เป็นคำถาม ที่ตอบไม่ยาก

 
khampan.a
วันที่  20 ก.ย. 2562
หมายเลข  31172
อ่าน  1,696

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ประมวลสาระสำคัญจากการสนทนาพิเศษ

เรื่อง

"พระพุทธศาสนา กับ สังคมไทย [ตอนที่ ๒]"

ที่บ้านคุณทักษพล-คุณจริยา เจียมวิจิตร

วันศุกร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๒


(ทีมงานอาสาสมัครบันทึกวีดีโอการสนทนาพิเศษในวันนี้)



~ พระธรรมวินัย เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพระมหากรุณาให้คนอื่นได้เข้าใจสิ่งซึ่งเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจเลยถ้าเขาไม่ได้ฟังคำของพระองค์ เพราะฉะนั้น เป็นคำที่หายาก ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้ฟัง เพราะถึงแม้ว่าทุกวันนี้ก็มีคำของพระองค์ที่มีคนกล่าวว่าอยู่ในตำรา ตำราพูดเรื่องอะไร ไม่ใช่ว่าตำราไม่ได้พูดถึงเรื่องอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าตำราไหน แต่ตำราที่เป็นพระธรรมวินัยคือพระไตรปิฎก ประมวลมาจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่ชาวโลก ๔๕ พรรษา มีวิชาไหนบ้างที่ต้องใช้เวลา ๔๕ ปี แล้วก็ไม่มีวันจบด้วย เพราะเหตุว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่กว่าจะได้รู้ความจริง คือ การตรัสรู้อริยสัจจธรรมซึ่งไม่มีการที่จะเปลี่ยนแปลงเลย พระองค์ทรงเป็นผู้มีปัญญาอย่างยิ่งยังต้องใช้เวลานานเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนที่ได้ฟังคำของพระองค์แต่ละคำ ก็ต้องรู้ว่าคำนั้นเป็นคำที่ไม่ง่ายที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง แต่ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณ ว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้มาก่อนเลย แต่มีโอกาสได้ฟังและเมื่อพิจารณาแล้วก็รู้ว่าเป็นคำที่มีค่าสูงที่สุด

~ ถามใครว่าเดี๋ยวนี้ มีอะไรบ้าง เขาก็จะตอบคำที่ชาวโลกพูดกันแต่ไม่ใช่คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษา แสดงให้เห็นถึงความละเอียด ความยาก ความลึกซึ้งที่ต้องใช้เวลานาน ต้องไตร่ตรอง เมื่อไตร่ตรองแล้ว กว่าจะเข้าใจแต่ละคำจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่าทั้งสามปิฎกเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้และทุกกาลสมัย ไม่เคยขาดสิ่งที่มี แต่ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่มี นั้น เป็นอะไร ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่า พระภิกษุไม่มีกิจที่จะเป็นคฤหัสถ์ ไม่มีการทำหน้าที่ของคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะฉะนั้น กิจของพระภิกษุต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย คือ ศึกษาธรรม (คันถธุระ) เพราะถ้าไม่ศึกษา ใครจะเข้าใจธรรม ต่างคนก็ต่างคิด เพราะฉะนั้น จึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ เมื่อเข้าใจแล้วจึงสามารถที่จะอบรมประพฤติปฏิบัติตามได้ เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกอย่างต้องสอดคล้องกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทจริงๆ พระภิกษุทุกรูป ต้องทำตามพระธรรมวินัย

~ พระภิกษุต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส ออกจากกิเลส แล้วการที่พระภิกษุไปสงเคราะห์คฤหัสถ์เหมือนอย่างที่คฤหัสถ์ทำ เป็นกิเลสหรือว่าเป็นการกระทำที่ออกจากกิเลส? เพราะว่าชาวบ้านมีหน้าที่ (ในการสงเคราะห์คฤหัสถ์ด้วยกัน) อยู่แล้ว แล้วทำไมจะต้องให้พระภิกษุมาสงเคราะห์อย่างตน พระภิกษุ มีทางเดียวที่จะสงเคราะห์คฤหัสถ์ ก็คือ ด้วยพระธรรมวินัย นี้เป็นจุดใหญ่ของการเป็นพระภิกษุ เป็นพระภิกษุทำไม? แล้วคฤหัสถ์ทะนุบำรุงพระภิกษุเพื่ออะไร? เพื่อให้ศึกษาธรรม เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น จะให้พระภิกษุมาทำหน้าที่อย่างคฤหัสถ์ ก็เป็นคฤหัสถ์ ไม่ยากเลย ภิกษุใดที่มีจิตที่จะสงเคราะห์คฤหัสถ์อย่างคฤหัสถ์ ก็ลาสิกขาบทแล้วก็มาสงเคราะห์เต็มที่ได้ ไม่มีใครว่ากล่าวได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ทำถูกต้องในเพศของคฤหัสถ์ เพราะในเพศของพระภิกษุจะไม่ทำอย่างคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ก็ทำหน้าที่ของคฤหัสถ์ เพราะว่าคฤหัสถ์ มีมากกว่าพระภิกษุ เพราะฉะนั้น เมื่อมีคฤหัสถ์มากกว่าพระภิกษุ คฤหัสถ์นี้เองก็สงเคราะห์กันได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องรบกวนพระภิกษุเลย

~ ช่วยเหลือคฤหัสถ์ เป็นกิจหน้าที่ของชาวบ้านต่างหากที่เขาช่วยกันอยู่แล้ว การที่พระภิกษุไปทำกิจของชาวบ้าน เป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยหรือเปล่า?


~ ในยามข้าวยากหมากแพง ในยามมีภัยพิบัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตที่นั่น ชาวบ้านก็เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าว่าไปเบียดเบียนชาวบ้าน แต่หารู้ไม่ว่าความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการเบียดเบียนใดๆ เลยทั้งสิ้น แม้ในครั้งนั้นก็ยังมีผู้เข้าใจผิด เพราะว่าชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้อง ก็มีมาก

~ ยินดีที่จะรับอะไรจากพระภิกษุ? รับพระธรรมคำสอน ไม่ใช่อย่างอื่นเลย แล้วชาวบ้านที่กำลังทุกข์ยาก ยินดีที่จะได้รับพระธรรมหรือไม่? ต้องการพระธรรมหรือต้องการวัตถุ?

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเขา ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ชาตินี้ก็ทุกข์ยากแล้ว แล้วอย่างไรที่จะไม่ทุกข์ยากอีกต่อไปในอนาคตหรือในชาติต่อไป ถ้าเป็นไปได้ ก็คือ ต้องได้ฟังได้ศึกษาคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งให้ความจริง ว่า อะไรจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายไม่ทุกข์ร้อน

~ แม้กำลังทุกข์ยาก แต่เข้าใจถึงเหตุและผลว่าเขาควรจะประพฤติอย่างไร อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะให้พระภิกษุผิดพระวินัยไปทำอย่างชาวบ้านทำอาหารแจกสงเคราะห์คฤหัสถ์ คิดแต่จะสงเคราะห์คฤหัสถ์ แล้วกิจของพระศาสนาคิดถึงหรือเปล่า ว่าบวชเพื่ออะไร?

~ รู้ไหมว่าพระภิกษุ คือใคร ถ้ารู้แล้ว จะให้พระภิกษุมาทำหน้าที่อย่างคฤหัสถ์หรือ ถ้าจะทำหน้าที่อย่างคฤหัสถ์ ก็ทำได้เมื่อภิกษุรูปนั้นลาสิกขาบท ออกมาเป็นคฤหัสถ์

~ พระภิกษุ ไม่ใช่ว่าบวชแล้วอยู่เฉยๆ แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ก็อยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาจริงๆ ว่าคนนั้นเป็นพระภิกษุหรือ หรือว่าเป็นผู้ที่บวชแล้วอยู่เฉยๆ ก็ไม่ใช่พระภิกษุแน่นอน

~ ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม สรรเสริญว่าถูกต้องอย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร ที่เขาคิด กับ คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว อะไรถูก ยังคิดว่าตัวเองถูกหรือ ก็แปลว่าเป็นความคิดที่สั้นไม่ลึกซึ้ง ไม่รู้ถึงโทษภัยเลยว่าแท้ที่จริงแล้วการกระทำอย่างนั้น (คือ การสงเคราะห์คฤหัสถ์อย่างที่คฤหัสถ์ทำกัน) เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่า พระภิกษุในพระธรรมวินัย จะต้องประพฤติตามพระธรรมวินัย จึงเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย

~ ผิดพระวินัยแล้วจะรักษาพระธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่สามารถดำรงเพศของพระภิกษุได้ ก็ไม่ควรทำให้พระธรรมวินัยเศร้าหมองโดยการละเมิดพระธรรมวินัย ถ้าพระภิกษุมุ่งจะสงเคราะห์คฤหัสถ์ที่เป็นสาธารณสงเคราะห์ นั่น ไม่ใช่กิจของพระภิกษุ ก็ลาสิกขาบท แล้วก็สงเคราะห์ได้ ไม่ผิดอะไรเลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคฤหัสถ์ แต่ว่าสำหรับบรรพชิต ถ้าทำอย่างนั้นดีหรือ? แล้วใครจะศึกษาพระธรรมวินัย?

~ ทำไมคฤหัสถ์ไหว้พระภิกษุ? ถ้าพระภิกษุเข้าห้างสรรพสินค้าซื้อของ จะไหว้ไหม?

~ เป็นพระภิกษุ เพื่อศึกษาพระธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส นี่คือ จุดประสงค์ของการบวช เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าไม่บวชก็ฟังธรรม ขัดเกลากิเลสได้ แต่ที่บวช ก็เพราะเหตุว่ามีความมั่นคงที่จะไม่ประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปใช่ไหม จึงขอบรรพชาอุปสมบท (บวช) เพื่อที่จะเป็นคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ ชาวพุทธ หมายความว่าอะไร? หมายความว่า เป็นผู้ที่เห็นค่าของพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น จึงทำทุกอย่างเพื่อที่จะดำรงรักษาให้รุ่งเรือง แต่ว่า ถ้าไม่เข้าใจเลยว่าทำอย่างไรพระพุทธศาสนาจะรุ่งเรือง ก็เป็นการทำลายแทนที่จะเป็นการทะนุบำรุงให้รุ่งเรือง เพราะฉะนั้น ต้องรู้จริงๆ ว่า ไม่มีอะไรประเสริฐเท่าพระธรรมวินัย คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ เป็นพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าจะไม่ทำอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไป แต่จะต้องทำตามพระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ เพราะเหตุว่าเมื่อได้เข้าใจพระธรรม มีหรือที่จะไม่เห็นค่าของพระวินัยแต่ละข้อว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้ายังคงปล่อยปละละเลย แม้ทีละเล็กทีละน้อย นั่นแหละคือตัวกิเลสที่ไม่มีทางจะขัดเกลาออกไปได้

~ ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้จักพระธรรมวินัย และ พระภิกษุก็ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ใครจะรู้ เพราะฉะนั้น หน้าที่สำคัญของผู้ที่เป็นคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และไม่ใช่เพียงศึกษา แต่ต้องประพฤติปฏิบัติตามและกล่าวคำของพระองค์

~ พระภิกษุที่ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ดีไหม? ถูกต้องหรือเปล่า? ก็ต้องตอบ ซึ่งตอบไม่ยากเลย

~ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม จะรู้ไหมว่าอะไรถูก อะไรผิด? ไม่มีวันรู้เลย แล้วใครเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม? คือ ผู้ที่เห็นประโยชน์ แล้วพระภิกษุต้องศึกษาหรือไม่? ยิ่งสมควรจะต้องศึกษา เพราะฉะนั้น พระภิกษุเป็นผู้รู้ จึงได้บอกคฤหัสถ์ว่าอะไรถูก อะไรควร อะไรผิด มิฉะนั้นคฤหัสถ์ ก็ไม่รู้ แต่เมื่อพระภิกษุไม่ได้บอกคฤหัสถ์ (เพราะพระภิกษุไม่ได้ศึกษาพระธรรม) แล้วการที่คฤหัสถ์ จะรู้ได้ ก็ต้องจากพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัย สำหรับคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคนที่จะต้องรู้

~ ต้องถามผู้ที่เป็นพระภิกษุว่าเป็นพระภิกษุทำไม อยากรู้เหตุผลจริงๆ เพราะว่า ถ้าจะทำกิจของคฤหัสถ์แล้วจะเป็นพระภิกษุทำไม ทำไมถึงเป็นภิกษุ ทำไมไม่เป็นคฤหัสถ์ในเมื่อชอบกิจของคฤหัสถ์ จะทำกิจของคฤหัสถ์

~ ในครั้งพุทธกาล มีใครบ้างที่ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท (บวช) ว่า จะไปเรี่ยไร จะไปสงเคราะห์ชาวบ้านในลักษณะของคฤหัสถ์? ไม่มีเลย

~ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่คิดว่าผู้นั้นเข้าใจถูก ก็ไปกันใหญ่ หมายความว่า แก้ ก็ผิดยิ่งขึ้น จากผิดเดิมก็ผิดซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า ผู้นั้นจะต้องเข้าใจจริงๆ ในพระธรรมวินัย ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เพราะเหตุว่า คฤหัสถ์ที่ศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจถูกต้อง กับ พระภิกษุที่มีชื่อเสียงแต่ว่าไม่ได้เข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว จะเชื่อใคร?

~ ชักชวนกันบวช ดีไหม? ถูกหรือผิด? ต้องตรงทุกคำ เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครบอกว่าจะบวช ชื่นชมไหม? เพราะฉะนั้น เข้าใจธรรมหรือเปล่า? ไม่เข้าใจแล้ว บวชทำไม?

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Nataya
วันที่ 20 ก.ย. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 20 ก.ย. 2562

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มกร
วันที่ 20 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 20 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
abhirak
วันที่ 21 ก.ย. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 21 ก.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับอาจารย์คำปั่น และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน

แต่ละวรรค แต่ละประโยค คม ชัด ลึก

ชาวบ้านเดือดร้อน ก็ยินดีรับวัตถุจากคฤหัสถ์ และยินดีรับพระธรรมจากพระภิกษุ เป็นต้น ดังนั้น พระภิกษุจึงช่วยเหลือชาวบ้าน โดยให้ความเข้าใจพระธรรม จึงจะสมควร....น้อ อาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 21 ก.ย. 2562

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Selaruck
วันที่ 21 ก.ย. 2562

กราบแทบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่แสดงธรรมที่ตรงยิ่ง ชัดแจ้งยิ่ง

กราบขอบคุณและอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nattawan
วันที่ 22 ก.ย. 2562

ไม่มีอะไรประเสริฐเท่าพระธรรมวินัย คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ