกิดหรือไม่เกิดได้ เพราะทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ไม่ปราศจากสมาธิเลย
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นไปกับอกุศลแล้ว เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ถ้าเป็นไปกับกุศล เป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นสัมมาสมาธิ

พอฟังใครบอกให้ทำ ก็จะทำตาม ให้ดูลมหายใจ อานาปานสติ ลืม แม้คำว่า อนัตตา (บังคับไม่ได้) คำว่าสติ คำว่า ปัญญา และ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แม้สติ และ ปัญญาก็เป็นธรรม บังคับไม่ได้ พยายามไปตามดู จดจ้องที่ลมหายใจในชีวิตประจำวัน ก็เป็นการจดจ้องด้วยกิเลสโลภะ ความต้องการ นี้คือ วิกฤตพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง การอ่านพระสูตร หรือ ฟังจากใคร ต้องแยบคาย ไม่ลืมอนัตตา เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูก คือ ฟังพระธรรมเข้าใจสภาพธรรม ไม่ต้องไปตามจดจ้อง สติและปัญญาเกิดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น นี่คือ ไม่ถูกหลอกด้วยโลภะและเข้าใจอนัตตา

ท่าน อ.สุจินต์..ทุกคนมีลมหายใจ แต่การที่จะรู้ที่ลมหายใจด้วยโลภะได้ไหม ตามความเป็นจริง ลองย้อนคิดซิว่า ลมหายใจมี เป็นที่ตั้งของโลภะได้ไหม ตามปกติ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ลมหายใจก็คือโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสในช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะอื่นที่กระทบส่วนอื่นของร่างกาย และมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นอะไรที่คิดว่า เมื่อจดจ้องที่ลมหายใจแล้ว จิตจะสงบ ลมอื่นได้ไหม

เพราะฉะนั้น ข้อที่ควรระลึกก็คือว่า เมื่อลมหายใจเป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เป็นที่ตั้งของความพอใจได้หรือไม่ได้ ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตระลึกที่ลมหายใจโดยปราศจากปัญญา แต่พอใจให้รู้อยู่ที่ลมหายใจ ขณะนั้นจะเป็นโลภะหรือจะเป็นความสงบ เพราะเหตุว่ามีความต้องการให้จิตอยู่ที่นั่น ลักษณะของของการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เป็นลักษณะของสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอารมณ์ใดก็ตามย่อมเป็นที่ตั้งของโลภะได้ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากปัญญาที่จะรู้สภาพของจิตขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเพราะเหตุใด เหตุนี่สำคัญมาก ถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง สติปัฏฐานและปัญญาขั้นวิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ ถ้าปราศจาเหตุที่ถูกต้อง ความสงบและปัญญาขั้นสมถะก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทุกคนที่ไม่รู้อะไรเลยก็ไปนั่งจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้วจิตก็จะสงบ จะไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเลยว่า การอบรมเจริญภาวนาสามารถกระทำได้ด้วยความไม่รู้

เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม ซึ่งไม่รู้อะไร เพียงแต่รู้ว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจ รู้เพียงแค่ให้จดจ้องที่ลมหายใจ ไม่สามารถจะช่วยให้จิตสงบได้ รู้อะไรคะ เพียงแต่ให้จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญาอะไรเลย ไม่รู้ด้วยว่า ทำไม เหตุอะไรจึงควรระลึกที่ลมหายใจ เมื่อไม่มีเหตุที่เป็นปัจจัยให้สงบ ความสงบก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าเพียงแต่ไม่รู้ และได้รับคำสั่งมาให้จดจ้องที่ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ความรู้อะไรเลย

ขออนุโมทนา

ศึกษาธรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.dhammahome.com

โดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด พระบารมีทั้งหมดที่พระองค์ได้สะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อตั้งใจว่าจะศึกษาพระธรรม จริงๆ ก็ต้องตั้งต้นอย่างนี้ เป็นเหมือนผู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อที่จะได้รู้ได้เข้าใจถูก เห็นถูก จากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่เริ่มฟังพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจถูก เห็นถูกได้เลย

การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ เช่นการนั่งสมาธิ เป็นต้น ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ได้ทำให้มีความเข้าใจถูกอะไรเลยแม้แต่น้อย พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงจะเข้าใจพระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือ จะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว สิ่งที่ผิด ก็ไม่ต้องทำต่อ แต่ควรรีบทิ้งทันทีแล้วตั้งต้นใหม่ ด้วยการตั้งใจฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พัชรีรัศม์
วันที่ 5 ก.ย. 2562

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Ubonrat
วันที่ 6 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kullawat
วันที่ 30 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 7 เม.ย. 2564

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ